โรคงูสวัด (Herpes zoster) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่บริเวณผิวหนังชนิดหนึ่ง ทำให้มีผื่นตุ่มขึ้นเป็นแนวยาวๆ บริเวณที่ขึ้นกันบ่อย ก็คือ แนวบั้นเอวหรือแนวชายโครง
โรคงูสวัด (Herpes zoster) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่บริเวณผิวหนังชนิดหนึ่ง ทำให้มีผื่นตุ่มขึ้นเป็นแนวยาวๆ บริเวณที่ขึ้นกันบ่อย ก็คือ แนวบั้นเอวหรือแนวชายโครง (จากสะดือถึงกลางหลัง) บางคนอาจขึ้นที่ใบหน้า แขนหรือขาก็ได้ แต่จะมีลักษณะการขึ้นคล้ายกันคือจะขึ้นเพียงซีกหนึ่งซีกใดของร่างกายเท่านั้น เช่น ซีกขวาหรือไม่ก็ซีกซ้าย โรคนี้มักไม่มีอันตรายร้ายแรง และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่
แต่บางรายหลังแผลหายแล้วอาจมีอาการปวดประสาทนานเป็นแรมปี หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้ และจากความเชื่อที่ว่า เป็นรอบเอวแล้วตาย นั้นจริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะที่เสียชีวิตอาจเป็นเพราะร่างกายอ่อนแอ ขาดภูมิต้านทานโรค การรู้จักรักษาร่างกายให้แข็งแรง เสริมภูมิต้านทานโรคให้สมบูรณ์อยู่เสมอ จึงมีความสำคัญในการป้องกันโรคและระงับความรุนแรงของโรค
สาเหตุของโรคงูสวัด
เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า "เชื้อวีแซดวี (varicella-zoster virus)" ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ครั้งแรก (ซึ่งมักเกิดขึ้นในวัยเด็ก) ส่วนใหญ่จะแสดงอาการของโรคอีสุกอีใส ส่วนน้อยจะไม่มีอาการแสดงให้ปรากฏหลังจากหายจากโรคอีสุกอีใสไปแล้ว เชื้อจะหลบซ่อนอยู่บริเวณปมประสาทใต้ผิวหนัง และแฝงตัวอย่างสงบเป็นเวลานานหลายปีถึงสิบๆ ปี โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ
เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น อายุมาก ถูกกระทบกระเทือน มีความเครียด ทำงานหนัก พักผ่อนไม่พอ ติดเชื้อเอชไอวี เป็นมะเร็ง ใช้ยาต้านมะเร็งหรือยา กดภูมิคุ้มกัน เชื้อที่แฝงตัวอยู่นั้นก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน และกระจายในปมประสาท ทำให้เส้นประสาทอักเสบ (เกิดอาการปวดตามแนวเส้นประสาท) เชื้อจะกระจายไปตามเส้นประสาทที่อักเสบ และปล่อยเชื้อไวรัสออกมาที่ผิวหนัง เกิดเป็นตุ่มใสเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท ที่เป็นโรคงูสวัดจึงมักมีประวัติเคยเป็นอีสุกอีใสในวัยเด็ก หรือเคยมีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มาก่อน โดยไม่มีอาการแสดง ซึ่งสามารถตรวจพบสารภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ในเลือด
อาการของโรคงูสวัด
ก่อนมีผื่นขึ้น 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแปลบๆ บริเวณเส้นประสาทที่เป็นงูสวัด อาจมีอาการคันและแสบ ร้อน (คล้ายถูกไฟไหม้) เป็นพักๆ หรือตลอดเวลาบริเวณ พบบริเวณชายโครง ใบหน้า แขนหรือเพียงข้างเดียว อาจทำให้คิดว่าเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อ ถ้าปวด ที่ชายโครง ก็อาจทำให้คิดว่าเป็นโรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วในไต ไส้ติ่งอักเสบได้ ถ้าปวดที่ใบหน้าข้างเดียว อาจทำให้คิดว่าเป็นไมเกรน หรือโรคทางสมองได้ บางรายอาจมีอาการไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ ท้องเดินร่วมด้วย
ส่วนมากมีผื่นขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแล้วกลายเป็นตุ่มใสเรียงตามแนวผิวหนังที่เลี้ยง โดยเส้นประสาทที่อักเสบ ตุ่มน้ำมักทยอยขึ้นใน 4 วันแรก แล้วค่อยๆ แห้งตกสะเก็ดใน 7-10 วัน เมื่อตกสะเก็ดและหลุดออกไป อาการปวดจะทุเลาไป รวมแล้วจะมีผื่นอยู่นาน 10-15 วัน ผู้ที่มีอายุมากอาจ มีอาการนานเป็นเดือนกว่าจะหายเป็นปกติ
โรคงูสวัด รักษาให้หายได้ด้วย สมุนไพรไทย
-กระชับ (Xanthium strumarium L.) ใช้ส่วนของใบเป็นยาแก้พิษงูสวัด (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
-กระแตไต่ไม้ (Drynaria quercifolia (L.) J. Sm.) ใช้เหง้านำมาฝนทาแก้งูสวัด
-กระพังโหม (Paederia foetida L.) มีข้อมูลระบุว่า สมุนไพรชนิดนี้ใช้รักษาโรคงูสวัดได้แต่ไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้เอาไว้ (แต่คาดว่าน่าจะใช้ทั้งต้นและใบ)
-ก้างปลาเครือ (Phyllanthus reticulatus Poir.) รากมีสรรพคุณเป็นยาขับพิษ ใช้ทาแก้งูสวัดได้
-กำจัดดอย (Zanthoxylum acanthopodium DC.) ตามรายงานระบุว่า นอกจากจะใช้เมล็ดกำจัดดอยเป็นยาแก้อีสุกอีใสได้แล้ว ยังใช้รักษาโรคเริมและงูสวัดได้ด้วย
-เขยตาย (Glycosmis pentaphylla (Retz.) DC.) ใช้ใบเขยตายนำมาขยี้หรือบดผสมกับเหล้าขาวหรือแอลกอฮอล์หรือน้ำมะนาว ใช้เป็นยาทารักษางูสวัด
-จักรนารายณ์ (Gynura divaricata (L.) DC.) ด้วยการนำใบมาตำกับน้ำตาลทรายแดง เพื่อให้จับตัวกันเป็นก้อน ๆ และไม่หลุดได้ง่าย แล้วนำมาพอกตรงรอยแผลทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที หรือจะนำใบมาคั้นเอาแต่น้ำใช้ทาสด ๆ หรือใช้ตำพอกเลยก็ได้
-ชุมเห็ดไทย (Senna tora (L.) Roxb.) ให้ใช้รากสด ๆ นำมาบดผสมกับน้ำมะนาวใช้รักษางูสวัด
-ตะขาบหิน (Homalocladium platycladum (F.Muell.) L.H.Bailey) ใช้ทั้งต้นเป็นยาภายนอกแก้โรคงูสวัด
-ตำลึง (Coccinia grandis (L.) Voigt) ให้ใช้ใบตำลึงสด ๆ ประมาณ 2 กำมือ ล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาผสมกับพิมเสนหรือดินสอพอง 1 ใน 4 ส่วน ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นงูสวัด
-เทียนบ้าน (Impatiens balsamina L.) ให้ใช้ต้นสด นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยา ส่วนกากที่เหลือให้เอามาพอกบริเวณที่เป็น
-น้อยหน่า (Annona squamosa L.) ผลแห้งมีสรรพคุณเป็นยาแก้งูสวัด (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
-นางแย้ม (Clerodendrum chinense (Osbeck) Mabb.) ให้นำรากมาฝนกับน้ำปูนใส ใช้เป็นยาทารักษางูสวัด
-น้ำเต้า (Lagenaria siceraria (Molina) Standl.) ให้ใช้ใบน้ำเต้าสด ๆ นำมาโขลกผสมกับเหล้าขาว หรือโขลกเพื่อคั้นเอาแต่น้ำ หรือใช้ใบสดผสมกับขี้วัวแห้งหรือขี้วัวสด โดยโขลกให้เข้ากันจนได้ที่ แล้วผสมกับเหล้าขาว 40 ดีกรี (การผสมขี้วัวเข้าใจว่าขี้วัวมีแอมโมเนีย จึงทำให้เย็นและช่วยถอนพิษอักเสบได้ดีกว่าตัวยาอื่น) ใช้เป็นยาทาถอนพิษร้อน ดับพิษ แก้อาการฟกช้ำบวม พุพอง แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน รักษาอาการพองตามผิวหนังตามตัว แก้เริม รวมทั้งงูสวัดได้ดี
-น้ำนมราชสีห์เล็ก (Euphorbia thymifolia L.) ใช้ส่วนของต้นเป็นยาแก้งูสวัดขึ้นรอบเอว ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 1 กำมือ และกระเทียม 1 หัว นำมาตำให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำสุดที่เย็นแล้ว ใช้ทาบริเวณที่เป็นตุ่ม
-ปลาไหลเผือก (Eurycoma longifolia Jack) ให้ใช้ยาผง (จากปลาไหลเผือก) ผสมกับน้ำมะนาว แล้วนำมาใช้ทารอบแผลอย่างช้า ๆ
-ผักเชียงดา (Gymnema inodorum (Lour.) Decne.) ใช้ใบสดตำพอกบริเวณที่เป็นงูสวัด
-ผักบุ้งทะเล (Ipomoea pes-caprae (L.) R. Br.) ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยกระจายพิษ แก้พิษฝีบวม ฝีหนองบวมแดงอักเสบ รวมทั้งช่วยแก้งูสวัด (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
-ผักเป็ดน้ำ (Alternanthera philoxeroides (Mart.) Griseb.) ใช้ทั้งต้นสด ๆ นำมาตำพอกบริเวณที่เป็นงูสวัด
-ผักเสี้ยน (Cleome gynandra L.) ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้งูสวัด (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
-พญาท้าวเอว (Oxyceros bispinosus (Griff.) Tirveng.) ด้วยการใช้ลำต้นนำมาฝนกับน้ำปูนใสกินเป็นยาแก้งูสวัด
-พลูคาว (Houttuynia cordata Thunb.) จากข้อมูลระบุว่า พลูคาวมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสชนิดต่าง ๆ เช่น ไข้ทรพิษ หัด เริม เอดส์ รวมถึงงูสวัด (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
-พุดตาน (Hibiscus mutabilis L.) ให้ใช้ใบสดประมาณ 4-5 ใบ นำมาล้างน้ำสะอาด ตำให้ละเอียด เติมน้ำซาวข้าวลงไป แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็นบ่อย ๆ หรืออีกวิธีก็คือการใช้รากพุดตานสดนำมาตำแล้วพอก หรือจะนำรากแห้งมาบดให้เป็นผงผสมแล้วใช้พอกก็ได้
-เพกา (Oroxylum indicum (L.) Kurz) ให้ใช้เปลือกต้นเพกา เปลือกคูน และรากต้นหมูหนุน นำมาฝนใส่น้ำทาบริเวณที่เป็น จะช่วยให้โรคงูสวัดหายเร็วขึ้น
-แพงพวยน้ำ (Ludwigia adscendens (L.) H.Hara) ใช้ทั้งต้นเป็นยารักษาโรคงูสวัด (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
-ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees) ให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรก่อนอาหาร 2-3 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ เนื่องจากงูสวัดคือเชื้อไวรัสที่จะอยู่นาน 3 สัปดาห์ ถ้าใช้รักษาให้ครบตามเวลา ก็จะทำให้ไม่กลับมาเป็นอีก
-มะรุม (Moringa oleifera Lam.) จากข้อมูลระบุว่า สมุนไพรชนิดนี้สามารถใช้รักษาโรคเริมและงูสวัดได้ แต่ไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้และวิธีใช้เอาไว้
-มันเทศ (Ipomoea batatas (L.) Lam.) ตำรายาไทยจะใช้หัวมันเทศนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกแผล รักษาเริม และงูสวัด
-ไมยราบ (Mimosa pudica L.) จากข้อมูลระบุว่า ใบไมยราบมีสรรพคุณช่วยแก้อาการงูสวัดได้ (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
-ย่านาง (Limacia triandra Miers) จากข้อมูลระบุว่า สมุนไพรชนิดนี้สามารถใช้รักษาโรคเริมและงูสวัดได้ แต่ไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้และวิธีใช้เอาไว้
-รางจืด (Thunbergia laurifolia Lindl.) ใบและรากมีสรรพคุณเป็นยาต้านการอักเสบต่าง ๆ เช่น อาการผดผื่นคัน แมลงสัตว์กัดต่อย เริม อีสุกอีใส รวมทั้งงูสวัด
-ลางสาด (Lansium parasiticum (Osbeck) K.C.Sahni & Bennet) เมล็ดลางสาดมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคงูสวัด (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
-ว่านมหากาฬ (Gynura pseudochina (L.) DC.) ใช้ใบสดตำพอกรักษางูสวัด โดยใช้ใบสดประมาณ 5-6 ใบ นำมาล้างน้ำให้สะอาด ตำในภาชนะที่สะอาด ใส่พิมเสนเล็กน้อย หรือใช้ใบโขลกผสมกับเหล้า แล้วเอาน้ำที่ได้มาทาหรือพอกบริเวณที่เป็น
-สตรอว์เบอร์รี่ป่า (Duchesnea indica (Jacks.) Focke) ใบและก้านใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังผดผื่นคัน ฝีมีหนอง รวมทั้งงูสวัด
-สนุ่น (Salix tetrasperma Roxb.) ใบสนุ่นมีรสจืดเย็นเมา น้ำคั้นจากใบสด ใช้เป็นยาทา พอก หรือพ่นแก้พิษงูสวัดได้
-สายน้ำผึ้ง (Lonicera japonica Thunb.) ผู้ที่เป็นงูสวัดที่ดูเหมือนแผลจะหายดีแล้ว แต่ยังมีพิษของโรคงูสวัดตกค้างในร่างกาย คือมีอาการปวดแสบปวดร้อนและบวม ให้ใช้ดอกสายน้ำผึ้ง 10 กรัม, ใบโด่ไม่รู้ล้ม 10 กรัม, ข้าวเย็นเหนือ 30 กรัม, และข้าวเย็นใต้ 30 กรัม (แบบแห้งทั้งหมด) นำมาต้มรวมกันในน้ำ 1 ลิตร จนเดือด ใช้ดื่มในขณะอุ่นครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น โดยให้ดื่มไปเรื่อย ๆ จะช่วยขับพิษของโรคงูสวัดที่ตกค้างในร่างกายออกได้ และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปในที่สุด
-เสลดพังพอนตัวผู้ (Barleria lupulina Lindl.) เสลดพังพอนตัวผู้ ให้ใช้ใบสด (ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป) ประมาณ 10-20 ใบ นำมาตำผสมกับเหล้าหรือน้ำมะนาว คั้นเอาน้ำดื่มหรือเอาน้ำทาและเอากากพอกบริเวณที่เป็น (วิธีการใช้จะเหมือนกับเสลดพังพอนตัวเมีย แต่เสลดพังพอนตัวผู้จะมีฤทธิ์ทางยาอ่อนกว่าเสลดพังพอนตัวเมีย ชาวบ้านจึงนิยมใช้เสลดพังพอนมาทำเป็นยาเสียมากกว่า)
-เสลดพังพอนตัวเมีย หรือ พญายอ (Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau) ให้ใช้ใบเสลดพังพอนตัวเมียสด ๆ ประมาณ 10-20 ใบ (เลือกเอาเฉพาะใบสดสีเขียวเข้มเป็นมน ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป) นำมาตำผสมกับเหล้าหรือน้ำมะนาวคั้นเอาน้ำดื่มหรือเอาน้ำมาทาและเอากากพอกบริเวณที่เป็น ส่วนตำรับยาแก้งูสวัดอีกตำรับจะใช้ใบเสลดพังพอนตัวเมียสด ๆ นำมาผสมกับดอกลำโพง และโกฐน้ำเต้า อย่างละเท่ากัน รวมกันตำให้พอแหลก แช่กับเหล้า แล้วนำมาใช้ทาแก้แผลงูสวัด
-แสมสาร (Senna garrettiana (Craib) H.S.Irwin & Barneby) ใช้ใบเป็นยาบำบัดโรคงูสวัด
-หญ้าเกล็ดหอยเทศ (Hydrocotyle sibthorpioides Lam.) ใช้ทั้งต้นนำมาตำให้ละเอียด แล้วนำไปแช่ในแอลกอฮอล์ 6 ชั่วโมง จากนั้นนำมาทาบริเวณที่เป็นแผลงูสวัด
-หญ้าดอกขาว (Cyanthillium cinereum (L.) H.Rob.) ใช้ทั้งต้นเป็นยาภายนอกแก้งูสวัด
-หญ้าพันงูแดง (Cyathula prostrata (L.) Blume) ใช้ใบสดตำพอกแก้งูสวัด
-หวดหม่อน (Clausena excavata Burm.f.) ตำรับยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้รากหวดหม่อนนำมาฝนกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคงูสวัด
-เหงือกปลาหมอ (Acanthus ebracteatus Vahl) ให้ใช้รากสดนำมาต้มเอาแต่น้ำ ใช้ดื่มเป็นยารักษาโรคงูสวัดได้
-เห็ดหลินจือ (Ganoderma lucidum (Curtis) P. Karst) จากข้อมูลระบุว่า สมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัส อย่างไวรัสเอดส์ อีสุกอีใส และงูสวัด (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
-อ้อย (Saccharum officinarum L.) ใช้ส่วนของต้นเป็นยารักษาโรคงูสวัด (ตามข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้)
ชาวบ้านมักมีความเชื่อ “ถ้าเป็นงูสวัดพันรอบเอวเมื่อใด จะทำให้ตายได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงสักทีเดียวนะครับ เพราะในคนธรรมดาที่มีภูมิคุ้มกันปกติ งูสวัดจะไม่สามารถพันรอบตัวเราจนครบรอบเอวได้ เนื่องจากแนวเส้นประสาทของตัวเราจะมาสิ้นสุดที่บริเวณกึ่งกลางของลำตัวเท่านั้น จะไม่ลุกลามเข้ามาแนวกึ่งกลางลำตัวไปอีกซีกหนึ่งของร่างกาย และส่วนมากก็จะขึ้นเพียงข้างเดียวเท่านั้น อีกทั้งโรคนี้ก็มีโอกาสทำให้ตายได้น้อยมาก” คือถ้าจะเป็นอันตรายจริง ๆ ก็คงเกิดจากการอักเสบซ้ำจากเชื้อแบคทีเรียจนกลายเป็นโลหิตเป็นพิษเสียมากกว่า
หากใครเป็นงูสวัดก็ไม่ต้องกลัวหรือตื่นตกใจไปนะครับ เพราะในปัจจุบันนี้เราสามารถรักษาโรคงูสวัดได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่อย่างไรก็ตาม งูสวัดที่จะเป็นรุนแรงทั่วร่างกายหรือพันรอบตัวนั้นอาจพบได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว เอดส์ ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ฯลฯ ถ้าเกิดเป็นงูสวัดขึ้นมาก็อาจทำให้ปรากฏขึ้นทั้งสองข้างพร้อมกันจนดูเหมือนงูสวัดพันข้ามแนวกึ่งกลางลำตัวไปยังอีกซีกหนึ่งของร่างกายหรือเป็นงูสวัดทั่วร่างกายได้ ซึ่งแบบนี้อาจทำให้มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : https://kaijeaw.com
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : phyathai.com , medthai.com