ระวัง! ข้อเข่าเสื่อม ป้องกันและรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี


2,095 ผู้ชม

เมื่อมีอาการปวดเมื่อยข้อ ได้ยินเสียงในข้อโดยเฉพาะเวลาเคลื่อนไหว และเคลื่อนไหวไม่สะดวก นั่นอาจเป็นสัญญาณบอกถึงอาการข้อเข่าเสื่อมซึ่งเป็นโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ หรือในวัยกลางคนขึ้นไป เนื่องจากความเสื่อมถอยของร่างกาย


เมื่อมีอาการปวดเมื่อยข้อ ได้ยินเสียงในข้อโดยเฉพาะเวลาเคลื่อนไหว และเคลื่อนไหวไม่สะดวก นั่นอาจเป็นสัญญาณบอกถึงอาการข้อเข่าเสื่อมซึ่งเป็นโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ หรือในวัยกลางคนขึ้นไป เนื่องจากความเสื่อมถอยของร่างกาย ตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเพศหญิงที่มีการสูญเสียแคลเซี่ยมเยอะ จึงนับได้ว่าเป็นโรคที่ทุกคนมีความเสี่ยง เมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจะมีวิธีการป้องกันและรักษาอย่างไรบ้าง มาติดตามกันเลย...

โรคข้อเข่าเสื่อม หมายถึง ภาวะที่ข้อเกิดความผิดปกติเนื่องจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงแบบถดถอย ด้วยอายุที่มากขึ้น เรียกว่าข้อเข่าเสื่อมชนิดปฐมภูมิ ถ้าหากว่า โรคข้อเข่าเสื่อมมีสาเหตุที่ผิดปกติที่เกิดกับข้อเข่ามาก่อน เช่น การอักเสบของข้อเข่าจากสาเหตุต่างๆ เช่น ติดเชื้อ ไขข้ออักเสบ กระดูกหัก เป็นต้น แล้วทำให้ในเวลาต่อมาผิวข้อผิดปกติ และเกิดข้อเสื่อมตามมา ข้อเสื่อมชนิดนี้เรียกว่าข้อเสื่อมทุติยภูมิ พบได้ประปรายในผู้ป่วยทุกอายุ แต่โดยรวมพบได้ไม่บ่อยเท่าข้อเสื่อมชนิดแรก

กลไกการเกิดข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการที่กระดูกอ่อนของข้อมีการเสื่อมสภาพทำให้กระดูกอ่อนไม่สามารถเป็นเบาะรองรับน้ำหนัก และมีการสูญเสียคุณสมบัติของ น้ำ หล่อเลี้ยงเข่า เมื่อมีการเคลื่อนไหวของเข่าก็จะเกิดการเสียดสีและเกิดการสึกหรอของกระดูกอ่อน ผิวของกระดูกอ่อนจะแข็งผิวไม่เรียบ เมื่อเคลื่อนไหวข้อเข่าก็จะเกิดเสียงดังในข้อเกิดอาการเจ็บปวด หากข้อเข่าที่เสื่อมมีการอักเสบก็จะมีการสร้างน้ำข้อเข่าเพิ่ม ทำให้เกิดอาการบวม ตึงและปวดของข้อเข่า เมื่อมีการเสื่อมของข้อเข่ามากขึ้น ข้อเข่าก็จะมีอาการโก่งงอทำให้เกิดอาการ ปวดเข่าทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว และขนาดของข้อเข่าก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น ในที่สุดผู้ป่วยต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดิน หรือบางคนจะเดินน้อยลงทำให้กล้ามเนื้อต้นขาลีบลง ข้อจะติดทำให้เหยียดขาได้ไม่สุด


อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม

– อาการปวดเข่า จะมีอาการปวดเมื่อยตึงทั้งด้านหน้าและด้านหลังของเข่า หรือบริเวณน่อง เมื่อเป็นมากขึ้นจะปวดบริเวณเข่าเมื่อมีการเคลื่อนไหว ลุกนั่งหรือเดินขึ้นบันไดไม่คล่องเหมือนเดิม

– มีเสียงในข้อ โดยเฉพาะเมื่อเคลื่อนไหว ตัวผู้ป่วยเองจะรู้สึกได้ว่ามีเสียงในข้อและรู้สึกปวดเข่า

– อาการบวม ถ้าข้อมีการอักเสบก็จะเกิดข้อบวมร่วมด้วย

– ข้อเข่าโก่งงอ อาจจะโก่งด้านนอกหรือโก่งด้านใน ทำให้ขาสั้นลงเดินลำบากและมีอาการปวดเวลาเดิน

– ข้อเข่ายึดติด ผู้ป่วยจะไม่สามารถเหยียดหรืองอขาได้สุดเหมือนเดิมเนื่องจากมีการยึดติดภายในข้อ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อเสื่อมได้

1) อายุ อายุที่มากมีโอกาสเป็นมากเนื่องจากอายุการใช้งานมาก

2) เพศหญิง จะเป็นโรคเข่าเสื่อมมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า เนื่องจากภาวะฮอร์โมนวัยทอง และการสูญเสียแคลเซี่ยม

3) น้ำหนัก ยิ่งน้ำหนักตัวมากข้อเข่าที่มีหน้าที่ในการแบกรับน้ำหนักตัวก็จะเสื่อมเร็วขึ้น

4) การใช้ข้อเข่าแบบผิดๆ เช่น ผู้ที่นั่งยองๆ นั่งขัดขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบนานๆ จะพบข้อเข่าเสื่อมเร็ว

5) การได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุที่ข้อเข่าไม่ว่าจะกระดูกข้อเข่าแตกหรือเอ็นฉีก จะเกิดข้อเข่าเสื่อมได้

6) ความอ่อนแอของกล้ามเนื้อและกระดูก ผู้ที่ไม่ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อความเสื่อมของเข่ามากขึ้น

ข้อแนะนำในการดูแลรักษาด้วยตนเอง เมื่อมีอาการโรคข้อเข่าเสื่อม

– ควรใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบรอบๆ เข่า นาน 15 – 30 นาที วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น 

– หากน้ำหนักเกิน ควรลดน้ำหนักตัว เพราะจะทำให้เข่าแบกรับน้ำหนักน้อยลง การเสื่อมของเข่าก็จะช้าลงด้วย

– อยู่ในอิริยาบทที่ถูกต้อง ไม่ควรนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ เพราะท่าดังกล่าวจะทำให้ข้อเข่าเสียดสีกันและเสื่อมเร็วขึ้น

– เวลานั่งขับถ่าย ควรนั่งบนโถนั่งชักโครก หรือ ใช้เก้าอี้ที่มีรูตรงกลาง วางไว้เหนือคอห่าน แทนการนั่งยองๆ ควรทำที่จับบริเวณด้านข้างโถนั่งหรือใช้เชือกห้อยจากเพดาน เพื่อใช้จับพยุงตัวเวลาจะลงนั่งหรือจะลุกขึ้นยืน

– ที่นอนบนเตียง ควรมีความสูงระดับเข่า ซึ่งเมื่อนั่งห้อยขาที่ขอบเตียงแล้วฝ่าเท้าจะแตะพื้นพอดี ไม่ควรนอนบนพื้นเพราะต้องงอเข่าเวลาจะนอนหรือ จะลุกขึ้น ทำให้ผิวข้อเสียดสีกันมากขึ้น

– หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งในท่าเดียวนานๆ ถ้าจำเป็นควรเปลี่ยนท่าหรือขยับ เหยียดและงอ ข้อเข่าอยู่เรื่อยๆ

– หลีกเลี่ยงการเดินบนทางเดินที่ขรุขระ เพราะจะทำให้น้ำหนักตัวลงไปที่เข่าเพิ่มมากขึ้น และอาจจะเกิดอุบัติเหตุให้หกล้มได้ง่าย

– ควรใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัวเวลาเดิน ซึ่งจะช่วยรับน้ำหนักตัว ทำให้เดินได้มั่นคง และเจ็บน้อยลง 

– ออกกำลังกล้ามเนื้อเข่าเป็นประจำ เพื่อให้กล้ามเนื้อและเอ็นรอบเข่าแข็งแรง เพิ่มความทนทานในการใช้งาน ช่วยป้องกันและลดความพิการที่อาจเกิดขึ้นกับข้อเข่า

อาการที่ต้องไปพบแพทย์ หากมีอาการต่อไปนี้มากกว่า 2 สัปดาห์

1) มีอาการบวมแดงและร้อนบริเวณข้อเข่า

2) มีอาการปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ปวดตลอดเวลา กดแล้วเจ็บ

3) มีอาการปวดที่ข้อต่ออื่นๆ ร่วมด้วย

4) กล้ามเนื้อต้นขาลีบ มีอาการชาหรือขาอ่อนแรง

5) สีของผิวหนังบริเวณเท้ามีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเดินนานๆ

6) มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น

แนวทางการรักษาโรค

– ควรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อส่งเสริมให้ข้อต่อมีความแข็งแรง 

– ทำกายภาพบำบัด 

– การกินยาแก้ปวดลดการอักเสบ 

– การผ่าตัด เพื่อจัดแนวกระดูกใหม่ 

– การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การป้องกันตนจากโรคข้อเข่าเสื่อม

– ควบคุมน้ำหนักให้พอดี

– การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิค ที่ช่วยเผาผลาญพลังงานได้เป็นอย่างดี เพื่อลดความเสี่ยง เกิดอันตรายต่อข้อกระดูก ก็ควรเลือกประเภทของการออกกำลังกายที่ข้อไม่ต้องแบกรับภาระมากนัก 

– อยู่ในอิริยาบถที่ถูกต้องเหมาะสม ทุกกิจกรรมควรลงน้ำหนักทั้งสองขาเท่าๆ กัน ควรนั่งในท่าที่ถูกต้อง โดยนั่งหลังตรง นั่งพิงพนักเก้าอี้ ไม่ควรก้มคอนานๆ และทางที่ดี ควรหาโอกาสขยับตัว โดยลุกขึ้นมาเดินขยับตัวบ้าง ยืดแขนยืดขาเพื่อเป็นการบริหารข้อต่อ

– เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง แต่ก็ระวังไม่ออกกำลังกายที่หนักเกินไป เลือกกีฬาที่ปลอดภัยกับข้อกระดูก 

– อาหารและยา การรับประทานยาจำพวก กลูโคซามีน และคอนโดรอิทีน มีส่วนช่วยการเสริมสร้างน้ำไขข้อและกระดูกอ่อนเคลือบผิวข้อได้ แต่ไม่ยืนยันว่าได้ประโยชน์มากเท่าใด และต้องใช้ในกรณีที่ข้อเสื่อมอยู่ในระยะแรกๆ เท่านั้น และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดบ่อยเกินความจำเป็น

ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม รวมถึงข้อส่วนอื่นๆ ด้วยนะคะ เมื่อเป็นแล้วก็ยากที่จะรักษาให้หายขาดหรือกลับคืนสู่สภาพปกติเช่นเดิมได้ ดังนั้นคุณจึงควรรักษาข้อให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ และรักษาสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรงสมบูรณ์ นั่นหมายถึงสุขภาพของจิตใจด้วยหรือไม่เครียดนั่นเอง เพื่อลดความเสี่ยงของโรคข้อเข่าเสื่อม รวมถึงทั้งโรคที่เกิดจากความเสื่อมของส่วนต่างๆ ในร่างกาย

ที่มา: ไข่เจียว.คอม


อัพเดทล่าสุด