มะเร็งรังไข่ ภัยร้ายที่คุณผู้หญิงไม่ควรมองข้าม


4,014 ผู้ชม

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอนที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งรังไข่ แต่แพทย์เชื่อว่า น่ามาจากหลาย ปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน ที่สำคัญ เช่น จากสารก่อมะเร็งในสิ่งแวดล้อม หรือ จากอาหาร การมีความผิดปรกติของฮอร์โมนในร่างกาย และความผิดปรกติในพันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอด


โรคมะเร็งรังไข่เกิดจากอะไร?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอนที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งรังไข่ แต่แพทย์เชื่อว่า น่ามาจากหลาย ปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน ที่สำคัญ เช่น จากสารก่อมะเร็งในสิ่งแวดล้อม หรือ จากอาหาร  การมีความผิดปรกติของฮอร์โมนในร่างกาย  และความผิดปรกติในพันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอด

รังไข่เป็นมะเร็งได้กี่ข้าง?  เป็นมะเร็งข้างหนึ่งแล้ว อีกข้างเป็นมะเร็งได้ไหม?
รังไข่เป็นอวัยวะอยู่ในช่องท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน มีอยู่สองข้าง ซ้าย และ ขวา ในภาวะปรกติจะมีขนาดประมาณ ๒-๓ ซ.ม. คลำไม่พบจากการคลำทางหน้าท้อง มะเร็งรังไข่ทั้งสองข้างมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งได้เท่ากัน และเมื่อเป็นมะเร็งรังไข่ข้างหนึ่งแล้ว รังไข่อีกข้างมีโอกาสเกิดเป็นโรคมะเร็งได้เช่นกัน แต่จะมีโอกาสมากหรือน้อย ขึ้นกับชนิดของเซลล์มะเร็ง
โรคมะเร็งรังไข่เกิดได้บ่อยไหม?
โอกาสเกิดโรคมะเร็งรังไข่ น้อยกว่าการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก และ โรคมะเร็งเต้านมมาก พบเกิดได้คิดเป็นประมาณร้อยละ ๔-๕  จากโรคมะเร็งทั้งหมด
มีวิธีป้องกันการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ไหม?

ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งรังไข่  เนื่องจากยังหาสาเหตุเกิดโรคที่แน่ชัดไม่ได้


 
 

โรคมะเร็งรังไข่ติดต่อได้ไหม?
โรคมะเร็งรังไข่ไม่ใช่โรคติดต่อ โรคส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยยังหาสาเหตุที่ชัดเจนไม่ได้  แต่มีส่วนน้อยมาก เกิดจากพันธุกรรมชนิดถ่ายทอดภายในครอบครัว ได้แก่ ผู้ป่วยซึ่งเกิดโรคมะเร็งรังไข่ตั้งแต่อายุยังน้อย มักเกิดเป็นมะเร็งรังไข่ทั้งสองข้าง และอาจมีโรคมะเร็งชนิดอื่นร่วมด้วย เช่น โรคมะเร็งเต้านม หรือ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
มีวิธีตรวจให้พบมะเร็งรังไข่ตั้งแต่แรกเป็นไหม?
ใน ปัจจุบันยังไม่พบวิธีตรวจให้พบโรคมะเร็งรังไข่ตั้งแต่เริ่มเป็นโรค ขณะยังไม่มีอาการ (การตรวจคัดกรอง) แต่แพทย์กำลังศึกษาหาวิธีอย่างจริงจัง และเร่งด่วน
โรคมะเร็งรังไข่มีอาการอย่างไร?
มะเร็ง รังไข่ เป็นโรคที่มีอาการไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน จึงตรวจ/วินิจฉัยได้ยากมาก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เมื่อตรวจพบโรค โรคมักลุกลามแพร่กระจายในช่องท้องแล้ว
อาการที่อาจพบได้ เป็นอาการของโรคธรรมดาทั่วไป เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ประจำเดือนมาผิดปรกติ ทั้งอาจมาน้อย ไม่มา หรือ มามาก หรือ มีเลือดออกผิดปรกติทางช่องคลอด  ปัสสาวะบ่อยเพราะก้อนเนื้อโตกดทับกระเพาะปัสสาวะ  ท้องผูก เพราะก้อนเนื้อโตกดทับลำไส้ใหญ่ หรือ ปวดท้องน้อย เป็นๆหายๆ  หรือ ปวดท้องมาก รุนแรงจากการบิดพันตัวของรังไข่  หรือ คลำก้อนเนื้อได้ในช่องท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน หรือ ท้องบวมจาก มีน้ำมะเร็งในช่องท้อง จากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
โรคมะเร็งรังไข่ มีกี่ระยะ?
โรคมะเร็งรังไข่แบ่งเป็นระยะหลัก ๔ ระยะเช่นเดียวกับในโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ในแต่ละระยะหลัก ยังแบ่งเป็นระยะย่อย เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้เป็นข้อบ่งชี้ทางการรักษา และการพยากรณ์ความรุนแรงของโรค ซึ่ง ๔ ระยะหลักได้แก่
-ระยะที่๑  ก้อนมะเร็งยังอยู่เฉพาะในรังไข่ อาจเกิดโรคกับรังไข่ข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง ๒ ข้าง 
-โรคระยะที่๒  โรคมะเร็งลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ หรือ อวัยวะอื่นในอุ้งเชิงกราน/ช่องท้องน้อย
-โรคระยะที่๓  โรคมะเร็งลุกลามเข้าช่องท้อง  เยื่อบุช่องท้อง มีน้ำในช่องท้อง หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
-โรคระยะที่๔  โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด/โลหิตไปยังอวัยวะอื่นๆ  เช่น ปอด หรือ/และตับ
โรคมะเร็งรังไข่รักษาหายไหม?
โอกาส รักษาโรคมะเร็งรังไข่ให้หายขาด ขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ ระยะของโรค สุขภาพของผู้ป่วย  อายุของผู้ป่วย การที่ผู้ป่วยมีโรคเรื้อรังอื่นๆร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น  ขนาดของก้อนมะเร็ง  ชนิดของเซลล์มะเร็ง  การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้หมด และเซลล์มะเร็งตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัด   โดยทั่วไป ถ้าเป็นโรคในระยะที่๑ และ เซลล์มะเร็งเป็นชนิดมีความรุนแรงโรคต่ำ และสามารถผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกได้หมด โอกาสหายขาดสูงถึงประมาณร้อยละ ๘๐-๙๐
-โรคในระยะที่๒ มีโอกาสรักษาหายประมาณร้อยละ ๕๐- ๗๐
-โรคในระยะที่๓  มีโอกาสรักษาหายประมาณร้อยละ ๒๐-๓๐
-โรคระยะที่๔ ไม่มีโอกาสรักษาได้หาย
มีวิธีการรักษาโรคมะเร็งรังไข่อย่างไร?
วิธี การรักษาโรคมะเร็งรังไข่ มี ๒ วิธีการหลัก คือ การผ่าตัด และยาเคมีบำบัด  ส่วนรังสีรักษา ใช้รักษาประคับประคองตามอาการในผู้ป่วยซึ่งมีโรคลุกลามแพร่กระจายบางราย และการใช้ยารักษาตรงเป้า ยังอยู่ในการศึกษา
-โรคในระยะที่๑  อาจใช้การผ่าตัดวิธีการเดียว หรือ ให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย ขึ้นกับ ความรุนแรงของชนิดเซลล์มะเร็ง
-โรคในระยะที่๒ และระยะที่๓  การรักษา มักเป็นการผ่าตัดร่วมกับยาเคมีบำบัด
-โรคระยะที่๔  การรักษาขึ้นกับอาการ และสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย

ที่มา: สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย

อัพเดทล่าสุด