โทษของบุหรี่ อันตรายแค่ไหนเชื่อว่าคงพอรู้กันบ้างอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่ากังวลไม่ได้อยู่ตรงนั้น เพราะพฤติกรรมที่เราทำกันจนชินอย่าง 6 ข้อนี้ ก็เสี่ยงต่อสุขภาพได้เทียบเท่าการสูบบุหรี่แม้จะไม่เคยสูบสักมวน !
ไม่สูบก็เสี่ยง ! 6 พฤติกรรมที่ควรเลี่ยง เพราะทำสุขภาพพังได้เท่าการสูบบุหรี่
โทษของบุหรี่ อันตรายแค่ไหนเชื่อว่าคงพอรู้กันบ้างอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่ากังวลไม่ได้อยู่ตรงนั้น เพราะพฤติกรรมที่เราทำกันจนชินอย่าง 6 ข้อนี้ ก็เสี่ยงต่อสุขภาพได้เทียบเท่าการสูบบุหรี่แม้จะไม่เคยสูบสักมวน
ควันบุหรี่มือสองที่ว่าอันตรายพอ ๆ กับสิงห์อมควัน ยังไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่ทำลายสุขภาพเราได้หรอกนะคะ แต่ยังมีพฤติกรรมที่ถ้าบอกไปหลายคนคงนึกตกใจกันบ้างว่า 6 ความเคยชินเหล่านี้น่ะเหรอที่ทำร้ายสุขภาพเราได้เทียบเท่าการสูบบุหรี่ !
1. นั่งทั้งวันสถาบัน
Alberta Health Services-Cancer Care ประเทศแคนาดา เผยว่า การนั่งอยู่กับที่ติดต่อกันเป็นเวลานาน อย่างการนั่งทำงานในออฟฟิศ หรือการขับรถทางไกล ก็ทำลายสุขภาพเราได้หลายต่อ ทั้งโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งปอด โดยมีอัตราผู้ป่วยด้วยโรคนี้เฉลี่ยปีละเกือบ 160,000 ราย คำนวณแล้วก็พบว่าความเสี่ยงโรคมะเร็งดังกล่าวถือเป็น 2 ใน 3 ของความเสี่ยงโรคมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่เลยทีเดียว
ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ห่างไกลจากโรคมะเร็งทั้งหลาย เราก็ควรลุกยืดเส้นยืดสายบ่อย ๆ หรือลองนั่งทำงานบนลูกบอลโยคะ บนบาร์ที่ต้องยืนทำงานดูบ้างก็ได้
กินไขมันมากเกินไป
2. บริโภคเนื้อสัตว์และอาหารประเภทไขมันมากเกินไป
เนื้อสัตว์อุดมไปด้วยโปรตีนก็จริง แต่โปรตีนเหล่านี้มี IGF-1 ฮอร์โมนที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดเซลล์มะเร็งได้ และผลการศึกษาจาก University of Southern California ก็พบว่า คนที่รับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะในช่วงวัยกลางคน จะมีแนวโน้มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งมากกว่าคนที่ไม่ค่อยได้รับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ถึง 4 เท่า และความเสี่ยงนี้ก็เทียบเท่ากับคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำเลยด้วย
ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง นักวิจัยแนะนำให้ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง แล้วหันมารับโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วหรือเต้าหู้เแทน หรืออย่างน้อยควรรับประทานผักและผลไม้ให้ได้ทุกมื้อ แค่นี้ก็จะช่วยลดปริมาณเนื้อสัตว์ในแต่ละมื้อไปได้บ้าง
ทำอาหารด้วยแก๊ส
3. ทำอาหารด้วยแก๊ส
ผลการศึกษาจาก Environmental Health Perspectives เมื่อปี 2013 พบว่า ผู้ที่ทำอาหารด้วยเตาแก๊สเป็นประจำจะมีความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ไม่ต่างจากควันบุหรี่มือสอง เนื่องจากแก๊สธรรมชาติเหล่านี้ประกอบไปด้วยคาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และฟอร์มาดีไฮด์ ซึ่งทุกครั้งที่เราประกอบอาหาร เราก็มีโอกาสจะสูดดมสารอันตรายเหล่านี้เข้าไปด้วยนั่นเอง
ทว่าหากจะลดความเสี่ยงก็ไม่ยาก ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ติดเครื่องดูดควัน ซึ่งจะช่วยดูดเอาสารพิษจากการแก๊สออกไปได้พอสมควร และหากเป็นไปได้ ควรทำอาหารในที่โล่ง โปร่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวกด้วยนะคะ
4. ใช้น้ำมันผิดประเภท
แม้จะประกอบอาหารด้วยเตาไฟฟ้าก็ใช่ว่าจะรอด เพราะหากคุณยังใช้น้ำมันประกอบอาหารผิดประเภทอยู่ละก็ ความเสี่ยงต่อโรคภัยชนิดเดียวกับโทษของบุหรี่ก็อาจมาเยือนได้ เนื่องจากผลการศึกษาในแวดวงร้านอาหารและแวดวงห้องครัวพบว่า เมื่อนำน้ำมันถั่วเหลืองมาใช้ทอดอาหารและตั้งน้ำมันด้วยอุณหภูมิที่ร้อนจัด อาจนำมาซึ่งสารอัลดีไฮด์ และสารพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารเดียวกับที่พบในมวนบุหรี่ !
ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมอนามัยและกระทรวงสาธารณสุขยังแนะนำมาด้วยว่า เราควรเลือกน้ำมันสำหรับปรุงอาหารให้ถูกประเภท โดยอาหารประเภททอด ต้องใช้ความร้อนสูง ควรใช้น้ำมันปาล์มหรือน้ำมันหมู ซึ่งมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง ไม่ทำให้เหม็นหืด และไม่มีความหนืดจากสารโพลีเมอร์อย่างน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงอย่างน้ำมันถั่วเหลือง หรือน้ำมันมะกอก เป็นต้น
ส่วนอาหารประเภทผัดหรือทำสลัด ควรใช้น้ำมันที่มีกรดไม่อิ่มตัวสูง อย่างน้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันอะโวคาโด ซึ่งนอกจากจะปลอดภัยจากสารพิษที่จะเกิดขึ้นจากการประกอบอาหารด้วยน้ำมันผิดประเภทแล้ว การใช้น้ำมันถูกประเภทอาหารยังช่วยให้รสชาติอาหารอร่อยขึ้นได้ด้วยนะคะ อย่างไรก็ตามการทานไขมันมากเกินไปไม่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นควรทานในปริมาณที่เหมาะสม และเลือกทานน้ำมันให้หลากหลาย อย่าบริโภคน้ำมันชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป
5. นอนไม่พอ
การนอนไม่พอหรือนอนไม่หลับเรื้อรังนำมาซึ่งความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคสโตรก ความดันเลือดสูง โรคอ้วน และโรคเรื้อรังอื่น ๆ นอกจากนี้ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งยังเผยว่า ภาวะนอนไม่หลับพบได้บ่อยในกลุ่มสิงห์อมควัน ซึ่งมักจะมีอาการนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงเป็นประจำ
ที่สำคัญผลการศึกษาจาก Uppsala University ประเทศสวีเดน ยังพบว่า ภาวะร่างกายที่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอก็อาจทำให้ระบบประสาทและสมองค่อย ๆ เสื่อมลงไม่ต่างจากคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
6. รู้สึกเหงาบ่อย ๆ
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริคแฮม บอกให้เรารู้ว่า ความเหงาสามารถบั่นทอนสุขภาพร่างกายของเราได้มากพอกับการเป็นโรคอ้วนหรือการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวันเชียวนะ โดยเฉพาะความรู้สึกเหงาที่เกิดจากความอ้างว้างและโดดเดี่ยว สามารถเพิ่มความเสี่ยงได้ทั้งโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง ไม่ต่างจากโทษของบุหรี่ที่ทำร้ายสุขภาพเหล่าเลยทีเดียว
พฤติกรรมเหล่านี้หลายคนอาจทำกันมาจนชิน แต่เมื่อรู้แล้วว่าเป็นพฤติกรรมที่ทำให้เสี่ยงต่อสุขภาพ ก็อยากให้ทุกคนลองปรับไลฟ์สไตล์มาในแนวรักสุขภาพให้มากขึ้น และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำด้วยนะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: rodalewellness, medicaldaily