ผู้หญิงควรรู้!! มะเร็งปากมดลูก อย่ากลัวที่จะตรวจ


3,808 ผู้ชม

ใครๆก็กลัวมะเร็ง ยิ่งถ้าบอกว่าเป็น มะเร็งปากมดลูก ด้วยแล้ว โอกาสที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยยิ่งมากไปใหญ่ เพราะมะเร็งชนิดนี้ เป็นมะเร็งในเพศหญิงที่พบได้บ่อยที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม และมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ยถึง 14 รายต่อวัน


ใครๆก็กลัวมะเร็ง ยิ่งถ้าบอกว่าเป็น มะเร็งปากมดลูก ด้วยแล้ว โอกาสที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยยิ่งมากไปใหญ่ เพราะมะเร็งชนิดนี้ เป็นมะเร็งในเพศหญิงที่พบได้บ่อยที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม และมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ยถึง 14 รายต่อวัน


สิ่งสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก

1. สตรีที่แต่งงานหรือมีเพศสัมพันธ์แล้ว มีโอกาสติดเชื้อไวรัสนี้  แต่การติดเชื้อส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 จะหายไปได้เอง ภายใน 1-2 ปี โดยไม่ก่ออาการหรือโรค

2. แม้จะมีการใช้ถุงยางอนามัยก็ยังไม่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด

3. การมีคู่นอนเพียงคนเดียวก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้

ด้วยเหตุนี้ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ จึงถือเป็นสิ่งสำคัญมากๆ แม้ว่าคุณจะมีคู่นอนเพียงคนเดียวก็ตาม

สาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูก

เชื้อที่มีผลต่อการเกิดโรค คือ Human Papillomavirus หรือเชื้อ HPV ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก

เชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18 เป็น 2 สายพันธุ์ที่พบได้บ่อยในมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 พบมากเป็นอันดับ 1 โดยพบได้ประมาณร้อยละ 50-55 และเชื้อ HPV สายพันธุ์ 18 พบได้มากเป็นอันดับ 2 ประมาณร้อยละ 15-20

ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มติดเชื้อ HPV จนกระทั่งเป็นมะเร็งนั้นมักกินเวลานาน โดยจะมีช่วงเวลา 5-10 ปีที่เกิดเป็นความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็ง ซึ่งระยะนี้จะไม่มีอาการจนกว่าจะกลายเป็นมะเร็งลุกลาม  และจะทราบว่าเป็นมะเร็งก็ต่อเมื่อไปตรวจคัดกรองเท่านั้น

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมี 2 แบบ หลักๆ ได้แก่

1. วิธีแพปสเมียร์ Pap smear

ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะปฏิเสธการตรวจแบบนี้ เนื่องจากเขินอาย กลัวหมอ กลัวเจ็บ และกลัวการขึ้นขาหยั่ง ซึ่งนั่นก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ผู้หญิงไทยถูกมะเร็งปากมดลูกคุกคาม และมีอัตราการเสียชีวิตสูงมากขึ้นทุกปี

2. การตรวจเชื้อ HPV

เป็นอีกแนวทางใหม่ของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยอาศัยหลักการว่า  ถ้าไม่มีเชื้อไวรัสเอชพีวี จะไม่เป็นมะเร็งปากมดลูก จึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและมีความไวสูง สามารถตรวจหารอยโรคก่อนเป็นมะเร็งสูงถึงร้อยละ 95-100  และสามารถเว้นระยะห่างของการตรวจได้นาน 3-5 ปี ที่สำคัญ…วิธีนี้ยังจะเป็นช่องทางที่ผู้หญิงเข้าถึงได้ง่าย มีค่าใช้จ่ายน้อย ช่วยให้ผู้หญิงไทยก้าวพ้นอุปสรรคความกลัวและความอายได้

อย่างไรก็ตาม สมาคมแพทย์ ASCCP American Society of Colposcopy and Cervical Pathology ในสหรัฐอเมริการับรองการใช้การตรวจหาเชื้อ HPV ร่วมกับแปปสเมียร์ เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

ถ้าตรวจไม่พบเชื้อ HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็ง  และผลแปปสเมียร์ปกติด้วย แปลว่าโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกมีน้อยมาก และมั่นใจได้ว่าสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกใหม่ได้ในอีก 3 ปี

เมื่อไหร่ถึงตรวจ?             

ในปี ค.ศ. 2002 American Cancer Society ได้จัดประชุมร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ได้ข้อสรุปดังนี้

1. ควรเริ่มตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก ภายหลังเริ่มมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 3 ปี หรือเมื่อมีอายุครบ 21 ปี

2. ระยะห่างของการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก ถ้าเป็นการตรวจด้วย แพปสเมียร์ ควรทำทุกปี แต่ถ้าตรวจด้วย liquid-based cytology ควรตรวจทุก 2 ปี

3. ถ้าผลการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก เป็นปกติติดต่อกัน 3 ครั้ง และสตรีนั้นไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก เช่น ประวัติเคยได้รับ diethylstilbestrol DES ตั้งแต่อยู่ในครรภ์, มีการติดเชื้อ HIV หรือมีภูมิต้านทานบกพร่องจากการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือได้รับยาเคมีบำบัด, สูบบุหรี่, มีคู่นอนหลายคน, มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นต้น อาจจะเว้นระยะห่างของการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นทุก 2-3 ปี

การเตรียมตัวก่อนรับการตรวจ

1. ต้องไม่มีการตรวจภายในมาก่อน 24 ชั่วโมง

2. ไม่มีการเหน็บยาในช่องคลอดมาก่อน 48 ชั่วโมง

3. ห้ามล้างหรือทำความสะอาดภายในช่องคลอดมาก่อน 24 ชั่วโมง

4. งดการมีเพศสัมพันธ์ในคืนวันก่อนมารับการตรวจ

ทำใจให้สบายๆ แล้วลองมารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกกันเลยดีกว่าค่ะ โดยเฉพาะคนไหนที่อายุถึง คุณสมบัติได้ตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว อย่ามัวพูดว่า รอก่อน รอเดี๋ยว เพราะโรคร้ายไม่เคยรอเราจริงๆ

ข้อมูลและภาพ thaijobsgov.com


อัพเดทล่าสุด