ข้อกำหนดของผู้ที่สามารถเบิกค่าชดเชยการว่างงานได้ จะต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน...
ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ตกงานเพราะถูกเลิกจ้างหรือลาออกเองแล้วยังหางานใหม่ทำไม่ได้ ช่วงเวลาที่ตกงานยังไม่มีงานทำ สามารถเบิกเงินค่าชดเชยการว่างงานจากประกันสังคมได้ อย่างน้อยก็จะได้มีเงินจากประกันสังคมมาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในช่วงที่เราไม่มีรายได้ และที่สำคัญคือเป็นสิทธิ์ของเราที่ควรจะได้ด้วย
ข้อกำหนดของผู้ที่สามารถเบิกค่าชดเชยการว่างงานได้ จะต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน โดยที่การว่างงานนั้นไม่ว่าจะเกิดจากการถูกเลิกจ้าง ลาออกหรือสิ้นสุดระยะเวลาการจ้าง ก็สามารถเบิกได้ทั้งสิ้น มีเงื่อนไขแค่ว่าการเลิกจ้างนั้นต้องไม่ได้เป็นเพราะการทำผิดกฎหมาย ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานที่สำนักจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ว่างงาน ต้องอายุไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์ ต้องว่างงานไม่น้อยกว่า 8 วัน
การขอรับเงินค่าชดเชยการว่างงาน สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกก็คือต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานก่อนที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ โดยสามารถไปขึ้นทะเบียนได้หลังจากลาออกแล้ว 7 วัน แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ว่างงานถือเป็นการแสดงสิทธิ์ก่อนในเบื้องต้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารหรือหนังสือรับรองการออกจากงาน หากขึ้นทะเบียนเกินกว่า 30 วัน หลังจากว่างงานจะไม่ได้รับค่าชดเชยย้อนหลัง และหากขึ้นทะเบียนหลังจาก 1 ปี จะหมดสิทธิ์รับเงินค่าชดเชยการว่างงานและหลังจากนั้นในช่วงที่ยังว่างงานอยู่ต้องรายงานตัวอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ที่สำนักงานจัดหางานตามนัด
หลังจากรายงานตัวครั้งแรกจะได้รับเงินค่าชดเชยการว่างงานนับตั้งแต่วันที่ 8 ของการว่างงานเป็นต้นไป จนกว่าจะหางานใหม่ได้และบริษัทใหม่ทำเรื่องประกันสังคมเข้ามาใหม่
สำหรับเงินชดเชยที่จะได้รับในกรณีว่างงาน ถ้าเป็นกรณีถูกเลิกจ้างโดยบริษัทจะได้รับเงินชดเชยการว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย คิดจากฐานสูงสุดที่ 15,000 บาท โดยจะได้รับปีละไม่เกิน 180 วัน ส่วนกรณีลาออกเองหรือสิ้นสุดระยะเวลาการจ้างตามสัญญา จะได้รับเงินชดเชยการว่างงานในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย คิดจากฐานสูงสุดที่ 15,000 บาท และได้รับปีละไม่เกิน 90 วัน ยกตัวอย่าง หากมีเงินเดือน 10,000 บาท ถ้าถูกเลิกจ้างก็จะได้รับเงินค่าชดเชยการว่างงานเป็นเงิน 10,000 x 50% = 5,000 บาทต่อเดือน หากลาออกเองหรือสิ้นสุดระยะเวลาจ้าง ก็ได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 10,000 x 30% = 3,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น
สำหรับผู้ที่ออกจากงานและสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แล้วจะไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยกรณีว่างงานนี้
หลักฐานที่ใช้ในการขอรับเงินค่าชดเชยการว่างงาน ก็มีดังนี้
• แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7)
• บัตรประชาชนตัวจริง พร้อมสำเนา
• รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 ใบ
• หนังสือรับรองการออกจากงาน หรือ สำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงาน (สปส. 6-09)
• สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร
ส่วนขั้นตอนในการขอรับเงินค่าชดเชยการว่างงานก็มีดังนี้
• ขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางาน ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ว่างงาน โดยต้องกรอกแบบฟอร์มใบขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน พร้อมยื่นหลักฐานบัตรประชาชน พร้อมสำเนา และรูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 ใบ
• กรอกแบบคำขอรับเงินค่าชดเชยการว่างงาน พร้อมยื่นเอกสารหนังสือรับรองการออกจากงาน หรือสำเนาแบบแจ้งการออกจากงาน (สปส 6-09) และสำเนาบัญชีธนาคาร
• เมื่อประกันสังคมพิจารณาผู้ประกันตนมีสิทธิ์ครบ ก็จะทำการโอนเงินให้ เดือนละ 1 ครั้ง คำนวณตามสิทธิ์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับเป็นกรณี ๆ ไป
คราวนี้ก็มาถึงคำถามหรือข้อสงสัยที่ผู้ประกันตนโดยมากมักจะต้องการคำตอบหรือคำอธิบายเพิ่มเติม ก็เลยขอนำมาสรุปรวบรวมไว้ที่นี้ด้วยนะคะ
ทำไม ลาออกแล้วไปขึ้นทะเบียนทันทีไม่ได้ ต้องรอ 7 วัน
การต้องรอ 7 วัน ก็เพื่อให้เกิดสภาพการว่างงาน คือ ไม่มีงานทำมาแล้วเป็นเวลา 7 วัน ยกตัวอย่างเช่น หากลาออกวันที่ 31 ธันวาคม ก็จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานได้ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม เป็นต้นไป โดยไม่ต้องรอให้บริษัทแจ้งลาออกจากประกันสังคมให้ไปขึ้นทะเบียนก่อนได้เลยเพื่อรักษาสิทธิ์
หากไม่สามารถไปรายงานตัวตามนัดที่สำนักงานจัดหางานที่ไปขึ้นทะเบียนว่างงานไว้ จะต้องทำอย่างไร
การรายงานตัวนี้สามารถไปก่อนหรือหลังวันนัดได้ไม่เกิน 7 วัน และสามารถไปรายงานตัวที่สำนักงานจัดหางานที่จังหวัดใดก็ได้ที่สะดวก เพื่อให้ได้สิทธิ์รับเงินค่าชดเชยการว่างงานอย่างต่อเนื่อง
หากออกจากงานตอนอายุ 55 ปี สามารถไปขึ้นทะเบียนว่างงานได้หรือไม่
ไม่ได้ เพราะเมื่ออายุครบ 55 ปี และลาออกถือว่าสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน และมีสิทธิ์ได้รับเงินชราภาพ จึงไม่สามารถรับเงินค่าชดเชยการว่างงานอีกได้
หากปีหน้ายังคงว่างงานอยู่ จะได้ค่าชดเชยการว่างงานหรือไม่
ได้สิทธิ์ตามหลักเกณฑ์
ทำไมหลังขึ้นทะเบียนคนว่างงานแล้วต้องรออีก 1 เดือน จึงให้ไปรายงานตัวครั้งแรก
กำหนดเวลา 1 เดือน เพื่อให้เป็นช่วงเวลาสำหรับผู้ประกันตนในการหางานใหม่ เมื่อรายงานตัวครั้งแรกผู้ประกันตนจะต้องแสดงหลักฐานการหางานให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานจัดหางานทราบด้วย หากภายใน 1 เดือน ยังหางานไม่ได้และประกันสังคมได้ตรวจสอบว่านายจ้างได้ยื่นเรื่องลาออกจากประกันสังคมให้ลูกจ้างเรียบร้อยแล้ว ก็จะอนุมัติเงินค่าชดเชยการว่างงาน และโอนเข้าบัญชีให้ภายใน 5-7 วันทำการ
หากออกจากงานมาทำอาชีพอิสระ ยังมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยการว่างงานหรือไม่
หากเป็นการทำอาชีพอิสระในระหว่างการหางานทำใหม่ ก็สามารถรับเงินชดเชยการว่างงานได้เช่นเดิมจะต้องไปรายงานตัวที่สำนักจัดหางานตามนัด แต่ต้องไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39
จำไม่ได้ว่าลาออกมาตั้งแต่เมื่อไหร่ จะเช็คได้อย่างไร
หากนายจ้างมีการยื่นเรื่องลาออกของลูกจ้างที่สำนักงานประกันสังคมแล้ว ก็สามารถเช็คที่ประกันสังคมได้
จะเห็นว่าแนวคิดหรือหลักเกณฑ์ในการที่จะได้รับเงินชดเชยการว่างงาน ผู้ประกันตนจะต้องมีความตั้งใจในการหางานทำใหม่ด้วย จึงมีขั้นตอนให้ต้องไปรายงานตัวทุกเดือนที่สำนักจัดหางาน ซึ่งในขั้นตอนของการรายงานตัวนี้ก็จะมีให้กรอกแบบรายงานผลการหางานทำของผู้ประกันตนด้วย ซึ่งก็ไม่ควรกรอกลงไปว่าอยู่เฉย ๆ เป็นแม่บ้าน หรือไม่ได้หางานทำ เพราะจะทำให้ถูกพิจารณาให้ไม่ได้รับเงินชดเชยการว่างงานได้ ก็ต้องกรอกข้อมูลว่าหางานทำอยู่หรือค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ในระหว่างหางาน เป็นต้น
อ้างอิง
• https://www.sso.go.th/wpr/category.jsp?cat=874
• https://www.sso.go.th/wpr/category.jsp?cat=903
• https://pantip.com/topic/33297259