ผอ.ศูนย์เครื่องมือเพื่อการวิจัยขั้นสูง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ธรรมศาสตร์ ได้คิดค้นวิธีการนำน้ำหวานเทียมมาใช้ล้างเกสรและช่วยผสมจั่นมะพร้าว ส่งผลให้มะพร้าวแต่ละจั่นติดผลดก...
สุดยอดมากๆ วิธีทำให้มะพร้าวน้ำหอม มีลูกดกทั้งปี ด้วยเทคนิคนี้
รศ.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ ผอ.ศูนย์เครื่องมือเพื่อการวิจัยขั้นสูง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ธรรมศาสตร์ ได้คิดค้นวิธีการนำน้ำหวานเทียมมาใช้ล้างเกสรและช่วยผสมจั่นมะพร้าว ส่งผลให้มะพร้าวแต่ละจั่นติดผลดก จากเดิมเคยติดลูกแค่ 3-4 ลูก เพิ่มขึ้นเป็น 7-10 ลูก และเป็นเทคนิคที่สามารถทำได้ทุกเดือนโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน ซึ่งน้ำฝนจะชะล้างน้ำหวานปลายดอก ทำให้มะพร้าวไม่ติดลูก
รศ.วรภัทร จึงหาทางแก้ปัญหาด้วยการนำเทคนิคผสมเกสรมะพร้าวจากฟิลิปปินส์ ศูนย์กลางศึกษามะพร้าวทั่วโลก มาทดลองใช้กับสวนมะพร้าวน้ำหอม ใน อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี…แต่ทำยังไงก็ไม่สามารถทำให้มะพร้าวติดผลดกเหมือนที่ตั้งใจ “ผมขึ้นต้นมะพร้าวไปนั่งตัดโน่นตัดนี่ บางครั้งก็ทำกาบมะพร้าวหัก จนเจ้าของสวนกลัวว่ามะพร้าวจะยืนต้นตาย เลยห้ามไม่ให้ทำงานวิจัยต่อ เป็นอย่างนี้ 3-4 แห่ง ทำให้ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่หลายครั้ง”
แต่วิกฤติได้กลายเป็นโอกาส ความล้มเหลวก่อให้เกิดความชำนาญ มีเวลาสังเกตธรรมชาติการผสมเกสรดอกตัวผู้และจั่นตัวเมียว่า เกิดขึ้นแบบไหน… ต้องผสมกันยังไงถึงจะดีที่สุด
เริ่มด้วยการเตรียมจั่นมะพร้าวที่พร้อมจะผสมเกสร ให้สังเกตดอกตัวผู้ (ปลายหางหนู) เม็ดตูมสีเขียวแสดงว่าแก่จัดใช้ได้ แล้วเอาน้ำเกลือเข้มข้นอิ่มตัวที่ได้จากเกลือแกงมาละลายน้ำ เติมเกลือไปเรื่อยๆ กระทั่งเม็ดเกลือไม่ละลายน้ำ…นั่นแหละเกลือเข้มข้นอิ่มตัว
รูดเก็บเม็ดดอกตัวผู้มาล้างน้ำเกลือ เก็บใส่ถุงแช่ตู้เย็นช่องธรรมดา ส่วนดอกตัวเมีย (ลักษณะเหมือนลูกมะพร้าวจิ๋ว) ที่อยู่คาจั่น เอาน้ำเกลือตัวเดียวกันล้างทีละดอก คลุมด้วยถุงผ้าแก้ว ขนาด 3×7 นิ้ว ใช้เชือกมัดปากถุง ทิ้งไว้ 7 วัน…รอจนดอกตัวเมียเปิดเปลือก มีน้ำหวานเยิ้มออกมา เปิดถุงผ้าแก้วเป็นช่องเล็กๆ เอาดอกตัวผู้ที่เก็บไว้ในตู้เย็น ใช้คีมคีบใส่เข้าไปในถุง แล้วบีบให้แตก ทำอย่างนี้ 3 วัน… 1 จั่น มีดอกตัวเมียประมาณ 6-7 ดอก ฉะนั้นจะต้องใช้ดอกตัวผู้ประมาณ 18-21 ดอก ในการผสมแต่ละครั้ง
“เป็นการเลียนแบบธรรมชาติ จากเดิม 1 ทะลาย อย่างเก่งก็มีมะพร้าวแค่ 2-3 ลูก แต่วิธีนี้ทำให้มะพร้าวที่ผสมติดทุกลูก เมื่อลูกมะพร้าวมีขนาดโต จะดันถุงผ้าแก้วให้ฉีกขาดเอง เราเลยไม่จำเป็นต้องเย็บถุงผ้าให้แข็งแรง แต่มะพร้าวจะติดลูกดีหรือไม่ อยู่ที่เกษตรกรดูแลใส่ปุ๋ยให้ต้นแข็งแรง รอเวลาอีกแค่ 7 เดือน สามารถเก็บมะพร้าวได้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่มะพร้าวมีคุณภาพ หอมหวานมากที่สุด” วิธีการนี้ไม่เพียงช่วยชาวสวนสามารถบังคับให้ลูกมะพร้าวติดลูกดกอย่างเดียว ยังช่วยให้ติดผลได้ตลอดทั้งปี เพราะถ้าปล่อยให้ธรรมชาติผสมเอง เจอฝน ลมแรง จะไม่ติดลูกเลย
รศ.วรภัทร ฝากบอกถึงพี่น้องเกษตรกรที่สนใจว่า ทาง วช. และทีมวิจัย ม.ธรรมศาสตร์ ยินดีบริการจัดอบรมให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก วช. โดยเกษตรกรจะต้องรวมกลุ่ม 20-50 คน อบรมการใช้เทคโนโลยีการผลิตมะพร้าวน้ำหอมติดลูกดกตลอดทั้งปี โดยสามารถโทร.สอบถามได้ที่ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ธรรมศาสตร์ โทร.02-564-4488 (ในวันและเวลาราชการ)
ศ.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ กับผลงาน “เครื่องผสมเกสรมะพร้าว” (Coconut Pollination Tools) ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทองในกลุ่มเกษตรและอาหาร จากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติที่เกาหลี
ที่มา: www.naarn.com