กรดไหลย้อน ทําไงหาย แนะนำวิธีรักษาเบื้องต้น ทำแล้วหายเลย!!!


22,480 ผู้ชม

กรดไหลย้อน ทําไงหาย แนะนำวิธีรักษาเบื้องต้น ทำแล้วหายเลย!!!


โรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease: GERD) พบได้ตั้งแต่เด็กทารกไปจนถึงผู้ใหญ่ เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกหรืออาการขย้อนจนรบกวนชีวิตประจำวันได้

สาเหตุโรคกรดไหลย้อน

  • ความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหารที่ทำหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมีความดันของหูรูดต่ำหรือเปิดบ่อยกว่าในคนปกติ ความผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหอบหืดบางตัว
  • ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร ทำให้อาหารที่รับประทานลงช้าหรืออาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ
  • ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารมากขึ้น อาหารประเภทไขมันสูงและช็อกโกแลตจะทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง

อาการโรคกรดไหลย้อน

  • อาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก ซึ่งจะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก การนอนหงาย
  • มีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก ผู้ป่วยมักมีอาการเรอและมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก จนทำให้เกิดพยาธิสภาพในหลอดอาหารขึ้น ได้แก่ หลอดอาหารอักเสบมีเลือดออกจากหลอดอาหาร กลืนติด กลืนลำบาก
  • ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร
  • เจ็บหน้าอก จุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อยๆ 
  • หืดหอบ ไอแห้งๆ เสียงแหบ เจ็บคอ อาการเหล่านี้เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียง ทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบ
  • ในเด็กเล็ก อาการที่ควรนึกถึงโรคนี้ ได้แก่ อาเจียนบ่อยหลังดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย ไอเรื้อรัง หืดหอบในเวลากลางคืน ปอดอักเสบเรื้อรัง ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับ

อาการโรคกรดไหลย้อน

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคจากอาการที่กล่าวมา หากปฏิบัติตามคำแนะนำหรือรับการรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยพิเศษเพิ่มเติม เช่น
  • การส่องกล้องทางเดินอาหาร
  • การเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง
  • การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
  • การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร
  • การตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร ซึ่งให้ผลที่ไวในการวินิจฉัยโรคที่สุด

การปฏิบัติตัว

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่มาก สามารถรักษาได้โดยการเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตดังต่อไปนี้
  • ระวังน้ำหนักตัวไม่ให้มากหรืออ้วนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและการสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อเย็นปริมาณมาก และไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
  • ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปหรือรัดเข็มขัดแน่นจนเกินไป
  • ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง
  • ปรับหรือหนุนหัวให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด

แนวทางการรักษาโรคกรดไหลย้อน

  • การรับประทานยา เช่น ยาเคลือบกระเพาะอาหารรักษาแผล ยาลดกรด 
  • การผ่าตัด อาจแนะนำในกรณีต่อไปนี้
    • ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาเป็นเวลานานแล้วไม่สามารถควบคุมอาการหรือหยุดยาได้ 
    • ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาเป็นเวลานานและมีผลข้างเคียงจากยา

ที่มา: www.bumrungrad.com

อัพเดทล่าสุด