5 วิธีเอาตัวรอดจากฟ้าผ่าในช่วงหน้าฝน รู้ไว้ไม่เสียหลาย!!!


5,061 ผู้ชม


ต้องระวัง!! ช่วงนี้มีฝนฟ้าคะนองและมีฟ้าร้อง-ฟ้าผ่าไปทั่วเมือง อีกทั้งยังมีข่าวคราวจากต่างประเทศว่าผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือท่ามกลางฝนนั้นถูกฟ้าผ่า แพทย์จึงเตือนให้ระมัดระวัง ความจริงปรากฏการณ์ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่ได้เกี่ยวกับการสาบานใดๆ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในฤดูแห่งสายฝนนี้ ทีมงาน “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” จึงได้รวบรวมคำแนะนำในการป้องกันตัวเองจากสายฟ้าโดยผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ท่าน ดังนี้
       
 

1.อย่าเข้าไปในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

       เบื้องต้นสอบถามไปที่กรมอุตุนิยมวิทยา นายวิบูลย์ นาคสุข ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ กรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่าวิธีเลี่ยงที่ดีที่สุดคืออย่าเข้าไปในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็อย่าอยู่ใกล้ต้นไม้สูง และพยายามหลบเข้าอาคาร หาที่กำบังที่เป็นลักษณะอาคาร แต่ถ้าติดอยู่ในที่โล่งแจ้งก็ให้ทำตัวเองให้เตี้ยที่สุด รวมถึงหลีกเลี่ยงการพกพาสื่อนำไฟฟ้าที่เป็นโลหะ พร้อมทั้งให้ข้อสังเกตว่า หากเห็นสายฟ้าแลบ ฟ้าผ่าในลักษณะตรงๆ หรือเอียงไม่เกิน 45 องศา แสดงว่าพายุกำลังเคลื่อนตัวมาหาเรา หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง แต่ถ้าลักษณะฟ้าแลบ ฟ้าผ่าเอียงเกิน 45 องศา แสดงว่าพายุกำลังเคลื่อนตัวหนีจากตำแหน่งที่เราอยู่
       
       2.อยู่ในอาคารที่มีสายล่อฟ้าปลอดภัยกว่าอาคารที่ไม่มีสายล่อฟ้า

       ทางด้าน น.ส.อุมาภรณ์ เครือคำวัง นักวิชาการผู้ดูแลกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่าวิธีป้องกันตัวเราจากฟ้าผ่าได้ดีที่สุดคือ การอยู่ในอาคารที่มีสายล่อฟ้าระหว่างเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่า แต่การอยู่ในอาคารที่ไม่มีสายล่อฟ้าก็จะไม่ช่วยให้เกิดความปลอดภัยจากฟ้าผ่าได้เลย ส่วนการขับรถหรืออยู่ในรถระหว่างมีฟ้าร้องฟ้าผ่านั้น เชื่อว่ามีโอกาสถูกฟ้าผ่าได้น้อย ซึ่งน่าจะเพราะเป็นรถยนต์มีโลหะที่เป็นตัวนำไฟฟ้าที่ไม่ดีนัก
       
       “โดยทั่วไปแล้วโลหะทั้งหลายจะเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดี เช่น เงินและอลูมิเนียม หากเราสวมหรือถืออุปกรณ์โลหะเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นจี้หรือสร้อยโลหะ หรือแม้กระทั่งร่มที่มีปลายโลหะยอดแหลมในที่โล่งแจ้ง เช่น กลางทุ่งนา ในระหว่างที่เกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าก็มีโอกาสเกิดฟ้าผ่าได้ ทั้งนี้ต้นไม้ใหญ่กลางที่โล่งแจ้งก็มีโอกาสชักนำให้เกิดฟ้าผ่าได้มากเช่นกัน ซึ่งฟ้าผ่ามักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงรอยต่อฤดูกาลคือ รอยต่อระหว่างฤดูร้อนและฤดูฝนที่มีโอกาสเกิดมากที่สุด และรอยต่อระหว่างฤดูฝนกับฤดูหนาว”
       
       3.ไม่ควรเปิดทีวีระหว่างฟ้าร้องฟ้าผ่า

       พร้อมกันนี้ น.ส.อุมาภรณ์ ได้แนะการใช้เครื่องไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าว่าไม่ควรเปิดโทรทัศน์โดยเด็ดขาดเพราะอาจเกิดฟ้าผ่ามาที่เสาอากาศนอกบ้านซึ่งเชื่อมต่อกับโทรทัศน์ หากเกิดฟ้าผ่า กระแสไฟฟ้าปริมาณสูงจะไหลเข้าที่โทรทัศน์มาก ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร และได้รับความเสียหายได้ เว้นแต่โทรทัศน์ที่มีการต่อสายดิน ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงลงได้บ้าง
       
       ส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ในบ้าน อาทิ วิทยุ คอมพิวเตอร์ ก็ไม่น่าจะเกิดฟ้าผ่าได้ เพราะไม่มีเสาอากาศคอยรับประจุไฟฟ้าจากอากาศ เว้นแต่จะนำไปใช้กลางแจ้ง ส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรศัพท์มือถือ หากพูดสายขณะที่มีฟ้าร้องฟ้าผ่าก็มีโอกาสที่จะถูกฟ้าผ่าได้เช่นกัน จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงงดใช้ในเวลาดังกล่าว
       
       4.หากอยู่ที่โล่งให้นั่งยองๆ ขาชิดกัน

       ขณะที่ ดร.คมสัน เพ็ชรรัตน์ หัวหน้าห้องจำลองฟ้าผ่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อยู่ในบ้านหรือในอาคารและเลี่ยงไม่อยู่กลางแจ้งก็เพียงพอแล้วสำหรับการป้องกันตัวเองจากภัยฟ้าผ่า และการอยู่ในรถยนต์ก็ปลอดภัยพอสมควร ส่วนกรณีที่อยู่กลางแจ้งและไม่สามารถหาที่ที่เหมาะสมกว่าได้ ก็ให้นั่งทำตัวอยู่ต่ำมากที่สุดคือ นั่งยองๆ ขาชิดกันที่พื้น แต่ห้ามนอน ซึ่งวิธีนี้ก็จะลดความเสี่ยงได้มาก เพราะจะช่วยลดค่าความต่างศักย์ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ โดยข้อห้ามหนึ่งระหว่างเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าคือ ห้ามอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ เพราะฟ้ามักจะผ่าลงที่สูง การหลบอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่จึงไม่ปลอดภัย
       
       “ตามสถิติฟ้าผ่ารุนแรงที่สุดจะมีกระแสไฟฟ้ามากถึง 2 แสนแอมแปร์ โดยทั่วไปหากคนเราโดนฟ้าผ่าก็จะตายสถานเดียว เพราะจะมีความร้อนจำนวนมากไหลผ่านเข้าสู่ร่างกายไปพร้อมๆ กับกระแสไฟฟ้า ทำให้น้ำในเซลล์ระเหยออกมาและทำให้เซลล์แห้งตาย โดยหากกระแสไฟฟ้าไหลเข้าหัวใจๆ เซลล์หัวใจก็จะไหม้และหัวใจจะหยุดเต้น จึงไม่สามารถจะช่วยชีวิตได้ ส่วนในรายที่โชคดีจริงๆ ซึ่งรอดจากฟ้าผ่าได้ ก็เนื่องมาจากกระแสไฟฟ้าไม่ได้ไหลเข้าสู่ร่างกายหรือไหลเข้าสู่ร่างกายน้อย แต่กระแสไฟฟ้าส่วนมากจะไหลจากผิวหนังไปลงดิน ทำให้มีบาดแผลเป็นรอยไหม้ที่ผิวหนังเท่านั้น”
       
       ส่วนการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าระหว่างฝนตกฟ้าคะนอง ดร.คมสัน อธิบายว่า อุปกรณ์ที่ต้องเสียบปลั๊กไฟทุกชนิดมีโอกาสได้รับความเสียหายจากฟ้าผ่าทั้งสิ้น ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้โดนฟ้าผ่าตรงๆ แต่ก็อาจมีแรงดันเกินเกิดขึ้นกับสายไฟฟ้าในบริเวณใกล้เคียงกับที่โดนฟ้าผ่าแล้วไหลเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าทำให้เกิดความเสียหายในที่สุด อย่างไรก็ดี สำหรับในกรณีของโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น เชื่อว่าไม่น่าจะได้รับอันตรายจากฟ้าผ่าแต่อย่างใด ไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างการใช้งานหรือไม่ก็ตาม
       
       5.เก็บ “มือถือ” สื่อล่อฟ้า

       ทางด้าน นายสรรเสริญ ทรงเผ่า วิศวกรฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เจ้าของผลงาน “ระบบป้องกันฟ้าผ่า” ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2548 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่าวิธีที่ดีที่สุดคืออย่าอยู่ในที่โล่งแจ้ง หากอยู่ในที่โล่ง เช่น สนามกอล์ฟ ให้รีบกลับเข้าอาคาร ซึ่งการอยู่ในรถยนต์หรืออาคารจะปลอดภัยที่สุด โดยเฉพาะอาคารที่มีระบบป้องกันฟ้าผ่า และไม่ควรพกพาวัสดุวัสดุที่เป็นโลหะ เนื่องจากจะมีโอกาสถูกฟ้าผ่าได้มาก ส่วนโทรศัพท์มือถือก็เป็นสื่อล่อฟ้า เนื่องจากมีแผ่นโลหะ สายอากาศและแบตเตอรี่ซึ่งเป็นส่วนผสมของโลหะ
       
       นอกจากนี้ร่มกันฝนที่เราใช้กันนั้นมีแกนกลางที่เป็นโลหะซึ่งเป็นตัวล่อฟ้าได้ แต่โอกาสมีที่ฟ้าจะผ่าน้อยมาก ทั้งนี้วิศวกรจากทีโอทีอธิบายว่า ส่วนใหญ่เราจะกางร่มกันฝนในช่วงที่ฝนตกหนักซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฟ้าผ่าน้อยลง แต่ฟ้าจะผ่าหนักในช่วงก่อนเกิดฝน พร้อมทั้งอธิบายว่าขณะเกิดฟ้าผ่าใต้ต้นไม้ใหญ่จะมีแรงดันที่พื้นดิน ทำให้คนที่อยู่ใต้ต้นไม้ได้รับอันตรายเนื่องจากกระแสไฟฟ้าจะวิ่งผ่านขาข้างหนึ่งไปยังขาอีกข้างหนึ่ง ทำให้เกิดอาการ“ช็อก” เนื่องจาก "แรงดันระยะก้าว" ซึ่งเกิดจากการไหลของแรงดันในดิน ทำให้เกิดความต่างศักย์ในร่างกายและเป็นแรงดันที่ทำให้หัวใจหยุดเต้น ทั้งนี้ขณะเกิดฟ้าผ่าคนเราจะได้รับอันตรายจาก 3 ปฏิกิริยาคือ ปฏิกิริยาเชิงกลซึ่งทำให้เรากระเด็น ปฏิกิริยาทางความร้อนซึ่งทำให้ผิวหนังไหม้ และปฏิกิริยาไฟฟ้าซึ่งทำให้หัวใจหยุดเต้น
       
       นายสรรเสริญยังได้อธิบายอีกว่าฟ้าผ่านั้นเกิดจากความพยายามลดความต่างศักย์ระหว่างก้อนเมฆกับพื้นดิน เนื่องจากก้อนเมฆได้สะสมประจุไว้ในลักษณะไฟฟ้าสถิต จนมีน้ำหนักมากขึ้นจะเคลื่อนตัวลงเข้าใกล้พื้นดินทำให้เกิดความต่างศักย์ขึ้น โดยสนามไฟฟ้าสถิตที่กระทำระหว่างก้อนเมฆและพื้นดินจะเพิ่มขึ้น และยังให้ข้อสังเกตคล้ายกับ น.ส.อุมาภรณ์ ว่าปรากฏการณ์ฟ้าผ่าจะเกิดในช่วงเปลี่ยนฤดู จากการเปลี่ยนแปลงระหว่างอากาศแห้งกับอากาศชื้น ทั้งจากฤดูร้อนไปฤดูฝน และจากฤดูฝนไปฤดูหนาว 

ที่มา: https://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9490000082581

อัพเดทล่าสุด