อ.พญ.เจนจิต ฉายะจินดา
หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
“ฝ่าไฟแดง” เป็นคำที่สามารถใช้หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการมีประจำเดือน สตรีวัยรุ่นร้อยละ 2.4-4 และสตรีวัยผู้ใหญ่ร้อยละ 25-30 ตอบในแบบสอบถามว่าตนมีความสัมพันธ์ทางเพศขณะมีประจำเดือน โดยพบว่ากลุ่มวัยผู้ใหญ่มักเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาดี รายได้ดี และไม่รังเกียจความสกปรกของเลือด บางคนเชื่อว่า เลือดช่วยเป็นสารหล่อลื่นในการมีเพศสัมพันธ์และการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ถือเป็นการคุมกำเนิดไปในตัว ในขณะเดียวกัน ก็มีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่คิดว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งต้องห้าม น่ารังเกียจ
จากการศึกษาพบว่า พฤติกรรมนี้สัมพันธ์กับการถ่ายทอดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน หนองในเทียม พยาธิในช่องคลอด หูดหงอนไก่ เป็นต้น อย่างชัดเจนประมาณ 3เท่า เนื่องมาจาก 2 สาเหตุ ได้แก่
เหตุผลแรกคือ ระหว่างการมีประจำเดือน ปากมดลูกจะเปิดออกเพื่อให้เลือดประเดือน และเยื่อบุโพรงมดลูกออกมา การเปิดของปากมดลูกนี้ทำให้เชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นในช่องคลอดเองและจากการมีเพศสัมพันธ์สามารถเดินทางขึ้นไปในโพรงมดลูกได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ธาตุเหล็กที่อยู่ในเลือดประจำเดือนจะส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อหนองในได้ดีเป็นพิเศษ และการที่เยื่อบุโพรงมดลูกลอกหลุดเชื้อก็จะสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้มากขึ้น เกิดการติดเชื้อลุกลามได้
เหตุผลที่สองคือ ภูมิต้านทานในร่างกายต่อเชื้อแบคทีเรีย รา และไวรัส จะทำงานแย่ลงตั้งแต่ด่านแรกของร่างกายไปจนถึงการตอบสนองขั้นต่อๆ ไป โดยทั่วไปร่างกายจะมีกลไกป้องกันตนเองหลายชั้น ชั้นแรกจะเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติ เกิดขึ้นทันที จากนั้นจะมีการส่งต่อข้อมูลคล้ายกับการวิ่งผลัดไปจนถึงศูนย์บัญชาการแล้วศูนย์นั้นจะส่งสารออกมาทำลายเชื้อโรคอย่างมากและจำเพาะ ดังนั้นการมีการติดเชื้อในช่วงนี้สามารถทำให้เกิดอาการอักเสบภายหลังหมดประจำเดือนไปแล้วได้ถึง 1-2สัปดาห์
สำหรับการติดเชื้อบางอย่างที่ข้อมูลยังไม่ชัดเจน อาทิ การติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งโดยปกติ การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน ฝ่ายหญิงมีโอกาสติดจากฝ่ายชาย 10 ใน 10000 ในขณะที่ฝ่ายชายมีโอกาสติดจากฝ่ายหญิง 5 ใน 10000 เมื่อมีเลือดและสารคัดหลั่งออกมาอย่างมากอัตราการติดเชื้อน่าจะเพิ่มขึ้นทั้งสองฝ่ายอย่างมหาศาล แต่ข้อมูลในปัจจุบันก็ยังขัดแย้งกันอยู่
เชื้อเริมถือว่าเป็นเชื้อที่มีการถ่ายทอดได้ง่ายอยู่แล้ว ทั้งขณะมีและไม่มีรอยโรค ดังนั้น การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีประจำเดือนจึงไม่ได้เพิ่มการถ่ายทอดเชื้ออย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม โรคเริมมักกลับเป็นซ้ำมากช่วงมีประจำเดือนเพราะภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอลง ความแสบร้อนจนรำคาญจากรอยโรคจะช่วยให้ผู้ป่วยงดความสัมพันธ์ทางเพศ (ชั่วคราว) โดยอัตโนมัติ
จะเห็นได้ว่าการมีพฤติกรรมดังกล่าวเป็นความเสี่ยงต่อสุขอนามัยสตรีไม่มากก็น้อย ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงโดยการพูดคุยกับคู่สมรสของตนให้เข้าใจตรงกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มนิยมการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการมีประจำเดือน มีข้อควรคำนึงคือ คุณและคู่นอนของคุณจะต้องไม่เป็นผู้มีความสำส่อนทางเพศ และควรเฝ้าสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกายให้ดีเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
หากท่านมีข้อสงสัยใดหรือต้องการรับคำปรึกษาเพิ่มเติม กรุณาติดต่อได้ที่ หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี (คลินิก 309) โทรศัพท์ 02-412-9689 หรือ 02-419-7377 เวลา 07.00-15.30 น.
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก istockphoto
https://health.sanook.com/3645