5 เทคนิคการใช้ ‘ไฟเลี้ยว’ ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน


2,049 ผู้ชม


ไฟเลี้ยว เป็นอุปกรณ์สำคัญที่รถยนต์ทุกคันต้องมี เพื่อใช้ในการสื่อสารกันระหว่างการเดินทาง ซึ่งไฟเลี้ยวเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ต้องติดมากับรถทุกคัน  และมันจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุขณะเลี้ยวหรือเปลี่ยนเลนได้เป็นอย่างดี แต่นอกจากการขอทางหรือบอกทางแล้ว ไฟเลี้ยวยังทำหน้าที่อื่นๆได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเทคนิคเล็กเทคนิคน้อยที่ต้องรู้เกี่ยวกับการใช้ไฟเลี้ยวด้วย มาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง 

1. ยกก้านขึ้นเล็กน้อยเพื่อเปลี่ยนเลน

การเปิดไฟเลี้ยวเพื่อเปลี่ยนเลนนั้น ไม่จำเป็นต้องยกก้านจนสุด เพียงแต่ยกก้านขึ้นในระดับหนึ่งเพื่อให้ไฟเลี้ยวติดชั่วคราวเท่านั้น หากเป็นรถรุ่นใหม่ๆ ก็จะมีระบบไฟเลี้ยวเปลี่ยนเลนมาให้ด้วย โดยเมื่อยกก้านขึ้น 1 ครั้ง ไฟเลี้ยวจะกระพริบเป็นจำนวน 3 ครั้ง สำหรับการเปลี่ยนเลนโดยเฉพาะ 

2. กระพริบถี่ๆ แสดงว่าหลอดขาด

หากเปิดไฟเลี้ยวแล้วพบว่าไฟเลี้ยวข้างนั้นๆ หรือเสียงรีเลย์ดังถี่ผิดปกติ แปลว่าไฟเลี้ยวหลอดใดหลอดหนึ่งขาด ซึ่งอาจจะเป็นด้านหน้าหรือหลังก็ได้ ทางที่ดีควรรีบเปลี่ยนหลอดไฟทันทีเพื่อความปลอดภัยครับ 

3. ยกก้านค้างไว้ขณะดับรถจะเปลี่ยนเป็น Parking Light

รถยุโรปส่วนใหญ่นั้น หากยกก้านไฟเลี้ยวค้างไว้ขณะดับเครื่องยนต์ ไฟหรี่ข้างนั้นๆจะสว่างขึ้น เรียกว่า Parking Light ซึ่งบ้านเราคงไม่จำเป็นต้องใช้งานสักเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นกฎหมายของการจอดรถข้างทางในยุโรปบางประเทศเท่านั้น ทางที่ดีอย่าลืมปรับก้านไฟเลี้ยวให้อยู่ในตำแหน่งปกติเมื่อดับรถ เพื่อป้องกันไม่ให้กินแบตโดยไม่จำเป็น 

4.  หากยกขวา-ซ้ายสลับกันหมายถึงข้างหน้าอาจมีอุบัติเหตุ

จริงๆแล้วสัญญาณไฟเลี้ยวอาจมีความหมายอื่นนอกจากเตรียมเลี้ยวหรือเปลี่ยนเลน ซึ่งที่พบเห็นได้บ่อยๆ (ส่วนใหญ่จะเป็นรถตู้โดยสารและรถบรรทุก) ก็คือการเปิดไฟเลี้ยวซ้าย-ขวาสลับกันถี่ๆ ซึ่งบ่งบอกว่า ข้างหน้ามีการเบรกกะทันหัน ให้ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

5. เปิดไฟเลี้ยวล่วงหน้ากี่เมตรขึ้นอยู่กับความเร็ว

หากว่ากันตามกฏหมายแล้ว พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ระบุไว้ว่า หากผู้ขับขี่ต้องการเลี้ยวรถจะต้องชะลอรถและเปิดไฟเลี้ยวก่อนถึงทางเลี้ยวไม่น้อยกว่า 30 เมตร แต่ทางที่ดีควรแปรผันกับความเร็วรถในขณะนั้นเพื่อความปลอดภัยด้วย กล่าวคือ หากใช้ความเร็ว 30 กม./ชม. ก็ควรเปิดไฟเลี้ยวก่อนเป็นระยะทาง 30 เมตร หรือหากใช้ความเร็ว 60 กม./ชม. ก็ควรเปิดไฟเลี้ยวล่วงหน้าเป็นระยะทางราว 60 เมตร เป็นต้น

เมื่อรู้เทคนิคเหล่านี้ไปแล้วน่าจะช่วยให้คุณสามารถใช้ไฟเลี้ยวได้สะดวก และเข้าใจการใช้ไฟเลี้ยวของเพื่อนร่วมทางกันมากขึ้น

ที่มา: https://chaoprayanews.com

อัพเดทล่าสุด