เช็คด่วน! ปวดท้องแต่ละจุดแตกต่างกันยังไง และร่างกายต้องการจะบอกอะไรกับเรา
ปวดท้องข้างขวา ปวดท้องข้างซ้าย ปวดท้องตรงกลาง อาการปวดท้องแต่ละจุดของร่างกายก็หมายถึงอาการป่วยที่แตกต่างกัน มารู้จัก และตรวจสอบอาการปวดท้องในตำแหน่ง ๆ ต่าง เพื่อเช็กสุขภาพร่างกายด้วยตัวเองกับข้อมูลดี ๆ จากนิตยสารชีวจิตกันค่ะ
ปวดท้องด้านขวาตอนบน ความเจ็บปวดในบริเวณด้านขวาตอนบนของช่องท้อง มักเกิด จากโรคตับและถุงน้ำดี
ปวดท้องบริเวณแอ่งกระเพาะอาหาร แอ่งกระเพาะอาหาร คือ บริเวณที่อยู่ใต้ซี่โครงลงมา การเจ็บปวดบริเวณนี้มักเกิดจากการแสบกระเพาะอาหารและอาการไม่ย่อย โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบอาจเกิดขึ้นในบริเวณนี้ได้เช่นเดียวกัน บางครั้งโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่ถุงน้ำดีก็อาจเกิดขึ้นในบริเวณส่วนท้องที่เป็นแอ่งได้
ปวดท้องตรงกลาง ส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุมาจากโรคที่เกิดขึ้นที่ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้อาการปวดท้องที่บริเวณนี้อาจเกิดจากไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งมักเริ่มขึ้นที่บริเวณนี้ก่อนเสมอ แล้วจึงเลื่อนมาเป็นส่วนล่าง
ปวดท้องด้านซ้ายตอนบน อาจมีสาเหตุมาจากโรคต่าง ๆ ที่เกิดในลำไส้ใหญ่ เช่น โรคท้องผูกหรืออาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลำไส้ใหญ่ แต่หากมีอาการแสบกระเพาะอาหาร นั่นหมายถึงอาจเกิดจากกรดและอาการเจ็บปวดเนื่องจากแผลในกระเพาะ
ปวดท้องด้านขวาตอนล่าง อาจเป็นอาการของไส้ติ่งอักเสบอย่างเฉียบพลัน อาการอักเสบ ของลำไส้
ปวดท้องด้านซ้ายตอนล่าง อาการปวดที่เป็นลักษณะปวดและคลายสลับกันพร้อมกับ อาการท้องร่วง หรือเกิดจากอาการท้องผูก อาจเกิดจากโรคถุงตันที่ลำไส้ใหญ่อักเสบ (Diverticulitis)
กลุ่มอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด
อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด (dyspepsia) จะมีอาการหลัก คือ เมื่อตื่นเช้าจะสบายท้องดี แต่หลังรับประทานอาหารหรือเมื่อเริ่มทำงานจึงเริ่มอึดอัดท้อง และจะเป็นอยู่หลายชั่วโมง นอกจากนี้เป็นลักษณะอาการปวด จุกเสียด แน่นบริเวณหน้าท้อง เรอเหม็นเปรี้ยว เมื่อเรอแล้วจะสบายขึ้น หากมีอาการมาก ๆ ท้องจะเกร็ง อาการที่เกิดร่วมด้วยคือ เรอบ่อย ผายลมบ่อย ท้องใหญ่ขึ้น อาจจะมีอาการทั้งท้องผูกและท้องเสียร่วมด้วย ผู้ที่เป็นโรคนี้จะรับประทานอาหารได้ตามปกติ น้ำหนักไม่ลด ส่วนมากมักมีน้ำหนักเกิน
กลืนลำบาก
"อาการของหลอดอาหารที่สำคัญ คือ อาจเกิดจากก้อนเนื้อ หรือมะเร็ง หรืออาจเกิดจากกล้ามเนื้อหรือระบบการเคลื่อนไหวของหลอดอาหารไม่ดี ระบบประสาทไม่ทำงาน วิธีสังเกตก็คือ ถ้ากลืนแล้วติด โดยเฉพาะตรงกลางอก และต้องสังเกตว่าสิ่งที่กลืนลำบากนั้นเป็นของแข็งหรือของเหลว ถ้าเป็นมะเร็งแรก ๆ จะกลืนลำบากเฉพาะของแข็ง เช่นเนื้อสัตว์ ถ้าปล่อยไปเรื่อย ๆ ไม่ได้รักษา ต่อมาจะกลืนก้อนเล็ก ๆ หรือแม้แต่ของเหลวอย่างน้ำก็ไม่ได้ จะสำลัก ส่วนการกลืนลำบากที่ไม่ใช่สาเหตุจากมะเร็ง แต่เกิดจากการบีบตัวไม่เป็นจังหวะ ของหลอดอาหารนั้น จะกลืนไม่ได้ทั้งของแข็งและของเหลวแต่แรกเลย และอาจจะเป็น ๆ หาย ๆ สรุปแล้วถ้ากลืนลำบากต้องหาหมอก่อน อย่าสันนิษฐานเอง"
จุดเสี่ยงโรคฮิตที่ไม่ควรมองข้าม แสบร้อนกลางอกตอนกลางคืนส่อกรดไหลย้อน
"กรดไหลย้อน เป็นกรดจากกระเพาะที่ขึ้นไปในหลอดอาหาร ชาวตะวันตกเป็นมากกว่าชาวเอเชีย แต่ตอนนี้ชาวเอเชียเริ่มเป็นมากขึ้น เพราะไปกินอาหารเหมือนตะวันตก แล้วเริ่มอ้วน เพราะโรคนี้จะเป็นกับคนอ้วน กินแล้วนอน และเกิดจากหูรูดที่หลอดอาหารปิดไม่ค่อยสนิท กรดที่ไหลย้อนขึ้นมานี้อาจทำให้อักเสบ เป็นแผล หรือเลือดออกได้ อาการชัดเจนคือ แสบร้อนกลางอก จะเป็นเวลานอนตอนกลางคืน นอกจากนี้เวลานอนอาจจะไอสำลัก หอบ ซึ่งอาจทำให้นึกว่าเป็นโรคปอด โรคหัวใจ แต่ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นคนที่มีอาการตอนกลางคืนต้องนึกถึงกรดไหลย้อนด้วย"
หลังอาหารมื้อหนัก หากยกของหนักหรือว่านอนหงายกรดก็จะไหลขึ้นมาทำให้เกิดอาการแสบได้
โรคที่เกิดกับกระเพาะก็มีได้ทั้งโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจจะมีทั้งเลือดออก การอุดตัน หรือทะลุ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแผลที่กระเพาะอาหารกัน สาเหตุใหญ่ ๆ ที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะเกิดจากการติดเชื้อโรค Helicobacter pylori และการกินยา NSAIDs (Non-steroidal anti-inflammatory drugs)
สำหรับเชื้อโรค Helicobacter pylori จะอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา มากกว่าในประเทศที่เจริญแล้ว อยู่ในสภาพที่สกปรก แออัดเชื้อโรคจะอยู่ในน้ำ อยู่ในตัวคน ในน้ำลาย อาหารที่อาเจียนออกมาของเด็ก ๆ ถ้าไม่ติดตอนเด็กมักจะไม่เป็นอีกแล้ว โดยมากเราจะติดโรคนี้ตอนเราเป็นเด็ก บ้านไหนที่ลูกดก ก็จะมีเชื้อโรคนี้ได้ง่าย ซึ่งก็ทำให้เกิดกระเพาะอักเสบ เกิดแผล เกิดมะเร็งได้ ซึ่งหากตรวจพบเชื้อและฆ่าเชื้อนี้ได้ก็จะหาย
นอกจากนี้ยา NSAIDs ซึ่งเป็นยาแก้ปวด แก้โรคข้อ แก้อักเสบข้อ ซึ่งผู้สูงอายุบางคน คนที่เป็นโรคเกาต์ รูมาตอยด์ โรคกล้ามเนื้ออักเสบ ที่มักจะกินเป็นประจำ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีผลต่อกระเพาะ คือทำให้เกิดแผล เลือดออก ทะลุ หรืออุดตัน เพราะฉะนั้นอย่าซื้อยากินเอง
ไอบีเอสไม่ใช่โรค
ไอบีเอสมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ท้องอืด แน่นท้อง มีลมมาก เรอและผายลมบ่อย ๆ อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ ไปตรวจก็ไม่เจออะไร แต่ไม่หายสักที อาจจะเป็นระยะเวลาหลายเดือนหรือเป็นปีก็ได้ นอกจากนี้หากเครียดหรือมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อาการก็จะรุนแรงขึ้นได้
ไอบีเอสจะมีอาการปวดท้องไม่สบายในท้องซึ่งสัมพันธ์กับการถ่ายอุจจาระ และลักษณะของอุจจาระที่ถ่ายออกมา เช่น เมื่อปวดท้อง พอได้ถ่ายอุจจาระแล้วสบายท้อง หรือได้ถ่ายอุจจาระแล้วท้องเดิน หรือถ่ายอุจจาระแล้วแข็ง
จุกแน่นชายโครงขวาระวังตับอักเสบเรื้อรังและมะเร็งตับ
สาเหตุของโรคตับอักเสบเรื้อรัง เกิดจากหนึ่งเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี สองเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี สามการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และสี่คือความอ้วน ซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้วว่าทำให้ตับแข็งและเป็นมะเร็งตับได้เช่นกัน นอกจากนี้คนที่ได้รับสารอัลฟาทอกซิน และมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง ทำให้เป็นมะเร็งตับได้เช่นกัน
หลังจากได้รับเชื้อ เชื้อจะฟักตัวอยู่ 2-3 เดือน ช่วงนั้นจึงอาจไม่มีอาการผิดปกติอะไรเลย อาจมีอ่อนเพลียเล็กน้อย คลื่นไส้ อาเจียน และจะจุกแน่นที่ชายโครงขวาซึ่งเป็นที่อยู่ของตับ ถ้าเกิดมีการอักเสบขึ้นมาก็จะเจ็บที่บริเวณนี้มากขึ้น อาจมีไข้ และตัวเหลือง เมื่อตับวาย เราจะผอม กล้ามเนื้อลีบ ไม่เผาผลาญสารอาหาร ไม่กำจัดสารที่มีพิษ เราก็จะมีพิษสะสมในร่างกายมาก
"เมื่อเป็นตับอักเสบ เป็นตับแข็ง จะทำให้เป็นมะเร็งได้ในที่สุด แม้จะทำการรักษาหรือหยุดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์แล้ว แม้ไวรัสจะหายไปแล้ว แต่ตับแข็งจะดำเนินไปเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งจะเป็นมะเร็งได้ สาเหตุของมะเร็งจึงมาจากตับแข็ง สาเหตุของตับแข็งมาจากสี่สาเหตุข้างต้น"
แน่นท้องหลังกินอาหารไขมันสูงอาจเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี
"โรคนิ่วในถุงน้ำดีนี้มักเป็นกับผู้หญิงอ้วน อายุ 40 ขึ้นไป กินอาหารไขมันสูง หรือมีลูกดก เพราะการตั้งครรภ์แต่ละครั้งถุงน้ำดีจะไม่ค่อยบีบตัวแต่จะนิ่ง พอนิ่งก็ตกตะกอน ทำให้เกิดนิ่วได้"
บางคนหลังทานอาหารจะอึดอัดเหมือนอาหารไม่ย่อย และมักจะเป็นหลังทานอาหารไขมันสูง สังเกตได้จากความรุนแรงของอาการ คือ ยิ่งถ้าทานอาหารที่มีไขมันเข้าไปมาก ๆ ก็จะรู้สึกแน่นมากขึ้น ถ้าเกิดนิ่วที่ไปอุดท่อน้ำดีจะปวดที่ชายโครงขวา อาจร้าวไปถึงไหล่ขวาได้ ปวดท้อง ถ้าเกิดนิ่วอุดที่ท่อน้ำดีก็จะมีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง อาจจะทำให้เป็นถุงน้ำดีอักเสบได้
อุจจาระผิดปกติเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
"กลุ่มเสี่ยงของโรคนี้คือผู้ชายอายุ 50 ขึ้นไป ที่กินมันสัตว์เยอะ กินเนื้อสัตว์เยอะ ท้องผูก ไม่ออกกำลังกาย และมีพฤติกรรมสูบบุหรี่"
อาการที่ส่อว่าจะเป็นมะเร็งคือ ปวดท้อง อาเจียน ไม่ผายลม ท้องผูกไม่ถ่ายอุจจาระ ถ้าเกิดก้อนเนื้อที่ด้านซ้ายจะมีอาการท้องผูกสลับท้องเสียและอุจจาระลำเล็กลง หรือเป็นก้อนเล็ก ๆ เพราะก้อนมะเร็งทำให้ลำไส้อุดตัน ถ้ามะเร็งเกิดที่ด้านขวามักจะคลำเจอก้อน ถ้าเกิดก้อนในส่วนลำไส้ใหญ่ส่วนตรงจะทำให้ปวดทวารหนัก ความรู้สึกว่าถ่ายไม่สุด ถ่ายเป็นเลือด นอกจากนี้อาจมีก้อนออกมาทางทวารหนัก ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต
ปวดเบ่งต้นทางโรคริดสีดวงทวาร
"เกิดจากหลอดเลือดดำของบริเวณลำไส้ใหญ่โป่งพองหรือยื่นออกมา สาเหตุ หนึ่งคือปัจจัยทางพันธุกรรม สองคนที่ต้องยืนหรือนั่งนาน ๆ เพราะเลือดไหลกลับเข้าช่องท้องได้ไม่ค่อยดี จะคั่งอยู่บริเวณปลายลำไส้ใหญ่"
อาการเริ่มแรกจะมีอาการปวดเบ่ง เหมือนอยากถ่ายแต่ถ่ายไม่ออก ขณะถ่ายอุจจาระ มักมีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน ระคายเคืองและรู้สึกไม่สบายบริเวณทวารหนัก
ถ้าทานอาหารกากใยน้อยจะทำให้การขับถ่ายไม่ดี เวลาเราถ่ายจะต้องเบ่งเยอะ ทำให้ความดันในช่องท้องสูง ทำให้เส้นเลือดในบริเวณก้นมันโป่ง
ฟื้นฟูเพื่อระบบย่อยแข็งแรง
โดยรวมอาหารที่มีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหารอันดับหนึ่ง คือ อาหารที่มีกากใยสูงก็มีส่วนช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้นค่ะ เพราะอาหารที่มีกากใยสูงเปรียบเสมือนไม้กวาด ที่คอยทำความสะอาดลำไส้ ตับ และระบบ ย่อยอาหารให้ทำงานดีขึ้น และยังป้องกันไม่ให้โปรตีนในลำไส้เกิดการบูดเน่า
อาหารที่มีเอนไซม์ก็ดีต่อการช่วยย่อยเช่นกัน เช่น สับปะรด ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีเอนไซม์สูงช่วยย่อยโปรตีน ช่วยรักษาอาการอักเสบในทางเดินอาหาร มะละกอ มะม่วง มีเอนไซม์ชื่อปาเปนที่มีลักษณะคล้ายกับน้ำย่อยเปปซินในกระเพาะอาหาร ช่วยทำความสะอาดลำไส้และช่วยย่อยอาหารได้ดี
นอกจากนี้อาหารบางประเภทก็มีประโยชน์ในการเยียวยาโรคบางชนิดได้ เช่น โยเกิร์ต ถั่วเมล็ดแห้ง สลัดใบเขียว มันเทศ ผลไม้ต่างๆ แครอท ก็มีประโยชน์ต่อโรคลำไส้แปรปรวนโดยตรง เพราะโยเกิร์ตมีแบคทีเรียตัวดีที่ช่วยให้แบคทีเรียฟลอราในลำไส้เจริญเติบโต ซึ่งช่วยบรรเทาอาการของลำไส้แปรปรวนได้ ขณะที่ถั่วเมล็ดแห้ง สลัดผักใบเขียว มันเทศ มีใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำช่วยป้องกันอาการท้องผูก ส่วนผลไม้ต่าง ๆ และแครอทซึ่งมีเส้นใยอาหารละลายน้ำจะช่วยลดอาการท้องร่วงในผู้ที่เป็นโรคนี้ได้
สำหรับภาวะกรดไหลย้อน ก็มีถั่วเมล็ดแบน มันฝรั่ง ข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดขาว มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่กระเพาะย่อยได้ง่ายก็ช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนที่อก ยอดแค ถั่วเมล็ดแห้ง ผักต่าง ๆ ช่วยทำให้รู้สึกอิ่มท้อง ช่วยลดน้ำหนักได้ และบรรเทาอาการแสบร้อนที่อกได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่า อาหารประเภทเต้าหู้ ถั่วเมล็ดแห้งโดยเฉพาะถั่วที่มีสีแดงและสีขาว มีส่วนช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารได้ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาจากดัชนีมวลกายทั้งชายและหญิง โดยน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ให้ได้ดัชนีมวลกายไม่ให้เกิน 23 วัดรอบเอวดู ผู้หญิงรอบเอวไม่เกิน 80 เซนติเมตร ผู้ชายไม่เกิน 90 เซนติเมตร การออกกำลังกายที่ดีต่อระบบย่อย น่าจะเป็นการเดินหรือการวิ่งเพราะจะได้เคลื่อนไหว ทำให้ระบบดียิ่งขึ้นถ่ายอุจจาระก็ง่ายขึ้นด้วย
ที่มา: www.cheewajit.com