นี่คือสาเหตุของหนูน้อยผู้โชคร้ายรายนี้ เกิดมาไม่มีผิวหนัง
นี่คือสาเหตุของหนูน้อยผู้โชคร้ายรายนี้ เกิดมาไม่มีผิวหนัง
ข้อมูลจากเว็บไซต์ th.theasianparent.com รายงานว่า มี Case study ชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Pakistan Medical Association ซึ่งทำการศึกษาหาสาเหตุว่าทำไม ทารกรายนี้จึงเกิดมาไม่มีผิวหนัง
หนูน้อยผู้โชคร้าย เกิดมาไม่มีผิวหนัง
ทารกตัวน้อย ได้รับการผ่าคลอดในสัปดาห์ที่ 38 ของการตั้งครรภ์ เนื่องจากมีสัญญาณภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาพบว่ากว่า 90% ของร่างกายหนูน้อยไม่มีผิวหนังปกคลุม ไม่มีเล็บ ไม่มีผม ไม่มีขนตาและคิ้ว ไม่มีหัวนม หูผิดรูป และเห็นเส้นเลือดอย่างชัดเจนเกือบทั้งตัว หนูน้อยมีน้ำหนักตัวเพียง 1.02 กก. และวัดเส้นรอบศีรษะได้เพียง 26.5 cm (ปกติราว 33- 38 cm) และอยู่ในตู้อบได้เพียง 4 วันก็เสียชีวิต
รู้จัก โรคผิวหนัง Aplasia cutis congenita
โรคผิวหนัง Aplasia cutis congenita เป็นภาวะที่ไม่มีผิวหนังปกคลุมตั้งแต่เกิด ซึ่งอาจเกิดเฉพาะที่หรือกระจายตามร่างกายก็ได้ โรคนี้พบได้ไม่บ่อย ส่วนมากตำแหน่งของการเกิดโรคพบบริเวณศีรษะ สามารถพบได้ทุกเชื้อชาติ และไม่ว่าหญิงหรือชาย
หาต้นตอที่ทำให้เกิดความผิดปกติ
แม่ของหนูน้อยมีประวัติผ่าคลอดมาแล้วสองครั้ง โดยลูกทั้งสองปลอดภัยและแข็งแรงดี เธอไม่มีประวัติของโรคอีสุกอีใสหรืองูสวัดในระหว่างตั้งครรภ์ แต่มีประวัติการเป็นโรคตุ่มพองน้ำใสชนิดลึก (pemphigus vulgaris)
โรคตุ่มน้ำพอง pemphigus คืออะไร
พญ.อรยา กว้างสุขสถิตย์ สถาบันโรคผิวหนัง ให้ข้อมูลว่า โรคเพมฟิกัส (pemphigus) เป็นโรคตุ่มน้ำพองเรื้อรังที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ โดยมีการสร้างแอนติบอดี้มาทำลายการยึดเกาะของเซลล์ผิวหนัง ผิวหนังจึงหลุดลอกออกจากกันโดยง่าย ทำให้เกิดอาการตุ่มน้ำพองที่ผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ เป็นโรคที่พบไม่ แต่สามารถพบได้ทุกวัย รวมถึงในเด็ก เพศชายและหญิงมีโอกาสเกิดโรคเท่ากัน
อาการหลักที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์คือ ตุ่มน้ำพอง หรือแผลถลอกเรื้อรังที่บริเวณร่างกาย หรือเยื่อบุ โดยที่ 50 – 70% มีอาการแผลในปากเรื้อรังเป็นอาการแรก ซึ่งอาจนำมาก่อนอาการทางผิวหนังโดยเฉลี่ยประมาณ 5 เดือน โดยทั่วไปจะตรวจไม่พบตุ่มน้ำในช่องปาก มักพบเป็นแผลถลอกที่บริเวณเหงือก กระพุ้งแก้ม หรือเพดานปาก รอยถลอกอาจพบเป็นบางบริเวณหรือกระจายทั่วทั้งปาก ทำให้มีอาการเจ็บปวดมาก และอาจเกิดรอยโรคที่บริเวณกล่องเสียง ทำให้มีอาการเสียงแหบได้
เมื่อแม่ท้องต้องรักษาด้วยยาอันตราย
เธอได้รับการรักษาด้วยยาเพรดนิโซโลน 60 มิลลิกรัม/วันในช่วง 2 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ จากนั้นค่อยๆ ลดปริมาณยาเหลือเพียง 30 มิลลิกรัม/วัน ไปจนตลอดการตั้งครรภ์
นอกจากยากเพรดนิโซโลนแล้ว เธอยังได้รับยา azathioprine 150 มิลลิกรัม/วัน ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ จากนั้นแพทย์ค่อยๆ ลดปริมาณยาเพรดนิโซโลนลงเหลือเพียง 15 มิลลิกรัมวันเว้นวัน หลังจากที่เธอคลอดลูกแล้ว
บทความแนะนำ รู้ไว้ไม่เสี่ยง! 6 ข้อห้ามสำหรับคนท้อง 1-3 เดือนแรก
- ยา prednisolone กับคนท้อง
ยาเพรดนิโซโลนถือได้ว่ามีความปลอดภัยในการตั้งครรภ์ เนื่องจากยาผ่านรกในรูป active form เพียง 10 % จากการศึกษาที่ผ่านๆ มาพบว่าการใช้ยา prednisolone ในหญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อพัฒนาการที่ผิดปกติของทารกน้อยมาก
- ยา azathioprine กับคนท้อง
ส่วนยาอะซาไธโอพรีน เป็นยาที่องค์การอาหารและยาจัดให้อยู่ในประเภท D ซึ่งมีการพิสูจน์แน่นอนแล้วว่ามีผลเสียต่อทารกในครรภ์ทั้งในมนุษย์และสัตว์ทดลอง แต่หากจำเป็นก็สามารถใช้ได้เนื่องจากพบว่าประโยชน์ที่ได้จากการใช้ยานั้นมีมากกว่าความเสี่ยงที่ทารกในครรภ์จะได้รับอันตรายจากยา
เนื่องจากแม่ของหนูน้อยป่วยเป็นโรคที่มีความรุนแรง จึงมีความจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษาอาการผิดปกติของแม่ระหว่างตั้งครรภ์ ทีมนักวิจัยจึงเชื่อว่า การที่แม่ได้รับยา azathioprine ระหว่างตั้งครรภ์ อาจจะเป็นสาเหตุหรือมีโอกาสที่จะทำให้เกิดความผิดปกติของหนูน้อยคนนี้ได้ เนื่องจากมีรายงานในเด็กที่แม่รับประทานยาอะซาไธโอพรีนขณะตั้งครรภ์ พบว่าทารกเจริญเติบโตช้า เพิ่มความเสี่ยงการตายคลอด คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดต่ำ และมีความเสี่ยงที่จะผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ศีรษะเล็ก เกิดความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกสันหลัง มือและเท้า ปอด กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ระบบโลหิต เป็นต้น
แน่นอนว่า ไม่มีแม่คนไหน หรือหมอคนไหนอยากให้ทารกในครรภ์เป็นอันตรายหรอกค่ะ แต่หากคุณแม่ไม่สบาย ก็มีความจำเป็นต้องใช้ยา ซึ่งยาบางชนิดอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ ฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุด คุณแม่ควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงบุคคลหรือสถานที่ที่อาจทำให้ติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย เพื่อให้มั่นใจว่าลูกน้อยในท้องจะเจริญเติบโตและมีสุขภาพแข็งแรงสมกับที่คุณแม่รอคอยค
ที่มา jpma.org.pk, manager.co.th
จากเว็บไซต์ th.theasianparent.com