ใส่ผ้าอนามัยแผ่นเดิมนาน ๆ เสี่ยงมะเร็งปากมดลูกจริงหรือ มาคลายความสงสัยพร้อมเรียนรู้อันตรายจากผ้าอนามัยหากไม่ยอมเปลี่ยนบ่อย ๆ และวิธีใส่ผ้าอนามัยที่ถูกต้อง
อีกความเชื่อหนึ่งที่ทำให้สาว ๆ หลายคนถึงกับหวาดผวากันไปตาม ๆ กันเกี่ยวกับเรื่องการใช้ผ้าอนามัย ก็คือเรื่องที่คนแชร์กันว่า ถ้าใส่ผ้าอนามัยแผ่นเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูกได้ แต่ทว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ แล้วนอกจากนี้ยังมีอันตรายใดที่อาจเกิดได้จากการใส่ผ้าอนามัยนาน ๆ อีกบ้าง วันนี้เรามีคำตอบมาเล่าสู่กันฟังให้สาว ๆ ได้ทราบกันแบบกระจ่างกันไปเลย
เรื่องความเชื่อที่ว่าใส่ผ้าอนามัยแผ่นเดิมเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่เปลี่ยนแผ่นใหม่แล้วจะทำให้เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น ขอบอกเลยค่ะว่าเป็นความเชื่อที่ผิดโดยสิ้นเชิง เพราะจริง ๆ แล้วสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกนั้นไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งแพทย์หญิงธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล ได้อธิบายถึงเรื่องดังกล่าวในทวิตเตอร์ @thidakarn ไว้ว่า การใส่ผ้าอนามัยนานเกินไปจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้น และทำให้เกิดการติดเชื้อได้ แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดโรคมะเร็งแต่อย่างใดค่ะ
นอกจากนี้จากการตรวจสอบก็ยังไม่พบว่ามีงานวิจัยใดออกมาระบุชัด ๆ ว่าการใส่ผ้าอนามัยนานเกินไป จะทำให้เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าโรคมะเร็งปากมดลูก มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์เท่านั้น และสามารถติดต่อกันได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง จึงไม่เกี่ยวกับการใส่ผ้าอนามัยนานเกินไป
อย่างไรก็ตาม ได้ยินแบบนี้แล้วก็อย่าเพิ่งโล่งอกเสียทีเดียว เพราะหากสาว ๆ ใส่ผ้าอนามัยแผ่นเดิมนานเกินไปโดยไม่เปลี่ยน ก็ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเกิดเชื้อราในร่มผ้า และอาจเกิดอาการเหล่านี้ตามมาได้
- อาการคัน เพราะเมื่อแบคทีเรียที่อยู่ในผ้าอนามัยที่ใช้แล้วเพิ่มจำนวนมากขึ้นจะส่งผลให้เกิดการระคายเคืองผิวบริเวณอวัยวะเพศ บางรายอาจถึงขั้นมีผื่นแดงขึ้นที่อวัยวะเพศได้
- เชื้อแบคทีเรียที่เกิดขึ้นจากผ้าอนามัยที่ใช้แล้วเมื่อสัมผัสกับอากาศจะทำให้เกิดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์และทำให้หมดความมั่นใจได้
- ความอับชื้นที่มาจากผ้าอนามัยจะส่งผลให้เกิดเชื้อรา ซึ่งเชื้อราเหล่านี้อาจจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางช่องคลอด จนกลายเป็นปัญหาเชื้อราในช่องคลอดและก่อให้เกิดอาการคันภายใน
- เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดและทางเดินปัสสาวะ ทำให้ช่องคลอดอักเสบ หรือถ้าเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ทางเดินปัสสาวะก็อาจจะทำให้เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือกรวยไตอักเสบได้เช่นกัน
วิธีใช้ผ้าอนามัยที่ถูกต้อง
ได้ทราบถึงอันตรายของการใส่ผ้าอนามัยนาน ๆ กันไปแล้ว คราวนี้เรามาลองทบทวนเรื่องการใช้ผ้าอนามัยที่ถูกต้องกันดีกว่า เพราะการใช้ผ้าอนามัยอย่างถูกวิธีไม่เพียงแค่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ยังช่วยทำให้คุณสาว ๆ รู้สึกมั่นใจมากขึ้นอีกด้วย โดยวิธีใช้ผ้าอนามัยที่ถูกต้องมีดังนี้
1. เปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 6 ชั่วโมง
ในช่วงเป็นประจำเดือน จุดซ่อนเร้นของคุณสาว ๆ จะมีความอับชื้นมากเป็นพิเศษ และก่อให้เกิดการหมักหมมของเชื้อโรค ดังนั้นในช่วงเป็นประจำเดือนควรเปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างน้อยทุก ๆ 6 ชั่วโมง หรือถ้าประจำเดือนมากก็ควรจะเปลี่ยนให้ถี่ขึ้น เพื่อไม่ได้เกิดการสะสมของเชื้อโรคมากจนเกินไปค่ะ
2. เลือกผ้าอนามัยให้เหมาะกับตัวเอง
สาว ๆ แต่ละคนต่างก็มีปริมาณประจำเดือนที่ต่างกัน บางคนมามาก บางคนมาน้อย หรือบางคนอาจจะมามากแค่ในช่วงแรก ดังนั้นจึงควรเลือกผ้าอนามัยที่เหมาะกับตัวเอง เพื่อที่จะได้ไม่พบกับปัญหาซึมเปื้อน
3. หากมีปัญหาผดผื่นที่อวัยวะเพศควรรีบรักษา
ปัญหาผดผื่นที่เกิดจากผ้าอนามัยเป็นเรื่องที่สาว ๆ พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งบ้างก็เกิดจากการแพ้ผ้าอนามัย หรือเกิดจากการหมักหมมของเชื้อโรค ดังนั้นถ้าหากมีผดผื่นขึ้น ควรรีบรักษาด้วยการทาครีมแอนตี้เซปติกเพื่อให้ผดผื่นลดลง นอกจากนี้หากเกิดจากการแพ้ผ้าอนามัยก็ควรเปลี่ยนยี่ห้อค่ะ หรือถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียก็ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ ค่ะ
4. ห่อผ้าอนามัยที่ใช้แล้วและทิ้งในถังขยะที่มิดชิด
ผ้าอนามัยที่ใช้แล้วเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคชั้นดี อีกทั้งยังทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่าย ดังนั้นทุกครั้งที่คุณผู้หญิงเปลี่ยนผ้าอนามัยไม่ควรทิ้งลงในชักโครก หรือทิ้งโดยไม่ได้ห่อให้มิดชิด ควรหากระดาษมาห่อให้เรียบร้อยและทิ้งในถังขยะที่มิดชิด เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย
5. พกผ้าอนามัยติดตัวไว้เสมอ
ไม่ว่าจะเป็นประจำเดือนหรือไม่ การพกผ้าอนามัยไว้ก่อนก็ถือว่าเป็นวิธีที่ควรทำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่วงที่เป็นประจำเดือน ยิ่งควรพกผ้าอนามัยไว้ให้เพียงพอต่อการเปลี่ยนในแต่ละวัน เพื่อสุขอนามัยที่ดี
ได้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใส่ผ้าอนามัย แถมยังได้เห็นถึงอันตรายจากการสวมใส่ผ้าอนามัยนาน ๆ แบบนี้แล้ว คงจะพอทำให้คุณสาว ๆ หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพจุดซ่อนเร้นกันมากขึ้นนะคะ เพราะปัญหาสุขภาพจากจุดซ่อนเร้นไม่ได้มีแค่เพียงมะเร็งปากมดลูก แต่ยังมีโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ที่อันตรายอีกมากมาย กันไว้ย่อมดีกว่ามาตามแก้ทีหลังนะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ทวิตเตอร์ @thidakarn
ศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
https://health.kapook.com/view145414.html