สุดยอด! สมุนไพรแก้ผดผื่นคันหน้าร้อน หายได้ด้วยของดีใกล้ตัว มาดูกัน...


10,281 ผู้ชม

สมุนไพรแก้ผดผื่นคันหน้าร้อน หนึ่งทางเลือกในการรักษาผดผื่นคัน โดยเฉพาะอากาศร้อน ๆ ที่มักจะมีอาการกันมากขึ้น


สมุนไพรแก้ผดผื่นคันหน้าร้อน หนึ่งทางเลือกในการรักษาผดผื่นคัน โดยเฉพาะอากาศร้อน ๆ ที่มักจะมีอาการกันมากขึ้น
ปกติอาการคันบนผิวหนังก็รบกวนความสงบสุขของเรามากพออยู่แล้ว แต่ในช่วงหน้าร้อน ยิ่งอากาศร้อนก็ยิ่งเหมือนผดผื่นคันจะเห่อขึ้นมากเป็นเท่าตัว ตาย ๆ ปล่อยไปแบบนี้ผิวคงเสียโฉมจนอาจกู่ไม่กลับ งั้นเรามาแก้ผดผื่นคันหน้าร้อนด้วยสมุนไพรใกล้ตัวทั้ง 15 ชนิดนี้ดีกว่า

1. แตงกวา

 แตงกวามีคุณสมบัติของความเย็น ดังนั้นเมื่อเกิดผดผื่นคันหน้าร้อนก็จะช่วยบรรเทาความร้อนและความแสบของผื่นคันเหล่านั้นได้ โดยฝานแตงกวาเป็นแว่นบาง ๆ แล้วนำมาประคบบริเวณที่รู้สึกคันและแสบร้อนได้เลย


2. ตำลึง
    
ตามตำรับยาสมุนไพรบ่งชี้เลยว่าตำลึงเป็นยาเย็น ดับพิษร้อน สามารถแก้ผื่นคันและผดร้อนที่เกิดขึ้นตามผิวหนังได้ โดยนำใบตำลึงสดประมาณ 4-5 ใบมาขยี้ให้พอได้น้ำตำลึงมาทาบริเวณผื่นคัน 
3. มะระ
หวานเป็นลม ขมอย่างมะระก็ต้องเป็นยา โดยมะระมีสรรพคุณแก้ผื่นคันได้เป็นอย่างดี เพียงแค่นำใบมะระสดมาต้ม จากนั้นคั้นเอาน้ำมาทาแก้ผดผื่นคันและผดร้อนตามผิวหนังได้เลย หรือจะใช้ผลตากแห้งมาบดจนเป็นผงแล้วโรยผิวหนังที่เป็นผดร้อนก็ได้เช่นกัน
4. เปลือกกล้วย
เปลือกกล้วยก็มีฤทธิ์เย็น สามารถบรรเทาผดผื่นคันและอาการแสบร้อนบริเวณผิวหนังได้ โดยใช้ด้านในของเปลือกกล้วยมาประคบผดผื่นร้อน ถูเบา ๆ และวางทิ้งไว้สักพักจนอาการทุเลาลง

5. เปลือกแตงโม
นอกจากจะเป็นผลไม้คลายร้อนแล้วเปลือกของแตงโมยังมีฤทธิ์เย็นไม่ต่างจากแตงกวาสักเท่าไร ฉะนั้นหากกินเนื้อแตงโมหมดแล้วก็อย่าเพิ่งทิ้งเปลือกเลยนะคะ เพราะเมื่อเกิดผดร้อนและผื่นคัน เราสามารถนำเปลือกด้านในของแตงโมมาประคบผิวหนังได้อีกต่อ

6. ว่านหางจระเข้
วุ้นในว่านหางจระเข้มีความเย็น และมีคุณสมบัติบรรเทาอาการแสบร้อน รวมทั้งรอยไหม้บนผิวหนังได้อย่างดี แต่พวกผื่นคันและผดร้อน หรือแม้กระทั่งอาการคันจากผื่นแพ้ว่านหางจระเข้ก็แก้ได้ชะงัดไม่น้อยหน้าไปกว่ากันเลยล่ะ
    


7. มะยม

รากตัวผู้ของมะยมมีสรรพคุณรักษาโรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคันได้ชะงัด อีกทั้งยังช่วยขับน้ำเหลืองให้แห้งเร็วขึ้นด้วย โดยใช้รากมะยมล้างสะอาดมาต้มดื่มเป็นประจำ หรือจะนำมาทาถูบริเวณที่เกิดผดร้อนด้วยก็ได้


8. ขมิ้นชัน
นำเหง้าขมิ้นยาวประมาณ 2 นิ้ว มาฝนใส่ในน้ำต้มสุกแล้วใช้ทาบริเวณผดร้อนและผื่นคัน หรือจะใช้ผงขมิ้นโรยบริเวณที่มีอาการคันและแสบร้อนก็ได้ค่ะ ขมิ้นมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ลดการอักเสบ และช่วยขับน้ำได้ดี

9. สะเดา
    
สะเดามีสรรพคุณต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส ดังนั้นหากมีอาการคันบริเวณผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นผดร้อน ผื่นคันจากอาการแพ้ หรือผื่นคันทั่วไป ก็สามารถนำน้ำต้มสะเดามาทาถูบริเวณที่คันได้เช่นกัน

10. ไพล
    
น้ำมันหอมระเหยจากไพลจะช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น ลดอาการคัน ผดร้อน และผดผื่นจากการแพ้ได้ โดยนำเหง้าสดของไพลมาฝานบาง ๆ และนำไปต้มจนได้น้ำมันมาใช้แก้คันต่อไป
 


11. ใบพลู
 

สารสำคัญในใบพลูมีหลายชนิดซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาชาและช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ยับยั้งการเติบโตและฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของวัณโรคและเชื้อหนอง ต้านเชื้อราของโรคผิวหนังและกลากเกลื้อน ฮ่องกงฟุต ดังนั้นเมื่อเกิดผดร้อนหรือผื่นคันให้นำใบพลูสดโขลกให้ละเอียด ผสมเหล้าขาวเล็กน้อย ใช้ทาจนหาย 


12. มะนาว
เห็นเปรี้ยว ๆ แบบนี้มะนาวก็มีสรรพคุณช่วยแก้ผื่นคันที่เกิดเพราะอากาศร้อน ๆ ได้ เนื่องจากมะนาวมีคุณสมบัติช่วยลดความมันส่วนเกินบนผิวหนัง อีกทั้งยังช่วยบำรุงผิวพรรณให้กระชับเต่งตึงอีกต่างหาก


13. ข่า
 

นอกจากกลิ่นหอม ๆ แล้ว ข่ายังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราติดอยู่กับตัวเอง โดยในการแก้ผดร้อนและผื่นคันที่มากับหน้าร้อน ให้ใช้เหง้าข่าแก่ ๆ 1 แง่ง ตำให้ละเอียด แล้วผสมกับเหล้าขาวให้พอขลุกขลิก จากนั้นใช้ทั้งน้ำและเนื้อข่ามาทาบริเวณที่เกิดผดร้อนจนกว่าอาการจะทุเลา


14. ประคำดีควาย
 

สมุนไพรที่มีมานานอย่างประคำดีควาย จุดนี้หากจะนำมาแก้ผดร้อนและผื่นคันแนะนำให้ใช้ส่วนดอกประคำดีควายค่ะ โดยนำดอกประคำดีควายประมาณ 4-5 ดอก ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยตวง และนำน้ำที่คั้นได้มาทาผิวหนังทุกเช้า-เย็น


15. ฟ้าทะลายโจร
    
ฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณเกือบเทียบเท่ายาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคหวัดทั่วไป อีกทั้งยังสามารถรักษาฝีและแผลอักเสบได้ด้วย แต่สำหรับอาการผดร้อนและผื่นคันจากอากาศร้อนจัด ให้นำใบสดของฟ้าทะลายโจรมาคั้น จากนั้นนำน้ำมาทาบริเวณที่เกิดอาการได้เลย

 
15 สมุนไพรไทยใกล้ตัวทั้งหมดนี้ ก็หาไม่ยากเท่าไร และหากรู้สรรพคุณของสมุนไพรเหล่านี้แล้วก็เหมือนมียาดี ๆ อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมเลยเนอะ

ที่มา:https://health.kapook.com

healthfood.muslimthaipost.com


อัพเดทล่าสุด