รังไข่ (Ovary) เป็นอวัยวะคู่มีทั้งด้านซ้ายและด้านขวา เป็นอวัยวะอยู่ในช่องท้องน้อย (อุ้งเชิงกราน) และอยู่ในระบบสืบพันธุ์เฉพาะของผู้หญิง มีหน้าที่สร้างไข่เพื่อการผสมพันธุ์และสร้างฮอร์โมนเพศหญิง โดยปกติรังไข่แต่ละข้างในวัยเจริญพันธุ์ (วัยมีประจำเดือน) มีขนาดประ มาณ 1.5 x 2.5 x 4 เซนติเมตร และมีน้ำหนักข้างละประมาณ 4 - 5 กรัม
รังไข่ สามารถเกิดโรคมะเร็งได้ทั้งสองข้าง โดยพบเกิดกับข้างซ้ายและข้างขวาใกล้เคียงกัน ซึ่งพบพร้อมกันทั้งสองข้างได้ประมาณ 25%
โรคมะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer) เป็นมะเร็งพบบ่อยทั่วโลกรวมทั้งในผู้หญิงไทย (เป็น 1 ใน 10 โรคมะเร็งพบบ่อย) โดยทั่วไปพบได้ทั้งในเด็กโตและในผู้ใหญ่ แต่พบได้สูงขึ้นในช่วงอายุตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ใน พ.ศ. 2557 ในสหรัฐอเมริกาพบโรคนี้ได้ประมาณ 1.3 - 1.4%ของผู้หญิงอเมริกัน ในประเทศที่พัฒนาแล้วพบได้ประมาณ 9.4 รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน และในประเทศที่กำลังพัฒนาพบได้ประมาณ 5 รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน
ประเทศไทยช่วง พ.ศ. 2544 - 2546 รายงานจากทะเบียนมะเร็งแห่งชาติ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข พบโรคนี้ได้ 5.1 รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน
รังไข่ มีลักษณะคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ อยู่สองข้าง ข้างซ้ายขวาของโพรงมดลูก ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศหญิงและไข่ มี 4 ระยะได้แก่
ระยะ 1 : เซลล์มะเร็งยังอยู่ภายในรังไข่ 1 หรือ 2 ข้าง
ระยะ 2 : เซลล์มะเร็งกระจายจากรังไข่สู่อวัยวะในช่องเชิงกราน เช่น ท่อนำไข่ หรือมดลูก
ระยะ 3 : เซลล์มะเร็งกระจายจากรังไข่และช่องเชิงกราน ไปยังช่องท้องหรือต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
ระยะ 4 : เซลล์มะเร็งกระจายจากรังไข่ไปยังอวัยวะที่ไกลออกไป เช่น ตับ ปอด
อาการแสดงของมะเร็งรังไข่
- ท้องอืดเป็นประจำ
- มีก้อนในช่องท้องหรือช่องเชิงกราน จึงอาจทำให้เกิดอาการแน่นหรือปวดท้อง
- ก้อนเนื้ออาจกดเบียดลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทำให้รู้สึกปวดถ่วง ถ่ายอุจจาระไม่สะดวกหรือลำบาก
- เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้น จะกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ถ่ายปัสสาวะบ่อยและขัด
- เมื่อเซลล์มะเร็งมีการกระจายไปในช่องท้อง จึงอาจทำให้เกิดมีน้ำในช่องท้อง ซึ่งจะทำให้ดูเหมือน อ้วนขึ้นได้ ท้องโตขึ้นกว่าเดิม
- เบื่ออาหาร ผอมแห้ง น้ำหนักลด
- อาจมีประจำเดือนผิดปกติ บางรายอาจพบการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น มีเสียงห้าว มีหนวด หรือขนขึ้นตามลำตัวคล้ายผู้ชายได้ เนื่องจากผลของมะเร็งรังไข่ที่ทำให้ร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนที่ผิดปกติไป
- ในบางรายอาจไม่มีการแสดงอาการเลย แพทย์อาจตรวจพบโดยบังเอิญว่ามีก้อนในท้องน้อย
การรักษามะเร็งรังไข่
ยาเคมีบำบัด สำหรับมะเร็งรังไข่จะให้ยาเคมีทางช่องที่มีอวัยวะภายในช่องท้อง (peritoneal cavity) การพิจารณาวิธีการรักษาขึ้นกับระยะและชนิดของมะเร็ง
การผ่าตัด อาจมีการผ่าตัดตั้งแต่แรกเพื่อดูระยะหรือการลุกลามของมะเร็ง ในกรณีผ่าตัดเพื่อการรักษา แพทย์จะตัดเนื้องอกออกให้มากที่สุด ซึ่งการผ่าตัดส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก
รังสีรักษา มีทั้งการฉายรังสีจากภายนอกร่างกายและการฝังแร่ในร่างกาย การพิจารณาวิธีการรักษาขึ้นกับระยะของโรคและชนิดของมะเร็ง
ที่มา: haamor.com/th, www.howlife.org
healthfood.muslimthaipost.com