รู้หรือไม่ อวัยวะในร่างกายมนุษย์ มีอายุไม่เท่ากัน


2,210 ผู้ชม


รู้หรือไม่ อวัยวะในร่างกายมนุษย์ มีอายุไม่เท่ากัน


เราคิดกันว่าถ้าเราแก่มากขึ้น บรรดาอวัยวะต่างๆภายในร่างกายคงต้องมีสภาพอายุที่ใกล้เคียงกับอายุของเราที่เป็นเจ้าของร่างกาย
       
แต่การวิจัยที่พบมากขึ้นเรื่อยๆบอกว่า จริงๆแล้วร่างกายเรา อวัยวะแต่ละส่วนล้วนมีการสร้างเซลล์ใหม่เป็นระยะๆ เพื่อทดแทนซ่อมแซมอยู่เสมอ มีเพียงบางอย่างเท่านั้นที่ไม่มีการสร้างใหม่ เรียกว่าอายุจริงเท่าไหร่ อวัยวะชิ้นนั้นก็แก่เท่าๆกัน
       
• สมอง อายุเท่าอายุเจ้าของ
       
เกิดมาโง่หรือฉลาดแค่ไหน ตั้งแต่เกิดเซลล์สมองมีแค่ไหนก็จะมีอายุเท่ากับอายุของคนนั้น จอห์น วาดลี่ย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมเส้นประสาทสมอง มหาวิทยาลัยลอนดอน บอกว่า เซลล์ที่พบว่ามีอายุยืนยาวนานในร่างกายเราส่วนมากเป็นเซลล์สมอง
       
เราเกิดมาพร้อมกับเซลล์สมองประมาณแสนล้านเซลล์ และเมื่อแก่หรืออายุมากขึ้นก็มีเท่าเดิม ไม่มีการสร้างขึ้นมาใหม่ และที่น่าตกใจ เซลล์เหล่านี้นอกจากไม่มีใหม่แล้ว ของเก่าก็ค่อยๆหมดไปอีกด้วย ฉะนั้น การบาดเจ็บที่สมองทำไมจึงเป็นเรื่องที่อันตรายต่อชีวิตมนุษย์มาก
 

แต่ก็มีบางส่วนของเซลล์สมองที่มีการพัฒนา คือเซลล์ที่มีส่วนสัมพันธ์กับการได้รับกลิ่นและสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้
       
• เส้นผม อายุ 3-6 ปี
       
อายุเส้นผมของผู้หญิงผู้ชายไม่เท่ากัน ผมของผู้หญิงมีอายุเฉลี่ยอยู่ได้ถึง 6 ปี แต่ผู้ชายเพียงแค่ 3 ปี ส่วนขนตาและขนคิ้วจะงอกใหม่ทุก 6-8 สัปดาห์ (ขอเตือนคนที่ชอบถอนขนคิ้วหรือกันคิ้ว จะทำให้มันไม่งอกออกมาเพราะว่าถูกรบกวน)
       
เส้นผมที่ยาวหรือสั้นแสดงถึงอายุของผมเส้นนั้นเช่นกัน ค่าเฉลี่ยความยาวของผมเดือนหนึ่งจะยาวประมาณหนึ่งเซนติเมตร
       
• ดวงตา อายุเท่าเจ้าของ
       
ดวงตาเป็นอวัยวะอีกไม่กี่อย่างที่มีอายุยาวนานเท่ากับเจ้าของร่างกาย แต่ก็มีแค่ส่วนเดียวที่จะมีการสร้างใหม่อยู่สม่ำเสมอ คือบริเวณด้านนอกของเลนส์ตา ที่เรียกว่าคอร์เนีย เป็นฟิล์มบางๆที่อยู่ชั้นบนสุดของนัยน์ตา มันช่วยให้การโฟกัสภาพเป็นไปอย่างปกติ และสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ภายใน 24 ชั่วโมง
       
แต่ความเสื่อมของตาก็จะมีปัญหาเมื่ออายุมากขึ้น เพราะว่าความยืดหยุ่นของเลนส์ในตาทำให้เรามองเห็นไม่ชัดมากขึ้น
       
• เซลล์ เม็ดเลือดแดง มีอายุ 4 เดือน
       
เซลล์เม็ดเลือดแดง เป็นตัวสำคัญในการพาเอาออกซิเจนเข้าไปสู่ทุกๆเนื้อเยื่อทุกๆอวัยวะในร่างกายของเรา พร้อมกับขนของเสียออกจากเซลล์ด้วย
       
เซลล์เม็ดเลือดแดงจะหมดสภาพ หมดประสิทธิภาพทุกๆ 4 เดือน ซึ่งตับจะดึงเอาเฉพาะธาตุเหล็กที่อยู่ในเม็ดเลือดเก็บไว้ แล้วส่งต่อเพื่อให้เซลล์เม็ดเลือดแดงที่ยังดีอยู่ได้ใช้
       
ส่วนที่ใช้การไม่ได้ก็ส่งไปทำลายทิ้งที่ม้าม แต่ถ้าเราประสบอุบัติเหตุหรือสุภาพสตรีที่อยู่ในช่วงมีรอบเดือน ร่างกายก็จะเร่งสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงเพิ่ม
       
• อวัยวะ หัวใจ มีอายุ 20 ปี
       
แต่เดิมเราเข้าใจว่าหัวใจไม่ได้มีการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ แต่การศึกษาที่มีมาต่อเนื่องจากมหาวิทยาลัยแพทย์นิวยอร์ก พบว่าเซลล์ในกล้ามเนื้อหัวใจจะมีการสร้างใหม่ขึ้นมาทดแทนของเก่าอยู่ประมาณ 3-4 ครั้งในตลอดช่วงอายุของแต่ละคน เฉลี่ยออกมาก็อาจพูดได้ว่าเรามีหัวใจใหม่ทุกๆ 20 ปี
       
• ปอด ที่หายใจ มีอายุ 2-3 สัปดาห์
       
ดร.คีท เพราส์ รองประธานสถาบันปอดแห่งสหราชอาณาจักร บอกว่า ปอดคนเราจะสามารถสร้างเซลล์ใหม่ให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลาเซลล์แต่ละส่วนที่มีการทำงานไม่เหมือนกัน จะมีการเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน ในส่วนเซลล์ของถุงลมปอดที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนระหว่างออกซิเจนกับแก๊สตัวอื่น เซลล์ส่วนนี้จะมีการสร้างใหม่ประมาณปีละครั้ง

       
ส่วนเซลล์ที่เป็นด่านหน้าด้านนอกของปอดนั้นจะมีการเปลี่ยนใหม่ทุกๆสองสามสัปดาห์ ที่เป็นเช่นนี้ ดร.เพราส์ บอกว่าด้านนอกของเนื้อเยื่อปอดถือเป็นส่วนสำคัญในการเจอกับสารแปลกปลอมจากอากาศ ตัวมันเองจึงต้องมีการเปลี่ยนใหม่สร้างเพิ่มอย่างรวดเร็ว
       
คนที่เป็นโรคเกี่ยวกับปอดจะทำให้ขัดขวางการสร้างเซลล์ใหม่ด้านนอก แถมไปทำลายเซลล์ในถุงลมปอดข้างในอีกด้วย
       
• ตับ อายุ 5 เดือน
       
ตับถือเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีหน้าที่ขับของเสีย ถือเป็นโรงงานกำจัดสารพิษชั้นยอดของมนุษย์ แต่ละวันมีเลือดผ่านตับเป็นจำนวนมหาศาล และตัวตับเองสามารถซ่อมตัวเองสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่ได้
       
ลองดูจากพวกนักดื่มคอทองแดงที่ดื่มเหล้าเป็นน้ำ สภาพตับถูกทำลายไปมาก แต่เมื่อมีการลดลงหรือหยุดดื่ม ตับของพวกเขาก็สามารถฟื้นฟูกลับมาดีได้ภายใน 150 วัน หรือราว ๆ 5 เดือน
       
เดวิด ลอยด์ ที่ปรึกษาด้านการศัลยกรรมตับ บอกว่า เขาสามารถผ่าตัดเอาเนื้อตับคนไข้ออกมา70% แต่ภายในสองเดือนเนื้อตับสามารถกลับมาได้ถึง 90%
       
แต่ก็ไม่ใช่ข่าวดีของพวกดื่มเหล้า เพราะแม้ตับสามารถฟื้นฟูสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาได้ใหม่ แต่เซลล์ตับที่เสียหายไปจะเหมือนเป็นรอยแผลเป็นทำให้การฟื้นฟูกลับมาได้ยากลำบาก และอาจไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม แถมอาจเป็นอันตรายต่อไปในภายภาคหน้า
       
• ลำไส้ กี่ขดก็อายุราว 2-3 วัน
       
หลังจากที่เรากินอาหารเข้าไป ฟันบดเคี้ยวอาหารให้ฉีกขาด กระเพาะอาหารใส่น้ำย่อยลงไปคลุกเคล้าอาหารให้ละเอียดเหลว แล้วจึงส่งผ่านไปยังลำไส้เล็กให้ดูดซึมอาหารเข้าสู่ร่างกาย
       
ลำไส้ดูดซึมอาหารด้วยการใช้ วิลไล(Villi) เส้นขนเล็กๆ ที่มีอยู่ตลอดตามผนังลำไส้ ดูดซึมสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด วิลไลเป็นตัวหลักในการจับสารอาหารที่ผ่านเข้ามา ตัวมันต้องเจอกับน้ำย่อยที่ย่อยอาหาร มันทำงานหนัก จึงต้องมีการสร้างใหม่อยู่ทุก ๆ 2-3 วัน
       
ภายในลำไส้ยังมีเมือกเคลือบลำไส้ เพื่อให้การไหลเวียนของสารอาหารเป็นไปอย่างสมบูรณ์ เมือกลื่นเหล่านี้ก็หนีไม่พ้นกรดอันรุนแรงของน้ำย่อยในร่างกาย มันทำหน้าที่ป้องกันลำไส้ ตัวมันเองจึงต้องสร้างใหม่ทุกๆ 3-5 วัน
       
• ลิ้น ตุ่มรับรส อายุ 10 วัน
       
อาหารอร่อยไม่อร่อยก็อยู่ที่เจ้าตุ่มในลิ้นรับรสที่ส่งข้อมูลไปให้สมอง ว่าสิ่งที่ใส่เข้าไปในปากรสชาติเปรี้ยวหวานมันเค็มอย่างไร เพราะเจ้าตุ่มพวกนี้มีมากกว่า 9,000 ตุ่มที่อยู่ติดลิ้นของเรา คอยรับรสต่างๆ

สิ่งที่ต้องระมัดระวังให้มากคือ ตุ่มรับรสพวกนี้จะอักเสบได้ง่าย คนที่ชอบสูบบุหรี่ การติดเชื้อจะทำลายตุ่มรับรสเหล่านี้ และทำให้การสร้างใหม่มาทดแทนทำได้ยากขึ้น หรือทำให้ลิ้นเรามีการรับรสที่ไม่ดี กินไม่อร่อย
       
• กระดูก แข็งไม่แข็ง อายุเฉลี่ย 10 ปี
       
ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกออกมาอธิบายว่า ปกติกระดูกในร่างกายเราจะมีการสร้างทดแทนอยู่เสมอ กระบวนการสร้างทดแทนตัวเองนี้จะสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์จะใช้เวลาประมาณ 10 ปี
       
เนื้อกระดูกเก่าในร่างกายจะมีการสูญเสียไปเป็นระยะ แต่ร่างกายก็สามารถสร้างกลับมาทดแทนได้ดีเหมือนเก่า ในร่างกายเราจะมีกระดูกใหม่กับกระดูกเก่าประกอบอยู่ด้วยกันเสมอ

แต่เมื่อถึงวัยกลางคน การสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาทดแทนจะทำไม่ทันเท่ากับความเสื่อมของกระดูกเก่า เนื้อกระดูกเราก็จะบางลง และเป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุน ที่ชาววัยทองเป็นกันแทบทุกคน
       
• ผิวหนัง ไม่ว่าดำหรือขาว อายุเฉลี่ย 2-4 สัปดาห์
       
       ผิวชั้นนอกหรือที่เรียกว่าอิพิเดอร์มิส เป็นส่วนที่ปกป้องอวัยวะภายในร่างกายของเรา ซึ่งต้องเจอกับแสงแดด แสงยูวีที่ทำลายผิว มลภาวะที่แย่ลงทุกวัน ผิวชั้นนอกจึงต้องมีการสร้างใหม่ทดแทนอยู่ทุก ๆ 2- 4 สัปดาห์ แต่การที่ผิวสร้างใหม่ไม่ได้ทำให้ผิวเราสดใสหรือเต่งตึงตลอดไป เพราะร่างกายเราเมื่อมีอายุมากขึ้น จะสูญเสียคอลลาเจนใต้ผิว ทำให้ขาดความยืดหยุ่นที่ดี และขาดอีลาสตินทำให้ผิวเหี่ยวย่นเมื่อแก่
       
• เล็บ มีอายุ 6-10 สัปดาห์
       
เล็บเท้าเล็บมืองอกช้าเร็วไม่เท่ากัน ค่าเฉลี่ยความยาวของเล็บมือ เดือนละ 3.4 มิลลิเมตร เร็วกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับเล็บเท้า ไม่น่าแปลกใจเมื่อเราตัดเล็บอยู่บ่อยๆ เพราะเล็บมือต้องตัดบ่อยกว่าเป็นประจำ
       
       ใครหลายคนคงเคยได้มีประสบการณ์อุบัติเหตุนิ้วเท้านิ้วมือช้ำจนต้องถอดเล็บหรือว่าเล็บหลุด ค่าเฉลี่ยที่เล็บเท้าที่หลุดจะงอกออกมาปิดนิ้วเท้าได้เหมือนเดิม ต้องใช้เวลาประมาณ 10 เดือน ส่วนนิ้วมือถ้าเล็บหลุดก็ต้องใช้เวลา 6 เดือน
       
       สาเหตุที่การงอกยาวของเล็บมือเล็บเท้าช้าเร็วไม่เท่ากัน เป็นเพราะว่าการไหลเวียนของเลือดในบริเวณนั้นแตกต่างกัน การไหลเวียนที่ดีของเลือดทำให้เล็บงอกได้เร็ว
       
       คนหนุ่มสาวหรือเด็กเล็ก เล็บก็จะยาวเร็วกว่าคนสูงอายุ เพราะสาเหตุของการไหลเวียนของเลือดมาสู่บริเวณนั้น
       
       แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่า ทำไมเล็บนิ้วมือที่ยาวกว่างอกได้เร็วกว่าเล็บนิ้วเท้าที่เล็กหรือสั้นกว่า
       
อะไรที่เป็นตัวเรา เราคิดว่ามันจะอยู่กับเราไปตลอด ทุกๆวันมันมีการเสื่อม มีการสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา อย่าได้ละเลยกับการดูแลร่างกายให้ดี เพราะถ้าของเก่าก็ไม่ดูแล ของใหม่ที่สร้างก็ไม่มีคุณภาพเท่าเก่า อายุจริงกับอายุเครื่องใน อาจจะต่างกันลิบจากข้อมูลทางวิชาการที่ว่านี้
       
(ข้อมูลจาก Never-Age.com)

ที่มา: https://www.manager.co.th

อัพเดทล่าสุด