เช็คด่วน! อาการชาปลายนิ้วมือ-เท้า สัญญาณของหลายโรค!


8,530 ผู้ชม


เช็คด่วน! อาการชาปลายนิ้วมือ-เท้า สัญญาณของหลายโรค! 

ชาปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า เกิดจากอะไร อาการเหน็บชาที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ บริเวณปลายนิ้ว อาจไม่ใช่แค่สัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังขาดวิตามินบี แต่อาจเป็นสัญญาณของหลายโรค!
ชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้า อาการนี้อาจเกิดขึ้นได้กับหลายคน จนบางครั้งเรามองเป็นอาการธรรมดาที่แค่สะบัดมือหรือเติมวิตามินให้ร่างกายก็หาย แต่ขอให้รู้ไว้เลยว่าอาการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้าไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น โดยเฉพาะคนที่มีอาการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้าอย่างต่อเนื่อง และดูท่าว่าอาการชาจะทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ สัญญาณนี้อาจบอกโรคได้หลายอย่างนะคะ
อาการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้า สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาจเกิดจากการอยู่ในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน การทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือซ้ำ ๆ ซึ่งอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่ทั่วถึง หรือการที่ร่างกายมีระดับธาตุและวิตามินผิดปกติ รวมทั้งอาจเป็นอาการข้างเคียงของบางโรค เช่น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคเบาหวาน งูสวัด ลมชัก โรคหลอดเลือดสมอง อาการผิดปกติของปลายประสาท เป็นต้น
ซึ่งอาการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้า สามารถแบ่งแยกสาเหตุได้จากอาการชาที่เกิดกับร่างกาย ดังนี้



ชาเฉพาะนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางครึ่งซีก (ซีกที่อยู่ติดกับนิ้วกลาง) นอกนั้นไม่มีอาการชา อาจเป็นสัญญาณของโรคเส้นประสาทมือถูกบีบรัด เนื่องจากเยื่อหุ้มเอ็นที่อยู่ในช่องใต้กระดูกมือบวม หรือกระดูกมือโตทำให้ช่องใต้กระดูกมือแคบ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หรืออาจเกิดจากแผ่นพังผืดเสื่อม และหนาตัวขึ้น 
ชานิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และอาจมีอาการปวดมือ ปวดร้าวไปถึงแขนด้วย นั่นอาจหมายถึงสัญญาณของโรคเส้นประสาทกดทับที่ฝ่ามือ โดยเกิดจากการใช้งานมือในลักษณะการเกร็งอยู่นาน ๆ ในท่าเดิม เช่น การจับมีด กรรไกร ไดร์เป่าผม คอมพิวเตอร์ ซึ่งมักจะมีอาการปวดในเวลากลางคืนหรือตื่นนอนตอนเช้า 
ชาที่นิ้วก้อย อาจเกิดจากเส้นประสาทบริเวณรักแร้ที่ยาวไปถึงนิ้วก้อย สาเหตุจากงอและเกร็งข้อศอกเพื่อถือหูโทรศัพท์เป็นเวลานาน 
ชาปลายเท้าและปลายมือ อาจเกิดจากอาการปลายประสาทอักเสบหรือเสื่อม หรือภาวะขาดวิตามินบี 1 บี 6 หรือบี 12 ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคไต โรคมะเร็ง และจากยาหรือสารพิษ เป็นต้น 
ชาปลายนิ้วมือเกือบทุกนิ้ว แต่ไม่มีอาการชาปลายเท้า และมักจะชาช่วงกลางคืนหรือก่อนนอน อาจเกิดจากการใช้มือทำงานหนัก เช่น ขี่มอเตอร์ไซค์ต่อเนื่องนาน ๆ เล่นโทรศัพท์บ่อย ๆ ครั้งละนาน ๆ ซึ่งอาจทำให้เอ็นกดทับเส้นประสาทตรงข้อมือได้ 
ชานิ้วก้อย นิ้วนาง และด้านข้างฝ่ามือ (สันมือ) อาจเกิดจากเส้นประสาทบริเวณข้อศอกถูกกดทับ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ซึ่งก็ควรเปลี่ยนท่านั่งหรือท่านอนเพื่อหลีกเลี่ยงอาการชาดังกล่าว 
ชาง่ามนิ้วระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ อาจเกิดจากเส้นประสาทกดทับที่ต้นแขน แนะนำให้เปลี่ยนท่านั่งบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการเอาแขนพาดพนักเก้าอี้ 
ชาทั้งแถบ ตั้งแต่แขนลงไปถึงนิ้วมือ อาจเกิดจากกระดูกต้นคอเสื่อมและกดทับเส้นประสาท ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์นะคะ เพราะน่าเป็นห่วงมากเลยทีเดียว 
ชาหลังเท้าลากยาวไปถึงหน้าแข้ง แต่ไม่มีอาการชาที่มือ อาจเกิดจากการนั่งไขว้ห้าง ขัดสมาธิ พับเพียบ เป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้เส้นประสาทบริเวณใต้เข่าด้านนอกถูกกดทับจนเลือดเดินติดขัดได้ 
ชาทั้งเท้า และเลยไปถึงสะโพก อาการนี้ก็ควรต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท 
อาการชาที่เริ่มเกิดขึ้นจากปลายเท้า ฝ่าเท้า ปลายนิ้ว ลามขึ้นไปที่ข้อเท้า เข่า และลำตัว เป็นอาการที่มักเกิดกับนักดื่มคอทองแดง เนื่องจากฤทธิ์แอลกอฮอล์เข้าไปทำลายเส้นประสาทให้เสียหายหลายเส้น 

นอกจากนี้อาการมือเท้าชายังเป็นอาการที่เกิดจากภาวะของโรคบางอย่าง ดังนี้
โรคเบาหวาน อาการชาปลายมือปลายเท้าจะบอกให้ทราบถึงภาวะของโรคเบาหวานที่รุนแรงขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยอาจต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เข้มงวดมากกว่านี้ หรือหากอาการชาไม่หาย หนำซ้ำยังทวีความชามากขึ้น ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติที่แท้จริงโดยเร็ว ภาวะขาดไทรอยด์ ซึ่งอาจมีอาการตะคริวเกิดขึ้นบ่อย ๆ ร่วมกับอาการเหนื่อยง่าย ปวดตามกล้ามเนื้อ 
โรครูมาตอยด์ หรือโรคเกี่ยวกับไขข้อกระดูก เก๊าท์ ซึ่งอาจส่งผลให้มาอาการชาบริเวณมือและเท้่าได้ เนื่องจากภาวะบกพร่องของกระดูกและข้อ ซึ่งอาจขัดขวางการไหลเวียนของเลือดได้ 
โรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคไต โรคตับ โรคหลอดเลือด ภาวะอักเสบเรื้อรัง และภาวะขาดฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งความผิดปกติของร่างกายทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบกับการทำงานของระบบประสาท และทำให้เกิดอาการชาปลายมือปลายเท้าได้ 
พิษสุราเรื้อรัง มักจะมีสาเหตุจากการรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ทำให้ร่างกายขาดวิตามินและสารอาหารที่เป็นประโยชน์ ก่อให้เกิดอาการชาปลายมือปลายเท้าได้ 
ภาวะติดเชื้อต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อไวรัสเรื้อรัง หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งอาจทำให้ร่างกายเกิดอาการขาดวิตามินบีได้ ทั้งนี้อาการชาปลายมือปลายเท้ามักเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากเพศหญิงมีแนวโน้มจะใช้งานข้อมือบ่อยกว่าเพศชาย ทั้งการทำหน้าที่แม่บ้าน ปัด กวาด เช็ดถู ดูแลเสื้อผ้า เป็นแม่ครัว ช่างทำผม เป็นต้น อีกทั้งในภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างช่วงก่อนเป็นประจำเดือน ระหว่างตั้งครรภ์ หรือช่วงหมดประจำเดือน ปัจจัยนี้อาจทำให้ร่างกายเพศหญิงขาดวิตามินได้เช่นกันค่ะ
 

การรักษาอาการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้า

การรักษาอาการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้าสามารถจำแนกได้ตามอาการดังต่อไปนี้
ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง
หากมีอาการชาแปล๊บ ๆ ซ่า ๆ เป็นระยะ สะบัดข้อมือหรือเปลี่ยนอิริยาบถก็หายได้ อาจรักษาได้ด้วยการให้ยาต้านการอักเสบของเส้นเอ็นและเส้นประสาท หรือให้วิตามินบีเสริมเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาด เป็นต้น
ผู้ป่วยที่มีอาการชารุนแรงและต่อเนื่อง
ในเคสนี้อาจต้องรักษาอาการชาปลายมือปลายเท้าด้วยการให้ยาต้านการอักเสบของเส้นประสาทก่อน หากยังไม่ดีขึ้นอาจต้องผ่าตัดเอ็นที่กดรัดเส้นประสาทนั้นออก รักษาตามอาการป่วยที่เป็นอยู่
เนื่องจากอาการชาปลายมือปลายเท้าอาจมีสาเหตุมาจากโรคเดิมที่เป็นอยู่ ดังนั้นหากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าอาการชาเป็นผลจากโรค ก็อาจให้การรักษาตามโรคที่เป็นอยู่ก่อน ยกตัวอย่างเช่น หากอาการชาเกิดจากโรคเบาหวาน ก็ให้ผู้ป่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดลง หรืออาการชาจากคุณแม่ตั้งครรภ์ เคสนี้อาการชาจะหายไปเองได้หลังคลอดเด็กออกมาแล้ว หรือสำหรับหญิงวัยหมดประจำเดือน แพทย์อาจให้วิตามินเสริมแก่ร่างกาย เป็นต้น
แม้ว่าอาการชาในบางคนอาจเป็นเพียงอาการชั่วครั้งชั่วคราว เป็นแล้วสักพักก็หาย ทว่าอย่างที่เราเพิ่งนำเสนอไปนะคะ อาการชาปลายมือปลายเท้าอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างได้ ฉะนั้นหากมีอาการชาปลายมือปลายเท้าขึ้นมาเมื่อไร ก็ควรหมั่นสังเกตความถี่และความรุนแรงของอาการไว้ด้วย 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย / WebMD / Cr. https://health.kapook.com/view139914.html

อัพเดทล่าสุด