5 โรคเด็กอันตราย ที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวังในปี 59


2,564 ผู้ชม


พญ.อุรารมย์ พันธุมะผล กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด และปริกำเนิด โรงพยาบาลพญาไท 1 เตือนพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกเล็กทุกๆบ้านว่า ในช่วงปี 2559 นี้สภาพอากาศแปรปรวนอยู่บ่อยๆทำให้เด็กเกิดโรคได้ง่ายขึ้น เช่น มีไข้ ตัวร้อนเป็นหวัด โดยเฉพาะช่วงต้นปีเด็กมักมีปัญหาเรื่อง ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ ระบบทางเดินหายใจ มาพบหมอมากขึ้น จริง ๆ โรคไข้หวัดใหญ่เด็กมักเป็นช่วงหน้าฝน แต่ปีนี้มีเด็กเป็นตั้งแต่ต้นปี เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงมาก ร่างกายของเด็กก็ปรับตัวไม่ทัน พอเริ่มไม่แข็งแรงเชื้อไวรัสต่าง ๆ จะเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

โรคที่ปีนี้ต้องระวังในเด็กส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ที่มีปัจจัยจากสภาพอากาศ ส่วนโรคที่เกิดจากแบคทีเรียมีแนวโน้มน้อย เพราะแบคทีเรียจะแพร่กระจายได้เร็วช่วงสภาพอากาศร้อน  5 โรคเด็กอันตราย ที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวังในปี 59 มีดังนี้

1.ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

อาการ  : เด็กๆจะมาพบเเพทย์คือ  มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว มีอาการจามไอ ไม่อยากทานอาหาร เด็กเล็กที่ยังสื่อสารไม่ได้มีอาการไข้สูงกระสับกระส่าย ซึมลง ส่วนเด็กที่สื่อสารได้จะหงุดหงิด ไม่ทานอาหาร
อันตรายของโรค : ไข้หวัดใหญ่ในเด็กถ้าเป็นนานเด็กจะมีภาวะขาดนํ้า ไม่ทานอาหาร ถ้าเป็นนานจะนำสู่โรคหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ และอาจเป็นไซนัสอักเสบร่วมด้วย และอาจมีโรคที่มีเชื้อแบคทีเรียเข้ามาสมทบ ที่น่าห่วงหากมีเชื้อไวรัส อาร์เอสวี เข้าสู่ร่างกาย ปกติจะพบระบาดในช่วงปลายฝนต้นหนาว แต่ปีนี้อากาศแปรปรวนทำให้เกิดขึ้นได้ทุกฤดู จะทำให้หลอดลม และหลอดลมฝอยอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ โดยเชื้อนี้ทำให้มีเสมหะอัดในจมูก จึงต้องมาพ่นยา
การรักษา : การรักษาจะไม่มียาเฉพาะ แต่เด็กจะไม่ทานนมหรืออาหาร เนื่องจากเวลาทานจะหายใจไม่ออก เพราะต้องหายใจทางปาก เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ จะไม่สามารถสั่งนํ้ามูกเองได้ หรือเด็กโตบางคนยังสั่งนํ้ามูกเองไม่เป็น โดยตัวของโรคมีอาการ 7–10 วัน การรักษาจะตามอาการ หากมีอาการเสมหะอุดตันต้องทำการดูดออก บางคนต้องใส่ท่อช่วยหายใจในห้องไอซียู ซึ่งพ่อแม่บางคนอาจใช้ลูกยางแดงดูดเสมหะออกได้
สิ่งที่พ่อแม่ต้องดูแลมากขึ้นเมื่อเกิดโรค  : เด็กป่วยจำเป็นต้องดื่มนํ้ามากขึ้น เพื่อให้เสมหะไม่เหนียว และใช้นํ้าเกลือหยอดจมูกเพื่อป้องกันเสมหะอุดกั้นทางเดินหายใจ

2.โรคมือเท้าปาก

กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง : มักเกิดมากในเด็กอนุบาล มีการติดต่อทางนํ้าลาย เช่น เด็กคนนึงเป็นโรคนี้แล้วจับของเล่น หรือป้ายนํ้าลายไปถูกเพื่อนก็จะติดได้
อาการ : อาการจะมีแผลในปากและมีไข้สูง โดยโรคนี้ถ้าร้ายแรงที่สุดจะมีผลต่อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือติดเชื้อที่กล้ามเนื้อหัวใจ มีอาการซึมลง เจ็บแผลในปาก เด็กต้องทานอาหารที่มีความเย็น เช่นไอศกรีม นํ้าเย็น นมเย็น ถ้าให้ทานอาหารร้อน ๆ จะเจ็บแผล

การป้องกันโรค : ครอบครัวต้องให้เด็กรักษาความสะอาด สอนให้ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ให้เล่นนํ้าลาย ไม่เอามือเข้าปาก สำคัญที่โรงเรียนต้องมีการตรวจสอบ หากเด็กมีแผลในปากจะให้ผู้ปกครองพาไปพบหมอ เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่กระจายในโรงเรียน สมัยก่อนโรคนี้มีมากในช่วงหน้าหนาว แต่ช่วงหลังมีตลอดทั้งปี เฉพาะต้นปีมีเด็กหลายคนที่เป็นด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง  สำหรับโรงเรียน ทางโรงเรียนสามารถใช้นํ้ายาฟอกขาวผสมนํ้า 20 ซีซีต่อนํ้า 1 ลิตร ทำความสะอาดอุปกรณ์ของเล่นบ่อย ๆ ทั้งชุบผ้าเช็ดหรือซักล้าง แล้วใช้ผ้าชุบนํ้าสะอาดเช็ดอีกสัก 2 -3 ครั้ง ถ้าเด็กมีอาการสองคนในหนึ่งห้องเรียนต้องปิดทำความสะอาดห้องเรียนนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการแพร่ระบาดเชื้อ

3.โรคท้องร่วง

สาเหตุของโรค :  เกิดจากจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย มีเหตุจากทานของที่ปรุงไม่สุกหรือไม่สะอาด และปรุงไว้นานแล้ว โดยจะอุจจาระเป็นนํ้าทีละมาก ๆ ความอันตรายอยู่ที่เด็กสามารถช็อกได้ เนื่องจากขาดนํ้า แต่ในกรุงเทพฯ มักมีอาการท้องเสียจากเชื้อไวรัส ที่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ

การรักษา : ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรค แต่ไม่มีวัคซีนไหนป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ทานแล้วจะลดความรุนแรงของโรค เมื่อมีอาการต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

การดูแลเบื้องต้น :  การดื่มเกลือแร่ของเด็กที่เป็นโรคนี้จะต้องให้ดื่มทีละน้อย ๆ แต่ต้องดื่มบ่อย ๆ เช่นดื่มนมครั้งละ 6 ออนซ์ ให้เหลือครั้งละ 3 ออนซ์ แต่ให้เด็กดื่มบ่อยขึ้น และจิบนํ้าเกลือแร่เข้าไปให้ทันกับการสูญเสียนํ้า ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องดูว่าลูกมีการถ่ายหรือว่าฉี่บ่อยแค่ไหน ปัจจุบันไม่ค่อยสังเกตเพราะใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สิ่งสำคัญต้องสอนให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ และไม่เอามือเข้าปาก

4.ไข้เลือดออก

สาเหตุ: เกิดจากเชื้อไวรัส ที่อยู่ในตัวยุงลาย เมื่อยุงตัวที่มีเชื้อไข้เลือดออกไปกัดเด็ก เด็กก็จะได้รับเชื้อไข้เลือดออกมาทันที ความรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสชนิดนี้

อาการ : เด็กมีไข้สูง ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว สองวันแรกอาจไอมีนํ้ามูก สิ่งสำคัญเด็กจะมีจุดจํ้า ๆ เล็ก ๆ ตามตัว เหมือนเอาปากกาแดงจิ้มบนผิวหนัง ถ่ายเป็นเลือดปวดท้อง จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลทันที

การรักษา : เด้กต้องนอนโรงพยาบาล เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด รักษาตามอาการ แพทย์จะตรวจเลือดทุกวันเพื่อติดตามเรื่องเกร็ดเลือด หากเกร็ดเลือดต่ำอาจต้องให้เลือด  ระหว่างอยู่ที่โรงพยาบาล ให้ดื่มนํ้าเกลือที่แพทย์ให้ทานอาหารอ่อน ๆ หลีกเลี่ยงอาหารมีสีดำหรือสีแดง เนื่องจากเวลาเด็กอาเจียนออกมาเป็นเลือด ถ้าทานเย็นตาโฟ ซึ่งมีสีแดง ผู้ปกครองจะไม่รู้ว่าที่เด็กอาเจียนนั้นเป็นสีของเลือดหรือของนํ้าเย็นตาโฟ

การป้องกันที่ได้ผลดีที่สุด : ครอบครัวต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังเดินไม่ได้มักจะเสี่ยง เพราะเด็กโตจะอยู่ไม่นิ่ง

5.ไข้กาฬหลังแอ่น

การระบาดของโรค : โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อเรียกว่า Neisseria meningitidis ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ ใน เดิมส่วนใหญ่พบในพื้นที่ริมชายแดน ที่ปัจจุบันกลับมาเจอโรคนี้ในเมืองมากขึ้น ด้วยมีแรงงานต่างด้าวที่เป็นพาหะ ส่วนใหญ่โรคนี้เป็นแล้วเสียชีวิต จากสถิติย้อนหลังพบว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ในประเทศไทยปีละไม่เกิน 10 คน
อาการ : เมื่อร่างกายได้รับเชื้อจะซึมลง มีปัญหาด้านสมอง ติดกันได้ทางการหายใจ นํ้าลาย โรคนี้ติดง่าย ทำให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) หรือเกิดการแพร่กระจายลุกลามในกระแสโลหิต (Meningococcemia) และทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

การรักษา : เมื่อเกิดโรค รักษาตามอาการ  มีวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นที่มีใช้ในประเทศไทยสามารถป้องกันโรคได้ 4 สายพันธุ์คือ   A, C, Y, W-135  แต่ในประเทศไทยสายพันธุ์ที่พบบ่อยที่สุดคือสายพันธุ์ B ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน ดังนั้นจึงยังไม่มีคำแนะนำให้การฉีดวัคซีนในคนไทยโดยทั่วไปในการป้องกันโรคนี้

การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ :  พ่อแม่ผู้ปกครองและทางโรงเรียน ต้องสอนให้เด็กรู้จักล้างมือ และทำความสะอาดที่นอนที่บ้านบ่อย ๆ และทำความสะอาดแอร์ด้วยตัวเอง ถ้าเด็กป่วยไม่ควรให้ไปโรงเรียนเพราะจะเป็นคนที่แพร่กระจายเชื้อ

อนาคตการเกิดโรคในเด็กจะไม่เป็นฤดูกาลเหมือนก่อน เดี๋ยวนี้ตรวจพบทุกโรคตลอดทั้งปี เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ที่น่าห่วงคือ พ่อแม่ที่พาลูกไปห้างสรรพสินค้าแล้วนั่งบนรถเข็น( สำหรับบริการ) ใช่ร่วมกับผู้อื่น ที่ไม่ได้ทำความสะอาดเป้นอีกช่องทางหนึ่งที่ได้รับเชื้อแปลก สารพัดเชื้อมาอย่างง่ายดาย เพื่อป้องกัน 5โรคเด็กอันตรายพ่อแม่ทุกบ้านโปรดระมัดระวังการใช้ของร่วมกับผู้อื่นด้วยนะคะ

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อัพเดทล่าสุด