เวลาที่เด็กเล็กๆ พยายามไอเอาเสมหะออกมา แต่ไม่สามารถเอาออกมาได้ คุณแม่อาจจำเป็นต้องช่วยเพื่อให้ลูกระบายเสมหะออกมา ซึ่งวิธีการหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้เองที่บ้านคือ "การเคาะปอด"
การเคาะปอด เป็นเทคนิคการรักษาอย่างหนึ่ง โดยการจัดท่าเด็กให้เหมาะสม แล้วทำการเคาะบริเวณทรวงอก เพื่อทำให้เกิดการสั่นสะเทือนไปยังปอด ช่วยร่อนระบายเสมหะที่ติดอยู่ตามเนื้อปอดและหลอดลม ให้หลุดออกและระบายออกไปได้ง่ายขึ้นโดยการไอ หรือ กรณีที่ไม่สามารถไอขับเสมหะออกมาได้ สามารถใช้ลูกยางแดงหรือเครื่องดูดเสมหะดูดเสมหะออกมาได้ เช่นกัน
เมื่อใดที่ควรเคาะปอด
1. ไอ เสมหะมาก หายใจเสียงดังครืดคราด
2. มีเสมหะคั่งค้างในหลอดลมจำนวนมาก เช่น ปอดอักเสบ
3.พบภาพรังสีทรวงอก แสดงภาวะปอดแฟบเนื่องจากการอุดตันของเสมหะ
4. ผู้ป่วยเด็กเรื้อรัง ที่มีภาวะเสมหะคั่งค้าง
5. ผู้ป่วยเด็กหลังผ่าตัด ที่มีปัญหาของเสมหะคั่งค้างในปอดและหลอดลม
6. ผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาทางระบบประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่มีปัญหาของเสมหะคั่งค้างในหลอดลม ไม่สามารถระบายเสมหะได้ด้วยตนเอง
ท่าระบายเสมหะที่ใช้ร่วมกับการเคาะปอด ท่าที่ 1
- อุ้มลูกให้หันหน้าเข้าหาอกพ่อแม่
- ศีรษะลูกพาดบนไหล่พ่อแม่
- แล้วเคาะบริเวณด้านหลังส่วนบน เหนือกระดูกสะบักขึ้นไป
- หลีกเลี่ยงการเคาะบริเวณกระดูกสะบัก
ท่าระบายเสมหะที่ใช้ร่วมกับการเคาะปอด ท่าที่ 2
- จัดท่านอนหงาย ให้ศีรษะหนุนหมอน
- เอาผ้าบางรองบริเวณหน้าอก
- เคาะบริเวณระดับไหปลาร้าถึงใต้ราวนม
- หลีกเลี่ยงการเคาะบริเวณกระดูกหน้าอก
ท่าระบายเสมหะที่ใช้ร่วมกับการเคาะปอด ท่าที่ 3
- จัดท่าให้น้องนอนตะแคง ยกแขนน้องขึ้นไปข้างหน้าเล็กน้อย
- เคาะบริเวณเหนือชายโครงด้านข้าง ต่ำจากรักแร้ลงมาเล็กน้อย และเคาะบริเวณด้านหลังต่ำจากกระดูกสะบักจนถึงชายโครงซี่สุดท้าย
- เคาะทั้งท่านอนตะแคงซ้ายและขวา
ข้อควรระวัง
- น้องบ่นหรือเจ็บ ปวดบริเวณที่เคาะ หรือมีประวัติได้รับการกระแทกที่หน้าอก
- มีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น ริมฝีปากซีดคล้ำ หายใจจมูกบาน
- ร้องไห้งอแงมากกว่าปกติ
ข้อห้ามในการเคาะปอด
- มีภาวะกระดูกหักบริเวณทรวงอก
- มีประวัติป่วยด้วยโรคมะเร็ง วัณโรคปอด
- หอบเหนื่อย ตัวเขียว
- มีแผลเปิด หรือหลังผ่าตัดที่แผลยังไม่ติดดี
- มีภาวะกระดูกผุ
- มีภาวะเสี่ยงต่อการเลือดออกง่ายโดยสังเกตได้จากสีผิว สีปากคล้ำ หน้าซีด สัญญาณชีพผิดปกติ เช่น มีไข้สูง หายใจเร็วและความดันโลหิตสูง
ที่มา: https://www.momypedia.com