วิธีออกกำลังกาย ยืดเอ็นร้อยหวาย แก้การอักเสบของพังผืดใต้ฝ่าเท้า


6,285 ผู้ชม


พังผืด คือ เยื่อเหนียวบางๆ ที่อยู่ใต้ผิวหนัง ทำ หน้าที่ห่อหุ้มกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นทุกๆ ส่วนในร่างกายให้ยึดติดกันเป็นมัดๆ เมื่อตัดตามขวางของกล้ามเนื้อแต่ละมัด ก็จะพบกล้ามเนื้อทุกมัดมีพังผืดหุ้มอยู่ รวมทั้งกระดูกน้อยใหญ่ทั่วสรรพางค์กายก็มีพังผืดหุ้มเช่นเดียวกัน            
ถ้ากล้ามเนื้อไม่มีพังผืดหุ้ม เวลากล้ามเนื้อหดตัวมันก็จะเละเนื่องจากไม่มีอะไรมายึดให้มันเกาะติดกัน กล้ามเนื้อที่หุ้มกระดูกสามารถรัดติดกับกระดูกได้ก็เพราะพังผืดหดตัวนี่เอง ถ้าขาดพังผืดมาช่วยรัดไว้แล้ว เวลาที่กล้ามเนื้อหดตัว กล้ามเนื้อก็จะกระจัดกระจายกันไปคนละทิศละทาง          
ด้วยเหตุที่พังผืดเกิดขึ้นก่อนกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูกมันจึงสามารถขยายตัวหุ้มไปเรื่อยๆ ดังกล่าวได้ แม้กระทั่งเยื่อที่ยึดอวัยวะภายในทั้งหลาย นับตั้งแต่ สมอง หัวใจ ปอด ลำไส้ ฯลฯ ให้ติดกับผนังด้านในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ก็คือ พังผืด ชนิดเดียวกันที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ต่างกันตรงพังผืดที่หุ้มกล้ามเนื้อเส้นเอ็น และกระดูกมีความเหนียวและหนากว่า จึงมักเรียกพังผืดที่หุ้มอวัยวะภายในว่า เนื้อเยื่อยึดเหนี่ยว

พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ หรือรองช้ำ

คือภาวะที่มีการอักเสบของพังผืดใต้ฝ่าเท้า เป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง ส่วนใหญ่พบในผู้มีอายุอยู่ระหว่าง 40 – 70 ปี โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และส่วนใหญ่มีน้ำหนักตัวเกินกว่ามาตรฐาน

สาเหตุ

มีการอักเสบของพังผืดใต้ฝ่าเท้าสืบเนื่องมาจากการบาดเจ็บของพังผืดบริเวณจุดเกาะที่กระดูกส้นเท้า โดยการบาดเจ็บนี้มักจะเป็นการบาดเจ็บเล็กๆน้อยๆ ที่สะสมมานาน มักพบร่วมกับการมีเอ็นร้อยหวายตึง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ การขาดการออกกำลังกาย หรือการออกกำลังกายอย่างไม่เหมาะสม

อาการและอาการแสดง
ส่วนใหญ่มีอาการปวดใต้ส้นเท้า อาการปวดจะเป็นมากในชวงเช้าโดยเฉพาะก้าวแรกที่ลงจากเตียง หรือเมื่อยืนลงน้ำหนักหลังจากนั่งเป็นระยะเวลานาน เมื่อเดินไประยะหนึ่งอาการมักจะดีขึ้น หากการอักเสบรุนแรงขึ้นอาการปวดอาจเป็นมากขึ้นหลังจากยืนหรือเดินมากได้ ตรวจร่างกายพบจุดกดเจ็บบริเวณ ใต้ส้นเท้าค่อนมาทางด้านใน อาจมีอาการบวมหรือแดงของผิวหนังร่วมด้วย เมื่อกระดกนิ้วเท้าขึ้นอาจทำให้มีอาการปวดตามแนวพังผืดฝ่าเท้าไปจนถึงส้นเท้าได้
 

การรักษา

1.การแช่เท้าในน้ำอุ่นจะช่วยให้สบายขึ้น
2.การรับประทานหรือทายาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อลดการอักเสบ
3.การทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดและอาการอักเสบ เช่น การทำอัลตราซาวด์ เป็นต้น
4.การออกกำลังเพื่อยืดเอ็นร้อยหวาย โดยทำวันละ 2 – 3 รอบ ๆ ละ 10 – 15 ครั้ง

การยืดเอ็นร้อยหวาย (ท่าที่ 1):
ผู้ป่วยยืยหันหน้าเข้าหากำแพงใช้มือยันกำแพงไว้ วางเท้าที่ต้องการยืดเอ็นร้อยหวายไว้ข้างหลัง งอข้อศอกพร้อมกับ ย่อเข่าด้านหน้าลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยขาด้านหลังเหยียดตึงและส้นเท้าติดพื้นตลอดเวลา ย่อลงจนรู้สึกว่าน่องด้านหลังตึงแล้วค้างไว้นับ 1 – 10 ถือเป็น 1 ครั้ง

การยืดเอ็นร้อยหวาย (ท่าที่ 2):
ผู้ป่วยนั่งเหยียดขาข้างที่ต้องการยืดเอ็นร้อยหวาย ใช้ผ้าคล้องที่ปลายเท้าไว้ แล้วดึงเข้าหาตัวจนรู้สึกว่าน่องด้านหลังตึง ค้างไว้นับ 1 – 10 ถือเป็น 1 ครั้ง

การยืดเอ็นร้อยหวาย (ท่าที่ 3):
ผู้ป่วยยืนบนขอบพื้นต่างระดับ โน้มตัวไปข้างหน้าจนรู้สึกว่าน่องด้านหลังตึง ค้างไว้นับ 1 – 10 ถือเป็น 1 ครั้ง


5. การฉีดยาสเตียรอยด์ตรงตำแหน่งที่ปวดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ วิธีนี้จะลดการอักเสบได้ดี แต่ไม่ควรทำมากกว่า 2 – 3 ครั้งต่อปี เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเอ็นขาด
6. การเลือกใช้รองเท้าที่เหมาะสม คือมีส้นเล็กน้อย (สูงประมาณ 1 – 1.5 นิ้ว) เพื่อเป็นการถ่ายเทน้ำหนักตัวจากส้นเท้าไปยังฝ่าเท้า ส่วนหน้าซึ่งจะช่วยให้อาการปวดลดลง
7.การปรับรองเท้าให้เหมาะสม เพื่อช่วยลดอาการปวด โดยการใช้อุปกรณ์เสริมบริเวณอุ้งเท้าด้านใน และบริเวณส้นเท้าโดยใช้วัสดุที่มีความยืดหยุ่นที่เหมาะสมเพื่อกระจายและลดแรงกระแทกบริเวณส้นเท้าและเป็นการถ่ายน้ำหนักไปยังฝ่าเท้าส่วนหน้า
 

การป้องกัน

การออกกำลังเพื่อยืดเอ็นร้อยหวายอย่างสม่ำเสมอและการเลือกใส่รองเท้าที่เหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค และช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้

คณะแพทยศาสต์ศิริราชพยาบาล 
ข้อมูลจากเพจ นพดล อุ่นตา 

อัพเดทล่าสุด