สายตาสั้นเทียมคืออะไร อาการสายตาสั้นเทียม มาดูวิธีการป้องกันสายตาสั้นเทียม


874 ผู้ชม


สายตาสั้นเทียมคืออะไร อาการสายตาสั้นเทียม มาดูวิธีการป้องกันสายตาสั้นเทียม

สายตาสั้นเทียม (Pseudomyopia) เป็นภาวะสายตาสั้นที่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อในเนื้อเยื่อ Ciliary Body  ในลูกตาที่ใช้ในการเพ่งมองสิ่งที่อยู่ใกล้ มีการทำงานมากเกินไปจนเกิดการเกร็งค้าง ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า...

ในภาวะปกติ ตาคนเราที่มองวัตถุได้ชัดทั้งไกลและใกล้ เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดนี้ ทำให้แก้วตาเพิ่มกำลังการหักเหของแสงอันจะทำให้วัตถุที่อยู่ใกล้ไปโฟกัส (Focus; จุดรวม) ที่จอตาได้ ซึ่งเวลามองไกลกล้ามเนื้อมัดนี้จะคลายตัว แต่เวลามองใกล้กล้ามเนื้อมัดนี้จะหดตัวเกร็งตัวเพื่อเพิ่มกำลังของแก้วตาเกิดภาวะสายตาสั้นที่ทำให้มองใกล้ได้ชัดเจน ผู้ใดที่จ้องมองใกล้อยู่นาน ๆ กล้ามเนื้อนี้จะทำงานอยู่นานกว่าปกติ จึงเกิดภาวะสายตาสั้นค้างอยู่ เมื่อมองไกลจึงยังอยู่ในภาวะสายตาสั้น ทำให้มองภาพไกลไม่ชัด ซึ่งมักเป็นอยู่ระยะเวลาหนึ่ง ถ้ากล้ามเนื้อนี้คลายตัว สายตาก็จะกลับมาเหมือนเดิม

ดังนั้น ภาวะนี้จึงถือว่าเป็นสายตาสั้นเทียมหรือสายตาสั้นชั่วคราว ซึ่งแพทย์หลายท่านได้ให้ความเห็นว่า ในบางรายอาจจะทำให้จากสายตาสั้นเทียมหรือสายตาสั้นชั่วคราวกลายเป็นสายตาสั้นจริงและสายตาสั้นตลอดก็ได้ ส่วนสาเหตุนั้น สายตาสั้นเทียม มีสาเหตุมาจากการใช้สายตามองใกล้ เช่น เพ่งมองคอมพิวเตอร์ เล่นเกมส์ ใช้โทรศัพท์มือถือ และอื่น ๆ นานเกินไป

นอกจากนี้ ยังมีโรคทางสมองที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติชนิด Parasympathetic  มากเกินไปด้วย เช่น จากอุบัติเหตุที่สมอง โรคตาบางชนิดทำให้  Ciliary body  ทำ งานหนักมากขึ้น เช่น ยูเวียอักเสบ (Uveitis) ผลข้างเคียงจากยารักษาโรคบางอย่าง เช่น ยาคลายเครียดในกลุ่ม Phenothiazine  ยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน ยา Chloroquine ยา Diamox ตลอดจนยาคลายกล้ามเนื้อต่าง ๆ หรือแม้แต่ยาบางตัวที่ใช้รักษาโรคต้อหิน เช่น Pilocarpine ก็ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นชั่วคราวได้เช่นกัน

แนวทางในการป้องกันสายตาสั้นเทียมทำได้ ดังนี้

1. ควรมีการพักสายตาเป็นระยะ เมื่อต้องใช้สายตาระยะใกล้เพื่อให้กล้ามเนื้อที่ใช้เพ่งนั้นคลายตัวลง อาจจะเลือกใช้สูตร 20/20/20 คือใช้สายตาเพ่ง 20 วินาที มองไกล 20  ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที หรือ อาจจะพักสายตา 1 นาที ทุกครึ่งชั่วโมง หรือใช้สายตา 1 ชั่วโมง แล้วพักสายตา 5-10  นาทีก็ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการเพ่งค้าง

2. ไม่ควรใช้สายตาในที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ หรืออ่านหนังสือที่มีตัวขนาดเล็กมากเกินไป เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้เกิดการเพ่งมากขึ้นได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย อ.นพ.กวิน วณิเกียรติ ภาควิชาจักษุวิทยาคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อัพเดทล่าสุด