ต้องอ่าน!! ผู้ชายปัสสาวะบ่อย ระวังเป็นโรคต่อมลูกหมากโต (BPH)


6,738 ผู้ชม


ต้องอ่าน!! ผู้ชายปัสสาวะบ่อย ระวังเป็นโรคต่อมลูกหมากโต (BPH)

สำหรับคนที่กำลังเผชิญกับปัญหาปัสสาวะบ่อย ขอแนะนำว่าไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะไม่ใช่เพียงผู้หญิงเท่านั้นที่ต้องดูแลใส่ใจเรื่องการปัสสาวะ แต่ในยุคสมัยนี้แล้วคุณผู้ชายต้องหันมาดูแลใส่ใจด้วยเช่นกันโดยเฉพาะคุณผู้ชายที่มีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก คุณอาจตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่โรคต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia หรือ (BPH) ได้ 

นพ.ชววรรธน์ โกสีย์ศิริกุล ศัลยแพทย์โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า โรคต่อมลูกหมากโตเกิดจากหลายปัจจัย 

อย่างแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับอายุ ซึ่งพอผู้ชายอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ต่อมลูกหมากจะค่อย ๆ โตขึ้น และเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีอาการของต่อมลูกหมากโต 2. พันธุกรรม 3. ฮอร์โมนเพศชาย ที่เราเรียกว่า Dihydrotestosterone 

ซึ่งฮอร์โมนนี้จะมีผลต่อต่อมลูกหมาก เป็นอาหารที่มาเลี้ยงต่อมลูกหมาก ส่งผลให้ต่อมลูกหมากโตขึ้น พอเมื่อโตขึ้นแล้วก็จะไปกดที่ท่อปัสสาวะ ทำให้มีอาการปวดปัสสาวะบ่อย และทำให้ปัสสาวะลำบาก 

ทั้งนี้สัญญาณที่บอกว่า เรากำลังเป็นโรคนี้อยู่คือ เวลาปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะไม่แรง หรือปัสสาวะต้องใช้แรงเบ่งมากขึ้น ปัสสาวะแล้วไม่หมดบางครั้งปัสสาวะเสร็จแล้วมีน้ำปัสสาวะหยดตามออกมาทำให้เปรอะเปื้อนได้ อันนี้เป็นส่วนของภาวะอุดกั้น 

ส่วนอีกภาวะหนึ่งเรียกว่า Irritative Symptoms หรือเรียกว่า ภาวะการระคายเคือง ในส่วนนี้พอต่อมลูกหมากที่ไปอุดกั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ทำให้กระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวมากขึ้น ส่งผลให้คนไข้ปัสสาวะบ่อย หรือบางทีมีปัสสาวะแล้วแสบขัด หรือปัสสาวะบ่อยมากช่วงกลางคืน หรือบางคนกั้นปัสสาวะไม่อยู่ เช่น เวลาปวดปัสสาวะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที เป็นอาการที่บ่งชี้ว่าอาจจะเป็นต่อมลูกหมากโต 

สำหรับขั้นตอนการรักษา ถ้าคนไข้ยังมีอาการที่ไม่มาก แพทย์จะให้คนไข้ปรับเปลี่ยน Life Style หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไข้ได้ ส่วนกลุ่มคนไข้ที่มีอาการปานกลาง ถึงขั้นรุนแรง แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาอันดับแรก 

แต่ถ้าคนไข้ที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ตอบสนอง คนไข้อาจได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดต่อมลูกหมากโตมีด้วยกัน 2 วิธี คือ วิธีแรกเป็นวิธีดั้งเดิมที่มีการผ่าตัดทางหน้าท้อง เพื่อที่จะเอาเนื้อต่อมลูกหมากที่อุดกั้นท่อปัสสาวะออก ทำให้คนไข้ปัสสาวะได้ดีขึ้น 2. ผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง 

ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้วิธีทางส่องกล้องมากกว่า ซึ่งในกรณีนี้คนไข้จะถูกบล็อกหลังหรือดมยาสลบ เพื่อที่จะส่องกล้องเข้าไปที่ท่อปัสสาวะ ไปจนถึงต่อมลูกหมาก พอไปถึงต่อมลูกหมากแล้วแพทย์จะใช้วิธีการคว้านหรือจี้ด้วยไฟฟ้าทำให้เนื้อต่อมลูกหมากที่อุดกั้นของท่อปัสสาวะโล่งขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไข้ดีขึ้นก็จะปัสสาวะได้ดีขึ้น 

ถ้าพบอาการผิดปกติเบื้องต้นเลยคือต้องรีบพบแพทย์เข้ามาตรวจรักษาก่อนให้ทันท่วงที และก็จะได้รักษาตามวิธีทีเหมาะสม 
บทความจาก: โรงพยาบาลเวชธานี / แพรวดอทคอม 

อัพเดทล่าสุด