ขี้หู ประโยชน์ที่คุณรู้แล้วไม่อยากแคะทิ้ง


6,084 ผู้ชม

เข้าใจผิดมาทั้งชีวิต เรื่อง ขี้หู มีประโยชน์มากจนถึงกับไม่อยากแคะทิ้ง...


ขึ้นชื่อว่า "ขี้" ไม่ได้หมายความว่าจะสกปรกและต้องกำจัดให้หมดไปเสมอ ดังเช่น "ขี้หู" เพราะความจริงแล้วขี้หูมีประโยชน์มากกว่าที่เราๆ คิดเสียอีก 


ฉะนั้นใครที่เข้าใจว่าต้องหมั่นแคะทำความสะอาดนั้น เราต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่แล้วล่ะ 
"ขี้หู" เกิดจากการรวมตัวกันของสารที่ขับออกมาจากต่อมไขมันที่อยู่ในหูชั้นนอก รวมกับผิวหนังชั้นบนที่ลอกหลุดออกมา โดยมีสีแตกต่างกันได้ เช่น สีเหลือง น้ำตาล หรือสีแดง เป็นต้น และสำหรับเจ้าตัวน้อยที่อายุ 0-6 ปี ขี้หูมีประโยชน์คือช่วยป้องกันผิวหนังของรูหูจากสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำ เหงื่อ รวมไปถึงเชื้อโรค ฝุ่นละออง และปกติขี้หูที่สะสมอยู่จะแห้งหลุดออกมาได้เอง และจะไม่เคลื่อนตัวเข้าไปในส่วนลึกๆ ของรูหู จึงไม่จำเป็นต้องแคะหรือใช้ไม้พันสำลีเช็ดเข้าไปในหู 


มีขี้หู…ต้องดูแลจริงหรือ? 
สำหรับขี้หูจริงๆ แล้วไม่ต้องไปทำอะไรเลย บ่อยครั้งที่คุณแคะ เพราะกลัวหูจะสกปรกนั้น อาจดันให้ขี้หูยิ่งเข้าไปสะสมในรูหูส่วนลึก หรืออาจทำให้รูหูถลอก เกิดการอักเสบ ติดเชื้อได้ โดยเฉพาะผิวหนังส่วนในนั้นบอบบางมาก ถ้าไปแคะหรือแหย่หูลึกๆ กระแทกโดนจะทำให้เจ็บมาก และอาจเป็นอันตรายต่อแก้วหูได้ 
บางคนอาจจะบอกว่าถ้าไม่ได้แหย่เข้าไปในรูหูลึกๆ คงจะไม่เป็นอะไรมั้ง ความจริงแล้วการแคะบ่อยๆ ก็ไม่ดีค่ะ การแคะหู จะไปทำลายขี้หูทำให้รูหูขาดสารป้องกันเชื้อ และยังไปกระตุ้นให้มีการสร้างขี้หูเพิ่มขึ้น หากคุณปั่นหูหรือแคะเป็นประจำ ขี้หูก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งธรรมชาติของการใช้ไม้พันสำลีปั่นหู อาจเกิดการดันขี้หูทะลุเข้าแก้วหูได้ 


สำหรับลูกน้อย จะดูแลหูอย่างไรดี? 
เพราะขี้หูไม่ได้มีโทษอะไร การดูแลทำความสะอาดจึงง่ายมาก หลังอาบน้ำสระผมให้เจ้าตัวเล็กแล้ว เพียงใช้ผ้าเช็ดตัวซับน้ำตามใบหูให้แห้ง แค่นั้นก็เป็นเรียบร้อยแล้วแต่หากลูกมีอาการหูอื้อ ได้ยินไม่ชัด ปวดหู หรือน้ำเข้าหูนานแล้วหูยังอื้อไม่หาย ให้พาไปพบคุณหมอ เพื่อช่วยแคะขี้หูออกให้ค่ะ 
ซึ่งคุณหมอจะทำอย่างถูกวิธี และมีการระวังการโดนผนังรูหู แถมทำเพียงครั้งเดียว ไม่ได้ทำทุกวันด้วย ถ้าคุณพ่อคุณแม่แคะหูให้เจ้าตัวน้อย ไม้แคะหู หรือสำลี อาจจะขูดผิวหนังให้เป็นแผลได้นะคะ แม้ว่าแผลจะเล็กจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่แผลนั้นก็ยังใหญ่กว่าขนาดของเชื้อโรคที่จะเข้าไปในแผลได้ 


5 คำถามเรื่องขี้หู ขี้หู 
1. ถาม : อาการขี้หูตัน เกิดจากอะไร และมีอาการอย่างไร เกิดในเด็กได้หรือไม่
ตอบ : อาจเกิดขึ้นในเด็กได้ โดยมักเกิดจากการแคะ การทำความสะอาดที่มากเกินไป จนทำให้เกิดการระคายเคือง อักเสบ แล้วกระตุ้นให้เกิดการสร้างขี้หูมากขึ้น จนเกิดการสะสมของขี้หู ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ทำให้อุดตันในรูหูได้ โดยเด็กอาจจะมีอาการคัน เจ็บตึงๆ ที่บริเวณหู หรือมีอาการหูอื้อ ได้ยินไม่ชัด

 
2. ถาม : หากเด็กๆ คันในรูหู แล้วเกาบ่อยๆ แรงๆ ควรทำอย่างไรดี
ตอบ : การที่เด็กคันหูนั้น อาจเป็นเพราะคุณแม่ใช้สำลีพันแล้วเช็ดรอบๆ หูบ่อยๆ จึงทำให้เจ้าตัวเล็กคันได้ และเกาตลอด เพราะเด็กๆ ยังกะน้ำหนักไม่ถูก เวลาคันก็มักจะเกาแรง จนเกิดการถลอก ทำให้หูชั้นนอกอักเสบได้ เพราะฉะนั้นวิธีแก้คือทำความสะอาดปกติ ไม่ต้องใช้สำลีเช็ด แค่ผ้าขนหนูเช็ดรอบๆ หลังอาบน้ำ ซึ่งถ้ายังไม่หาย ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป 


3. ถาม : เวลาที่อาบน้ำให้เจ้าตัวเล็กแล้วน้ำเข้าหู ต้องทำอย่างไร
ตอบ : เวลาน้ำเข้าหูเจ้าตัวเล็ก น้ำจะไหลออกมาเอง ซึ่งจะมีเยื่อแก้วหูช่วยป้องกันไม่ให้น้ำเข้าสู่หูชั้นกลาง ถ้าน้ำเข้าหูเป็นชั่วโมงแล้วยังไม่ออกมา ส่วนใหญ่เป็นเพราะมีขี้หูในส่วนลึกของรูหูซึ่งอมน้ำไว้ กรณีเช่นนี้ควรให้แพทย์ หู-คอ-จมูก ตรวจทำความสะอาดหู แพทย์อาจล้างหูด้วยการฉีดน้ำ หรือใช้เครื่องดูดขี้หู แล้วแต่ความเหมาะสม 


4. ถาม : ถ้ามียุง มด หมัด เห็บ แมลงต่างๆ เข้าไปในหูเจ้าตัวเล็ก ควรทำอย่างไรดี
ตอบ : เวลาที่มีแมลง หรือสัตว์ตัวเล็กๆ เข้าไปในหูเด็กๆ จะรู้สึกรำคาญ หงุดหงิด ถ้าเป็นเด็กเล็กจะร้องไห้โยเย ถ้าแมลงเคลื่อนไหวคลานอยู่ในหูหรือกัดจะรู้สึกเจ็บ บางคนจะเจ็บมาก มีอาการทุรนทุราย มีวิธีช่วยเหลือเบื้องต้นคือ ให้ใช้น้ำมันมะกอกหยอด เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงเกาะหรือกัดแก้วหูแล้วนำส่งโรงพยาบาล ถ้าปวดหูมากให้กินยาแก้ปวดก่อนนำส่งโรงพยาบาล 


5. ถาม : หูชั้นนอกอักเสบเกิดได้จากอะไรบ้าง
ตอบ : จริงๆ แล้วหูชั้นนอกเกิดการอักเสบได้ยากมาก ซึ่งการจะอักเสบนั้นอาจเกิดจาก


1. การที่ขี้หูมีความชื้นสูง ซึ่งอาจเกิดจากน้ำเข้าหู การว่ายน้ำบ่อยๆ อยู่ในที่อากาศร้อน (จนเหงื่อออกในหู) เมื่อขี้หูเปียกบ่อยๆ ก็จะลดความเป็นกรดและไม่อาจต้านทานแบคทีเรียได้
2. มีวัตถุเข้าไปแหย่ในหูจนเกิดแผล เช่น การเอานิ้วแคะหู การใส่หูฟัง การใส่ที่อุดหูกันน้ำเข้า การใช้ไม้พันสำลีแคะหู รวมไปถึงการใช้สารเคมีบางอย่างหยอดหู อย่างเช่นแอลกอฮอล์ หรือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และสารอื่นๆ ก็อาจจะทำให้หูอักเสบได้
3. การมีขี้หูอุดตันก็จะทำให้หูอักเสบได้ 


บทความจาก นิตยสาร รักลูก 

อัพเดทล่าสุด