ฝี ฝีเกิดจากอะไร วิธีรักษาฝี สมุนไพรรักษาฝี ปลอดภัย และไม่ยุ่งยาก


14,159 ผู้ชม

ฝี (abscess) เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งโดยทั่วไปการติดเชื้อไม่ว่าชนิดใดล้วนเกิดจากปัจจัย 3 อย่าง คือ ตัวเราเอง เชื้อโรค และ สิ่งแวดล้อม...



ฝี (abscess) เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งโดยทั่วไปการติดเชื้อไม่ว่าชนิดใดล้วนเกิดจากปัจจัย 3 อย่าง คือ ตัวเราเอง เชื้อโรค และ สิ่งแวดล้อม ฝีเกิดจากเชื้อโรคได้หลายชนิดทั้งแบคทีเรีย เชื้อรา และอะมีบา 
ขณะที่ตัวเราอยู่ในภาวะที่อ่อนแอลงหรืออยู่ในภาวะแวดล้อมบางอย่างที่มีส่วนสนับสนุนให้เชื้อโรคบางชนิดเติบโตได้ดี ภูมิคุ้มกันจะผิดปกติไป ไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคได้ และทำให้เราติดเชื้อชนิดนั้นได้ง่ายขึ้น 


ฝี มักเกิดในบริเวณที่มีเหงื่อ อับชื้น มีขน หรือถูกเสียดสีมาก ซึ่งจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ เช่น บริเวณคอ ศีรษะ ใบหน้า รักแร้ เต้านม ต้นขา ก้น และบริเวณอวัยวะเพศ นอกจากปัจจัยภายนอกดังกล่าว ฝียังเกิดจากสาเหตุภายในตัวเราได้อีกด้วย เมื่อเป็นฝี ต้องลองสังเกตตัวเองดูสักนิดว่าอยู่ในภาวะที่อาจทำให้เกิดฝีเหล่านี้บ้างหรือไม่ 
มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือป่วยเป็นโรคเบาหวาน เพราะภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นตัวสร้างสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่เอื้อต่อการเจริญของเชื้อโรค


รับประทานยาประเภทสเตียรอยด์เป็นประจำ ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น เพราะยาประเภทนี้จะไปกดระบบภูมิคุ้มกันที่คอยต่อต้านเชื้อโรค ลองสังเกตดูชื่อยาที่เรากินประจำ ชื่อยาประเภทสเตียรอยด์มักลงท้ายด้วย -one หรือ -ol เช่น Hydrocortisone Prednisolone
มีปัญหาด้านโภชนาการ เช่น ขาดอาหาร โลหิตจาง เป็นความผิดปกติที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ ติดเชื้อโรคได้ง่ายกว่าปกติ เช่น เชื้อโรคที่มีความรุนแรงต่ำอย่างเชื้อรา ซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้วอาจมีความรุนแรงของการอักเสบมากกว่าปกติได้
อาการของฝี 


ผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อจะมีอาการ อักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน เป็นตุ่มแข็ง และโตขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาจะนุ่มลงและกลัดหนอง เมื่อผ่านไปไม่กี่วัน ฝีสามารถแตกเองได้ และอาการเจ็บปวดจะทุเลาลง บางครั้งขณะเป็นฝีอาจพบต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงอักเสบร่วมด้วย 
เชื้อโรคจากฝีสามารถลุกลามกระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงหรือแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ ถ้าอวัยวะนั้นไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้ ก็จะเกิดการอักเสบ เกิดเป็นฝีขึ้นมาในบริเวณนั้นได้อีก เช่น ถ้าเชื้อลุกลามเข้ากระแสเลือด สามารถทำให้เป็นฝีที่ไต ตับ สมอง และกระดูกได้ 


สมุนไพรกลางบ้านรักษาฝี 

ไทยเราใช้สมุนไพรกลางบ้านในการการรักษาฝีมาแต่โบราณซึ่งมีอยู่มากมายหลายขนาน สามารถนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัย และไม่ยุ่งยาก มีหลายสูตรให้เลือกใช้ตามความสะดวก 
1. ขมิ้นชัน ในขมิ้นมีน้ำมันหอมระเหยประมาณร้อยละ 2-6 มีสารหลายชนิด คือ Turmerone, Zingiberene, Borneol และสารสีเหลืองส้ม คือ Curcumin ประมาณร้อยละ 1.8-5.4 มีสรรพคุณฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ช่วยลดการอักเสบได้ดี และช่วยสมานแผล

วิธีใช้ : นำเหง้าสดยาวประมาณ 2 นิ้ว ฝนกับน้ำต้มสุกทาบริเวณที่เป็น หรือจะใช้ผงขมิ้นโรยก็ได้

2. ใบบัวบก สารออกฤทธิ์ในใบบัวบก คือ Madecassic acid, Asiatic acid, Asiaticoside, Madecassoside มีฤทธิ์สมานแผล ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง ฆ่าเชื้อรา ลดการอักเสบ

วิธีใช้ : นำบัวบกทั้งต้นสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาดตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำนำมาชโลมบริเวณที่เป็น จะใช้กากพอกด้วยก็ได้ ทำวันละ 3 ครั้งจนหาย

3. ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรนี้มีสารสำคัญ ได้แก่ สารกลุ่ม Lactone คือ Andrographolide, Deoxandrographolide, Neoandrographolide ช่วยลดการอักเสบของฝี นอกจากนั้นแล้วยังสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดหนองได้

วิธีใช้ : เตรียมง่ายๆ โดยตำใบฟ้าทะลายโจรพอกฝีหรือคั้นน้ำจากใบทาบริเวณฝี

4. เปลือกมังคุด เปลือกผลมังคุดมีสารแทนนิน 8.75%-10.5% จากการทดลองพบว่า เปลือกมังคุดมีฤทธิ์สมานแผล และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย อันเป็นสาเหตุของการเกิดหนอง และลดการอักเสบ

วิธีใช้ : ใช้เปลือกผลแห้ง ย่างไฟให้เกรียม ฝนกับน้ำปูนใส ใช้พอกฝี

5. ว่านหางจระเข้ วุ้นของใบว่านหางจระเข้นี้มีสารเคมี เช่น Aloe-emodin, Aloesin, Aloin และสารประเภท Glycoprotein มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ช่วยสมานแผลได้

วิธีใช้ : นำใบว่านมาปอกเปลือก ล้างยางออกด้วยน้ำต้มสุกหรือน้ำด่างทับทิม ขูดเอาวุ้นมาพอก วันละ 3 ครั้ง ข้อควรระวัง ควรทดสอบการแพ้ก่อนนำไปใช้ โดยลองทาวุ้นบริเวณท้องแขนก่อน ถ้าไม่เกิดอาการแพ้ เช่น คัน หรือเป็นผื่นแดง แสดงว่าสามารถใช้ได้

6. ชุมเห็ดเทศ มีสารสำคัญคือ แอนทราควิโนน เช่น สาร Aloe-modin, Chrysophanol, Emodin, Sennoside และยังมีสารพวก Flavonoids, Terpenoids รายงานการวิจัยพบว่าสารสกัดใบสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อ Trichophyton mentagrophytes และมีฤทธิ์ต้านเชื้อราได้

วิธีใช้ : นำใบและก้านสด 1 กำมือ ต้มกับน้ำ เคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 ใช้ล้างฝี วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น

7. ว่านมหากาฬ ช่วยถอนพิษ บรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน ทำให้เย็น รักษาพิษอักเสบ

วิธีใช้ : นำใบสดมาโขลกผสมกับเหล้าขาว ใช้พอกฝี หรือ นำส่วนหัวว่านมาตำพอกฝีหรือฝนกับน้ำปูนใสทาบริเวณที่เป็นฝี วันละ 3-4 ครั้ง

8. เทียนบ้าน ใบเทียนบ้านมีส่วนประกอบของ 2- methoxy-1, 4 naphthaquinone ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราได้ และสารสกัดจากใบของเทียนบ้านยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจำพวก dermatophytes ที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนังได้ด้วย

วิธีใช้ : ใช้ใบสดและดอกสด 1 กำมือ ตำพอกฝี หรือคั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นฝี วันละ 3 ครั้ง

9. เมล็ดต้อยติ่ง สรรพคุณช่วยดูดหนอง บรรเทาอาการปวด ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

วิธีใช้ : หยดน้ำลงในเมล็ดต้อยติ่ง เมื่อเมล็ดจะพองออกแผ่ติดกัน นำมาพอกหัวฝีสุกการรักษาฝีเพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้นนั้น

อาหารการกินเมื่อเป็นฝี 

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นฝีนอกจากสูตรสำเร็จ คือ กินอาหารให้ครบ 5หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาความสะอาดของร่างกายแล้ว ยังมีสูตรพิเศษซึ่งทำได้ง่ายๆ เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกายให้แข็งแรงขึ้น ช่วยให้ฝีหายไว 

1. ควรดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว

2. ดื่มน้ำผสมน้ำมะนาวคั้นสด 1 ลูก ตอนตื่นนอนและก่อนเข้านอน

3. งดอาหารที่ก่อให้เกิดความเครียด (stressor food) โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำตาลขัดขาวและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ อย่างน้อย 2 สัปดาห์

4. งดบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว และอาหารที่ผ่านการแปรรูป

5. รับประทานกระเทียมมากๆ ในอาหารแต่ละมื้อ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

6. รับประทานผลไม้จำพวกเบอร์รี่ (ทั้งสดและแช่เย็น) ดื่มชาที่ชงจากใบเบอร์รี่

7. เป็นฝีแล้วควรใส่ใจสังเกต หาสาเหตุที่แท้จริง และดูแลรักษาตัวเองอย่างดี เท่านี้ก็จะช่วยจัดการกับปัญหาสุขภาพที่อาจตามมาได้ทันท่วงที 


บทความจาก: cheewajit.com 

อัพเดทล่าสุด