5 เทคนิคแก้ปัญหากลิ่นปากให้ถูกทาง (e-magazine) น่าจะเคยเป็นกันบ้างที่เวลาจะพูดกับใคร เรามักจะไม่มั่นใจในกลิ่นปากและลมหายใจของเรา
5 เทคนิคแก้ปัญหากลิ่นปากให้ถูกทาง (e-magazine) น่าจะเคยเป็นกันบ้างที่เวลาจะพูดกับใคร เรามักจะไม่มั่นใจในกลิ่นปากและลมหายใจของเรา จึงทำให้ไม่มั่นใจในการสนทนาเท่าควร ปัญหาของกลิ่นปาก บางครั้งเจ้าของกลิ่นก็ไม่รู้ตัว และคนข้าง ๆ ก็ไม่กล้าบอก แถมยังเป็นตัวทำลายบุคลิกภาพเสียยับเยิน บางคนรู้สาเหตุแต่ยังแก้ไม่ถูกทางทำให้กลิ่นปากกลายเป็นปัญหากวนใจที่แก้ไม่ได้เสียที
สาเหตุของกลิ่นปาก ส่วนใหญ่เกิดจากเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ตามซอกฟัน บริเวณที่ทำความสะอาดได้ยาก หรือในรูฟันผุ เคยได้ยินหรือเปล่าว่า กลิ่นปากอาจเกิดจากโรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินหายใจ โรคเบาหวาน หรือเกิดจากอาหารบางชนิด ที่ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ ทั้งหมดนี้จริงหรือไม่จริงอย่างไร มาดูคำตอบกัน กลิ่นปากเกิดขึ้นได้อย่างไร
สาเหตุที่พบได้มากที่สุด 80-90% ของผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องลมหายใจมีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นปาก คือมาจากช่องปากนั่นเอง ส่วนใหญ่เกิดจากเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ตามซอกฟัน บริเวณที่ทำความสะอาดได้ยาก หรือในรูฟันผุ ซึ่งจะมีเศษอาหารเน่าอยู่ รวมทั้งแผ่นคราบฟันและหินปูนที่อยู่รอบ ๆ ฟัน ซึ่งเป็นที่เก็บกักและสะสมเชื้อโรคต่างๆ และก็มีบางส่วนที่เกิดจากโรคในช่องปาก เช่น ภาวะเหงือกอักเสบ เป็นหนอง จากโรคปริทนต์ หรือมีฟันโยก
น้ำลายก็มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก เนื่องจากน้ำลายเปรียบเสมือนน้ำยาบ้วนปากที่ธรรมชาติสร้างขึ้น ช่วยชะล้างสิ่งสกปรกภายในช่องปาก เมื่อมีน้ำลายหลั่งออกมากทำให้ช่องปากสะอาดมากกว่าน้ำลายที่หลั่งออกมาน้อย และช่วยลดการบูดเน่าของอาหารที่ทำให้เกิดกลิ่น
ดังนั้น ภายหลังตื่นนอนใหม่ ๆ จะพบว่า กลิ่นปากจะแรง เพราะในขณะที่นอนหลับน้ำลายจะถูกขับออกมาน้อย ทำให้น้ำลายมีการหมุนเวียนน้อย เศษอาหารที่ตกค้างสะสมอยู่จึงมีการบูด เกิดเป็นกลิ่นปากค่อนข้างแรง เมื่อได้แปรงฟันแล้วน้ำลายมีการไหลเวียนมากขึ้น กลิ่นปากจึงบรรเทาลง
ผู้ป่วยที่มีปัญหาปากแห้ง เนื่องจากมีการหลั่งน้ำลายน้อย จะมีปัญหากลิ่นปาก และสาเหตุที่ทำให้การหลั่งน้ำลายน้อย อาจมีหลายสาเหตุ เช่น ทานยาบางชนิด อยู่ในภาวะอดอาหาร การดื่มน้ำไม่เพียงพอ อากาศร้อน ตลอดจนภาวะทางจิตใจ ความเครียด อาชีพที่ใช้เสียงมาก ๆ เช่น ครู ทนายความ เป็นต้น
กลิ่นเหม็นจากช่องปากบางครั้งเกิดขึ้นได้จากโคนลิ้นด้านในสุด เนื่องจากมีน้ำเมือกในช่องจมูกไหลลงคอ ซึ่งในภาวะเช่นนี้ไม่จำเป็นว่าจะเกิดจากการเจ็บป่วยหรือเป็นโรค แต่มักมีสาเหตุมาจากอาการภูมิแพ้ น้ำเมือกที่ไหลลงคอในระยะแรก ๆ จะไม่ทำให้เกิดกลิ่นปาก แต่สัก 2-3 วัน แบคทีเรียที่อยู่บริเวณนี้จะย่อยน้ำเมือกและทำให้เกิดกลิ่น เวลาพูดจะทำให้ได้กลิ่นเหม็นเนื่องจากมีลมผ่านลิ้นที่เคลื่อนไหวในขณะพูด
นอกจากนี้ อาหารและเครื่องดื่มบางชนิดเมื่อรับประทานไปแล้วจะมีกลิ่นขับออกมาทางลมหายใจ เช่น หัวหอม กระเทียม ทุเรียน ผู้ที่ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ หรือท้องผูกหลาย ๆ วัน ก็ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ รวมทั้งผู้ป่วยโรคทางร่างกายบางอย่าง เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง วัณโรค โรคปอด และโรคระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะโรคเบาหวาน จะมีกลิ่นลมหายใจเหม็นจากสารคีโตน ซึ่งพบเฉพาะในคนที่คุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี
5 เทคนิคไม่มีกลิ่นปาก
ผู้ที่ทราบสาเหตุของกลิ่นปากควรจะรักษาตามสาเหตุ ส่วนผู้ที่ไม่พบสาเหตุ หรือไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน ก็สามารถบรรเทาได้โดยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
1. ดูแลสุขภาพในช่องปากให้เป็นอย่างดี
2. ทำความสะอาดโคนลิ้นด้วยแปรงทำความสะอาดลิ้น
3. รับประทานอาหารที่มีใยอาหารเยอะ
4. รับประทานน้ำอย่างเพียงพอ
5. บ้วนปากและกลั้วปากด้วยน้ำยาทำความสะอาด เวลาที่จะทำการบ้วนปากด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่ดีที่สุด คือ ช่วงเวลาก่อนนอน เนื่องจากจะทำให้น้ำยาทำความสะอาดตกค้างในปากได้นานและออกฤทธิ์ได้นาน ทำให้ลดกลิ่นปากหลังตื่นนอนได้เป็นอย่างดี
เคล็ดลับป้องกันปัญหากลิ่นปาก
การป้องกันปัญหากลิ่นปากทำได้ง่าย ๆ โดยการทำความสะอาดช่องปากอยากทั่วถึง วันละอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน ร่วมกับยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพื่อขจัดเศษอาหารและกำจัดเชื้อโรคออกให้หมด นอกจากนี้ควรเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดกลิ่นปากรุนแรง รวมถึงการสูบบุหรี่ ก็เป็นสิ่งที่ควรเลี่ยงเพื่อป้องกันการเกิดปัญหากลิ่นปากเรื้อรัง ซึ่งหากเป็นปัญหากลิ่นปากเรื้อรังก็ควรปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่มั่นใจเรื่องกลิ่นปาก ลองกลับไปหาสาเหตุที่แท้จริงและทำตามคำแนะนำดู หากยังไม่สามารถแก้ปัญหากลิ่นปากได้แนะนำให้พบทันตแพทย์โดยเร็วเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และรับการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อบุคลิกภาพที่ดีและความมั่นใจของคุณจะได้กลับมา
ที่มา: health.kapook.com/view83610.html