อย่าปล่อยให้ลูกคุณ อ้วน!!


1,197 ผู้ชม

ความอ้วนไม่เข้าใครออกใคร ล่าสุดได้มีสถิติของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข บอกเกี่ยวกับสัดส่วนของเด็ก...



         ความอ้วนไม่เข้าใครออกใคร ล่าสุดได้มีสถิติของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข บอกเกี่ยวกับสัดส่วนของเด็กไทยถึงแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเป็นเด็กอ้วนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าในปีนี้ พ.ศ.2558 เด็กก่อนวัยเรียนของประเทศไทยจะกลายเป็นเด็กอ้วนในสัดส่วนที่สูงถึง 1 ใน 5 กล่าวคือ เด็ก 5 คน จะมีเด็กอ้วน 1 คน ส่วนเด็กในวัยเรียน จะมีสัดส่วนของเด็กอ้วนอยู่ที่ 1 ใน 10  เมื่อเด็กวัยเรียนอ้วนเพิ่มขึ้นทุกปี

         โครงการปิ๊งส์ โดย แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้ร่วมมือกับ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย สำนักโภชนาการสมวัย สำนักงานบริหารแผนงานอาหารและโภชนาการ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เครือข่ายคนไทยไร้พุง องค์กรซ่อนอ้วน เครือข่ายลดบริโภคเค็ม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนศรีวิกรม์ เดินหน้าจัดประกวดสื่อ โปสเตอร์ สติกเกอร์ และเสื้อยืด หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ปี2 (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้) มารณรงค์ป้องกันลดสัดส่วนเด็กอ้วน ก่อนพุ่งสูงในปี 2558 นี้

           โดยอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัยและอุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย บอกว่า จากสถิติของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับสัดส่วนของเด็กไทยที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเป็นเด็กอ้วนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าในปี พ.ศ.2558 เด็กก่อนวัยเรียนในประเทศไทยจะกลายเป็นเด็กอ้วนในสัดส่วนที่สูงถึง 1 ใน 5 กล่าวคือ เด็ก 5 คน จะมีเด็กอ้วน 1 คน ส่วนเด็กในวัยเรียน จะมีสัดส่วนของเด็กอ้วนอยู่ที่ 1 ใน 10 ซึ่งนับว่าเป็นอุบัติการณ์โรคอ้วนในเด็กไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสถิติดังกล่าวอาจทำให้สรุปได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเพิ่มของโรคอ้วนในเด็ก (Childhood obesity) เร็วที่สุดในโลก โดยเฉพาะช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กก่อนวัยเรียนอ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 และเด็กวัยเรียน (6-13 ปี) อ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 สาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาโรคอ้วนในเด็กไทยคือ พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารขยะ (Junk food) และน้ำอัดลม เป็นต้น พฤติกรรมการบริโภคของเด็กส่งผลถึงประสิทธิภาพในการเรียน สติปัญญา และคุณภาพพลเมืองในอนาคต ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ

            “เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าว ถ้ายังปล่อยให้เด็กอ้วนโดยไม่มีการควบคุมดูแล เด็กเหล่านี้จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อ้วนถึงร้อยละ 30 ถ้าปล่อยให้อ้วนไปเรื่อยๆ เด็กเหล่านี้จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อ้วนถึงร้อยละ 80 แล้วพอผู้ใหญ่อ้วนนั้นก็จะมีโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมามหาศาล โดยเฉพาะโรคหัวใจ และหลอดเลือด รวมถึงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด อัมพาต อัมพฤกษ์ สารพัดโรค ทำให้คนไทยเจ็บป่วย เสียชีวิต และประเทศสูญเสียเงินทองมากมายเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเหล่านี้ เป็นการทำลายเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิงเพราะต้นทุนการรักษาโรคนี้สูงลิบลิ่ว นี่คือเหตุผลหลักว่าทำไมเราต้องมาดูเรื่องอ้วนในเด็กด้วยโครงการนี้” อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ บอก

            ทั้งนี้ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ บอกเพิ่มว่า การแก้ปัญหาด้วยการลดอาหารหวานจัด มันจัด เค็มจัด จึงเป็นประเด็นหลักที่ต้องให้รณรงค์ โดยหวานจัด คือ การที่คนเราบริโภคน้ำตาลเข้าไปเกินขนาด เพราะน้ำตาลเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแต่ถ้ากินมากจนล้นเกิน ใช้ไม่หมดน้ำตาลก็จะเปลี่ยนเป็นไขมัน พอเป็นไขมันก็จะถูกสะสมไว้ในร่างกาย ในหลอดเลือดใต้ผิวหนัง เกาะอยู่ที่พุง เป็นที่มาของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสารพัด, มันจัด คือ อาหารที่มีไขมันสูงพอกินเข้าไป เมื่อร่างกายใช้ไม่หมดก็จะเก็บไว้เช่นเดียวกัน ส่วนรสเค็มจัดนั้นถ้าร่างกายได้รับเข้าไปก็หมายถึงได้โซเดียมเข้าไปในปริมาณที่สูงเกินความต้องการของร่างกาย จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้ไตทำงานหนักทำให้เกิดโรคไต และนำพาไปสู่โรคความความดันโลหิตสูง และโรคอื่นก็จะตามมา

         ซึ่งอันที่จริงแล้วคน 1 คนควรปฏิบัติดังนี้ ....

              กินน้ำตาลไม่เกิน 6-8 ช้อนชา แต่จากสถิติคนไทยกินมากถึง 20 ช้อนชา

              สำหรับน้ำมันไม่ควรกินเกิน 6 ช้อนชา แต่คนไทยก็กินไปมากกว่า 10 ช้อนชา

  เกลือก็เช่นกันไม่ควรกินเกิน 1 ช้อนชา แต่คนไทยกินไป 2 ช้อนครึ่ง

              การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ถ้าใช้สื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนไทยได้ง่ายขึ้นน่าจะสามารถลดภาวะโรคอ้วนได้

        ทำไมต้องลดหวานมันเค็ม เพิ่มผักผลไม้???

          ประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะออกมารณรงค์ให้คนไทยตระหนักและเห็นภัยร้ายของความอ้วนที่นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เหตุนี้แหละที่ทำให้คนไทยส่วนมากมองเห็นคนอ้วนเป็นเรื่องธรรมดา จนเกิดความเคยชินชาว่าอ้วนไม่ใช่ภัยร้าย อ้วนไม่ใช่โรค อ้วนคือคนอวบ ตัวใหญ่ ใครๆ ก็อ้วนทำไมเราจะอ้วนไม่ได้ ความคิดเหล่านี้อันตราย ในที่สุดขืนปล่อยให้คนไทยมองภาพคนอ้วนเป็นเรื่องปกติ สิ่งที่ตามมาในอนาคตอันไม่ไกลนักคือภาพลักษณ์ของไทยคือคนที่อ้วน เหมือนที่เรามองคนอเมริกาและคนยุโรปในขณะนี้

            "กินหวานทำไมจึงอ้วน?" เพราะหวานคือรสชาติของน้ำตาล ซึ่งจัดอยู่ในอาหารที่ให้พลังสูญเปล่า หมายถึงกินน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย ถ้ากินมากจนล้นเกิน ร่างกายใช้ไม่หมด ร่างกายมหัศจรรย์มาก สามารถเปลี่ยนน้ำตาลเม็ดขาวๆ นี่แหละเป็นไขมันได้ภายในครึ่งชั่วโมง มันเยิ้มเก็บสะสมไว้ที่ตับที่พุง หลอดเลือดอุดตัน สารพันโรคก็ตามมา คนกินหวานมักไม่รู้ว่าตัวเองติดหวาน เพราะส่วนมากติดมาตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้น การป้องกันการติดหวานที่ได้ผลมากที่สุดคือ ต้องเริ่มฝึกนิสัยการกิน ไม่ให้ติดหวานมาตั้งแต่ทารกและเด็กเล็ก โดยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และให้กินอาหารตามวัยทั้งอาหารหลักและอาหารว่างที่ไม่หวาน พอผ่านเข้าสู่วัยผู้ใหญ่คนเหล่านั้นจะเป็นคนไม่ติดหวาน แต่ถ้าติดหวานมาตั้งแต่เด็กแล้ว ต้องการลดการกินหวานลง ก็ทำได้ไม่ยากหากเราเอาจริง เพียงแต่ต้องเริ่มด้วยการสร้างจิตสำนึกให้ตัวเองตลอดเวลาว่ากินหวานจัด จะนำไปสู่ความอ้วนอันตราย แล้วเริ่มฝึกนิสัยทีละเล็กทีละน้อย อย่าหักดิบ เช่น เคยเติมน้ำตาลลงในกาแฟครั้งละ 3 ช้อนชา ก็ค่อยๆ ลดลงให้เหลือ 1 ช้อนชา หรือกินกาแฟดำ หรือจากที่เคยกินน้ำหวานคนเดียวหนึ่งขวด ต่อไปนี้แบ่งเพื่อนกินคนละครึ่งขวด ในที่สุดเลิกกินไปเลย กินอาหารที่มีลดหวานในจำนวนที่น้อยลง เช่น แต่ก่อนเคยกินเค้กชิ้นโต ต่อมาค่อยๆ ลดเป็นชิ้นเล็กและบางลงเรื่อยๆ เป็นต้น

             การกินมันๆ แล้วอ้วนคงไม่มีใครสงสัย เพราะตรงไปตรงมา อาหารมันๆ ที่ทำให้คนไทยอ้วนส่วนมากเป็นอาหารประเภททอดๆ ผัดๆ กะทิ และเนื้อสัตว์ติดมัน ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ โดยเฉพาะอาหารประเภททอดและผัดซึ่งเป็นวิถีการกินของคนไทยยุคเร่งรีบที่ต้องปรุงอาหารที่ง่ายๆ รวดเร็วอย่างเช่นการทอดน้ำมันลอย เช่น ไก่ทอด หมูทอด ปาท่องโก๋ และสารพัด ของทอด ยิ่งกินอาหารประเภทผัดๆ ร่วมด้วยยิ่งทำให้ร่างกายได้รับไขมันส่วนเกินมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการกินข้าวและอาหารประเภทแป้งมากจึงทำให้ซ้ำเติมให้อ้วนเข้าไปกันใหญ่ อาหารประเภทต้ม แกง น้ำพริก ยำ ย่าง ที่มีไขมันต่ำและอุดมด้วยผักเริ่มกินน้อยลง ดังนั้น อาหารทอดๆ ผัดๆ จึงกลับกลายเป็นอาหารประจำวันของคนไทย จึงทำให้คนไทยมีโอกาสได้รับไขมัน จากอาหารมากขึ้น ทางออกคือต้องฝึกนิสัยการกินของตัวเองและคนในครอบครัวเสียใหม่ ค่อยๆ เปลี่ยนเมนูประเภทผัดทอดมาเป็นเมนู ต้ม แกง ยำ น้ำพริก ให้บ่อยขึ้น

               ส่วนอาหารรสเค็มไม่ได้ทำให้อ้วน แต่ถ้ากินเค็มจัดจะมีผลเสียต่อสุขภาพร้ายแรงพอๆ กับการกินหวานและมัน เพราะการกินเค็มคือการนำเอาโซเดียมเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง และโรคไต คนที่กินเค็มมักไม่ค่อยรู้ตัว แต่ถ้าไปกินอาหารรสปกติแล้วบอกว่ารสจืด คุณคือคนกินเค็ม การฝึกให้ตนเองลดการกินเค็มต้องใส่ใจที่จะทำให้ได้ พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ถนอมอาหารด้วยเกลือ เช่น อาหารหมักดอง ปลาเค็ม ปลาร้า กะปิ น้ำบูดู เต้าหู้ยี้ หน่อไม้ดอง อาหารกระป๋อง อาหารดังกล่าวไม่ควรกินบ่อย และควรชิมอาหารทุกครั้งก่อนปรุงด้วยน้ำปลาโดยเฉพาะการกินก๋วยเตี๋ยว นอกจากนี้ อาหารที่ไม่มีรสเค็มแต่มีโซเดียมแฝงมาได้แก่ ผงชูรส ผงฟูที่อยู่ในอาหารประเภทเบเกอรี ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีผงชูรส ก็จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ ต้นเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังดังกล่าวคือ พฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการกินอาหารรสหวานมันเค็ม และขาดการเคลื่อนไหวทางกาย การป้องกันไม่ให้เกิดโรคดังกล่าวจึงต้องไปแก้ไขที่ต้นเหตุ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและออกกำลังกาย กินให้ครบ 5 หมู่ ควบคู่ ลดการกินหวาน มัน เค็ม เติมเต็มด้วยผักผลไม้ ใส่ใจออกกำลังกาย จะห่างไกลโรคได้

            เพื่อเป็นการรณรงค์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้นโครงการประกวดสื่อ โปสเตอร์ สติกเกอร์ และเสื้อยืด หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ปี2 (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้) จึงเกิดขึ้น โดย อาจารย์ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. บอกว่า โครงการนี้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งในปีที่ 1 นั้นเป็นการประกวดสื่อคลิปออนไลน์ เรื่องสั้นและการ์ตูนวาดภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” “ไม่อยากอ้วน” สำหรับปีนี้ประกวดสื่อ โปสเตอร์ สติกเกอร์ และเสื้อยืด หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน 2 (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้)” เพื่อรณรงค์สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในเยาวชน ผ่านกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนในระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ที่เป็นนักเรียน นิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ  โดยหนุนเสริมให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา สถาบันการศึกษาและกลุ่มวิชาชีพด้านสื่อและกิจกรรม  สามารถพัฒนาสื่อและกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม ด้วยการออกแบบ ผลิต และจัดกิจกรรมสื่อสร้างสรรค์สังคมขึ้น เพื่อเป็นแนวทางเชิงรุกและเปิดโจทย์เปิดประเด็นให้เกิดสื่อกิจกรรมและสื่อสร้างสรรค์สังคมไปยังกลุ่มเยาวชนทั้งในและนอกสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษา ได้มีส่วนร่วมและเสนอโครงการสื่อสร้างสรรค์และกิจกรรมสร้างสรรค์ รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้เยาวชนเกิดการพัฒนาทักษะและจุดประกายการสร้างเครือข่ายในการสร้างสรรค์สังคมเพื่อกลุ่มเยาวชนและโดยกลุ่มเยาวชนเอง

            “ซึ่งคุณสมบัติผู้สมัครนั้นจะต้องเป็นเยาวชนนักเรียน นิสิตนักศึกษา อายุระหว่าง 15-25 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงปริญญาตรี หรือเทียบเท่า ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยไม่จำกัดสาขาและคณะที่ศึกษาอยู่ โดยสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการประกวดทีมละไม่เกิน 3 คน  สมาชิกในทีมไม่จำเป็นต้องอยู่สถาบันเดียวกันก็ได้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสมัครและดูรายละเอียดได้ที่          โครงการปิ๊งส์ www.PINGs.in.th หรือสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย www.adassothai.com หรือ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ศสส.) www.artculture4health.com ตั้งแต่วันนี้ถึงวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม 2558 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-612-6996-7 ต่อ 102 ซึ่งผลงานที่ได้ทั้งหมดนี้จะนำไปใช้ผลิตจริงเพื่อรณรงค์สู่สังคมต่อไป” นายดนัย หวังบุญชัย บอก

       ลดหวานเค็มครึ่งหนึ่ง กินหวานกินเค็มอยู่ รู้ตัวหรือเปล่า?? 

        น้ำปลาขาดไม่ได้                 

      น้ำตาลเพิ่มจนเคยชิน    

--- ลดปรุงน้ำปลาน้ำตาลทุกมื้ออาหาร

--- สั่งกาแฟทุกครั้ง ให้บอกคนขายว่า “หวานน้อย”

--- งดน้ำอัดลมตลอดสัปดาห์

--- อนุญาตให้กินของหวานได้2ครั้งตลอดสัปดาห์

--- งดขนมกรุบกรอบตลอดสัปดาห์

         ปรับและเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างลง ลด หวาน มัน เค็ม ลดเสี่ยงต่อโรคได้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำร้ายสุขภาพตัวเองอย่างช้าๆ ดังนั้นเริ่มต้นดูแลสุขภาพง่ายๆ วันนี้ด้วยการเลี่ยง เลี่ยง เลี่ยง หวาน มัน เค็มกันเถอะ…

ที่มา: สนุกออนไลน์

อัพเดทล่าสุด