หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ภาวะเสี่ยงในวัยทำงาน


3,697 ผู้ชม

อธิบดีกรมการแพทย์เผย กลุ่มคนวัยทำงานเสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมสูง ชี้สาเหตุมาจากพฤติกรรมการทำงานที่ไม่เหมาะสม อายุที่เพิ่มมากขึ้น


 หมอนรองกระดูกสันหลัง เสื่อมภาวะเสี่ยงในวัยทำงาน (รู้แล้วแชร์)หมอนรองกระดูกสันหลัง (Intervertebral disc) คือ เนื้อเยื่อชนิดหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เหมือนตัวผ่อนแรงที่รองรับระ หว่างกระดูกสันหลังสองชิ้น ซึ่งทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว ก้ม เงย หมอนรองกระดูกฯจะเป็นตัว รับน้ำหนัก และรับแรงกระแทกระหว่างกระดูก เมื่ออายุมากขึ้น หรือใช้งานกระดูกสันหลังอย่างหนัก เช่น เล่นกีฬา ยกของหนัก หมอนรองกระดูกฯก็จะเสื่อม หรือมีการแตก หรือเคลื่อนหลุดออกมา และไปกดทับเส้นประสาทของกระดูกสันหลังได้

อธิบดีกรมการแพทย์เผย กลุ่มคนวัยทำงานเสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมสูง ชี้สาเหตุมาจากพฤติกรรมการทำงานที่ไม่เหมาะสม อายุที่เพิ่มมากขึ้น แนะปรับเปลี่ยนอิริยาบถของร่างกายหลีกเลี่ยงการยกของหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันการเกิดโรคดังกล่าวได้

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม เกิดจากสาเหตุสำคัญ คือ การสึกหรอตามอายุการใช้งาน เช่น การทำกิจกรรมซ้ำๆเป็นเวลานาน โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ การยกของหนัก และพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ซึ่งมีผลทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงบริเวณหมอนรองกระดูกน้อยลง

นอกจากนี้วัยที่สูงขึ้นทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังซึ่งทำหน้าที่รับน้ำหนักตัว มีการเสื่อมสภาพตามการใช้งาน ซึ่งจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังทำให้เกิดการทรุดตัวของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ร่างกายจะมีการตอบสนองโดยการสร้างกระดูกงอกหรือหินปูนขึ้นมาเพื่อต้านการทรุดตัวดังกล่าวกระดูกงอกที่ร่างกายสร้างขึ้นมาใหม่ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ

แต่บางรายเกิดกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทและทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาท ทำให้ปวดขา ชาขา ผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังเสื่อมและทรุดพบว่าถ้ามีการทรุดตัวมากขึ้นจะทำให้เกิดกระดูกสันหลังคด หรือบางรายอาจทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนอาการแสดงที่พบบ่อย คือ ปวดหลัง เป็นๆ หายๆ เป็นเวลานาน มีอาการปวดขาตั้งแต่บริเวณสะโพกร้าวไปบริเวณน่อง เท้า ซึ่งจะปวดมากเวลาเดิน ทำให้เดินได้ไม่ไกล ต้องหยุดเดินเป็นระยะๆ อาการปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ถือเป็นอาการเด่นของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ถ้าทิ้งไว้นาน เส้นประสาทจะทำงานได้น้อยลง อาการชาและอ่อนแรงของขาซีกนั้นจะเริ่มเด่นชัดขึ้น

ดังนั้น เมื่อมีอาการปวดหลังและร้าวลงขา ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษา ส่วนใหญ่โรคนี้สามารถรักษาหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการ ร่วมกับให้ยาลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบที่เกิดขึ้นรอบๆ เส้นประสาทหรือหมอนรองกระดูกสันหลัง

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น ชารอบก้น อั้นอุจจาระและปัสสาวะไม่อยู่ ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่พบได้น้อย จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน แพทย์จะผ่าตัดเพื่อตัดเอาส่วนที่กดทับเส้นประสาทออกร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวแนะแนวทางป้องกันโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท คือ การใช้กล้ามเนื้อบริเวณหลังในชีวิตประจำวันอย่างถูกวิธี หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ อย่านั่งอยู่กับที่นานติดต่อกันเกิน 1 ชั่วโมง ควรเปลี่ยนอิริยาบถ ด้วยการ ลุก ยืน เดิน มีการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบๆ หลัง และหน้าท้องให้แข็งแรงสม่ำเสมอหลีกเลี่ยงการยกของหนัก ลดการทำงานของกล้ามเนื้อหลังลงโดยการปรับท่านั่งให้หลังตรงหรือเดินตัวตรง ลดน้ำหนักสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักที่มากเกินไป เนื่องจากหลังจะต้องเป็นส่วนที่รับน้ำหนักตัวของคนเรา เมื่อมีน้ำหนักตัวมากเกินไป การทำงานของกล้ามเนื้อหลังก็จะมากไปด้วยรวมทั้งงดการสูบบุรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้กระดูกพรุนและหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น

ที่มา: https://health.sanook.com/885/

อัพเดทล่าสุด