ทึ่ง! ผู้สูงอายุดื่มน้ำน้อย หวั่นเกิดภาวะขาดน้ำ อันตรายถึงขั้นหัวใจล้มเหลว


2,548 ผู้ชม

กระทรวงสาธารณสุข เผย ผู้สูงอายุดื่มน้ำน้อยกว่า 8 แก้วต่อวัน หวั่นเกิดภาวะขาดน้ำในช่วงหน้าร้อน อันตรายถึงขั้นหัวใจล้มเหลวและไตวาย วอนลูกหลานผู้ดูแลใส่ใจกระตุ้นให้ดื่มน้ำทุกชั่วโมง


ทึ่ง! ผู้สูงอายุดื่มน้ำน้อย หวั่นเกิดภาวะขาดน้ำ อันตรายถึงขั้นหัวใจล้มเหลว

กระทรวงสาธารณสุข เผย ผู้สูงอายุดื่มน้ำน้อยกว่า 8 แก้วต่อวัน หวั่นเกิดภาวะขาดน้ำในช่วงหน้าร้อน อันตรายถึงขั้นหัวใจล้มเหลวและไตวาย วอนลูกหลานผู้ดูแลใส่ใจกระตุ้นให้ดื่มน้ำทุกชั่วโมง

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการศึกษาโครงการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545-2564) ระยะที่ 2 (พ.ศ.2550-2554) พบว่า ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมดื่มน้ำสะอาดไม่น้อยกว่า 8 แก้วต่อวัน ทำเป็นประจำ ร้อยละ 51.6 ทำเป็นบางครั้ง ร้อยละ 40.4 และไม่ทำ ร้อยละ 8.0 ตามลำดับ

และจากรายงานการสำรวจสุขภาวะผู้สูงอายุไทย ปี 2556 ภายใต้แผนงานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและผู้พิการ พบว่า ผู้สูงอายุดื่มน้ำเป็นประจำ ร้อยละ 65 ดื่มเป็นบางครั้ง ร้อยละ 27 และไม่ดื่ม ร้อยละ 8 โดยเพศชายดื่มน้ำเป็นประจำ ร้อยละ 67 มากกว่าเพศหญิงที่ดื่มน้ำเป็นประจำ ร้อยละ 62 และในปีเดียวกันการสำรวจในเขตบริการสุขภาพที่ 5 จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และสมุทรสงคราม พบว่า ผู้สูงอายุดื่มน้ำสะอาด ไม่น้อยกว่า 8 แก้วต่อวัน เป็นประจำ ร้อยละ 60.1 เป็นบางครั้ง ร้อยละ 32.6 และไม่ทำ ร้อยละ 7.3

โดยเพศหญิง ดื่มน้ำเป็นประจำ ร้อยละ 54.2 มากกว่าเพศชายที่ดื่มน้ำเป็นประจำ ร้อยละ45.8 แสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุของไทยในภาพรวมของประเทศและส่วนภูมิภาคมีพฤติกรรมการดื่มน้ำในประมาณที่ถูกต้องเหมาะสมจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุทั้งหมดเท่านั้น

ในส่วนที่เหลือดื่มน้ำในประมาณที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งจะมีผลเสียหรืออันตรายต่อสุขภาพ อาจนำมาสู่ภาวะขาดน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าร้อนนี้ที่อุณหภูมิสูงขึ้นจนบางครั้งมีอุณหภูมิใกล้เคียงหรือมากกว่าอุณหภูมิของร่างกาย ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำเป็นอย่างมาก

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า อาการแสดงภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุคือ ชีพจรเร็วกว่า 120 ครั้งต่อนาที ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทำให้วิงเวียนศีรษะ เป็นลมง่าย หมดสติ มีภาวะสับสน เยื่อบุปากแห้ง ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลงมาก แต่มีปริมาณปัสสาวะปกติ เพราะไตไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ในภาวะขาดน้ำ ทำให้ปริมาณปัสสาวะในระยะแรกของภาวะขาดน้ำไม่ลดลง จนกระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้ายทำให้หัวใจล้มเหลวและไตวาย ภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุจะมีอาการแสดงที่ไม่ชัดเจน แต่จะแสดงอาการชัดเจนเมื่อมีความรุนแรงแล้ว


ทางด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุมักพบได้ง่าย เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อที่ลดลงทำให้น้ำในร่างกายผู้สูงอายุลดลง การตอบสนองต่อความกระหายน้ำลดลงทำให้ไม่ ดื่มน้ำ ร่างกายจึงไม่ได้น้ำชดเชย ประกอบกับความเสื่อมของร่างกาย เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ หกล้มง่าย ข้อเข่าเสื่อม ซึมเศร้า สมองเสื่อม ทำให้ไม่อยากดื่มน้ำ

เนื่องจากสภาพจิตใจหรือมีความยากลำบากในการเข้าห้องน้ำ อาจต้องพึ่งพาผู้ดูแล หรือไม่มีผู้ดูแลคอยช่วยเหลือ หรือผู้ดูแลอาจจะไม่ได้จัดหาน้ำดื่มให้ จึงได้รับน้ำไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 40 เป็นโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ซึ่งต้องได้รับยาขับปัสสาวะทำให้น้ำในร่างกายน้อยลง และปัญหาช่องปากทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร ปัญหาตาทำให้มองเห็นไม่ชัดเจนจึงไม่อยากไปจัดหาน้ำดื่ม และที่สำคัญคือ ผู้สูงอายุที่มือสั่นหยิบจับหรือกำไม่ได้จะไม่สามารถดื่มน้ำได้ด้วยตนเอง ผู้ดูแลจึงควรจัดหาน้ำให้ท่านดื่มวันละ 8 แก้ว และกระตุ้นให้ดื่มทุกชั่วโมง โดยให้ดื่มเครื่องดื่มที่ชอบ จัดหาแก้วมีหูจับหรือสะดวกในการใช้ หรือให้ดูดจากหลอดโดยวางแก้วไว้บนโต๊ะข้างเตียง การกินยาและอาหารให้ดื่มน้ำ อย่างน้อย 1 แก้ว นอกจากนี้ผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากพบโรคควรรับการรักษา อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ

กรมอนามัย/ sanook

อัพเดทล่าสุด