สาระน่ารู้เกี่ยวกับ อาหารมื้อเช้า ที่ทุกคนควรรู้


2,645 ผู้ชม

การออกจากบ้านทั้งที่ท้องยังว่างทำให้เป็นโรคอ้วน มีไขมันสะสมบริเวณท้อง และมีคอเลสเตอรอลสูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ...


สาระน่ารู้เกี่ยวกับ อาหารมื้อเช้า ที่ทุกคนควรรู้

“งดอาหารเช้าบ่อยเสี่ยงโรคหัวใจ” นำไปสู่ “เบาหวาน” อีกด้วย  

นักวิจัยบอกว่า การออกจากบ้านทั้งที่ท้องยังว่างทำให้เป็นโรคอ้วน มีไขมันสะสมบริเวณท้อง และมีคอเลสเตอรอลสูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ นอกจากนี้ยังทำให้มีระดับอินซูลินในเลือดสูงขึ้นด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่โรคเบาหวาน

คนที่มีความเสี่ยงเหล่านี้มากที่สุดคือ ผู้ใหญ่รายที่มักไม่ทานอาหารเช้าเมื่อสมัยยังเด็ก และยังคงทำเช่นนี้มาตลอดเมื่อโตขึ้น แม้ผลวิจัยก่อนหน้านี้ระบุว่า อาหารเช้าส่งผลดีต่อหัวใจ แต่งานชิ้นนี้เป็นครั้งแรกที่ติดตามผลเสียในระยะยาว

งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ใน American Journal of Clinical Nutrition แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีอายุถึงช่วง 20ปลายๆ คนที่ไม่ค่อยทานอาหารเช้าเมื่อตอนเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จะเริ่มมีอาการของโรคหัวใจ

นักวิทยาศาสตร์คิดว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะคนเหล่านี้มีแนวโน้มจะกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง และไม่ค่อยออกกำลังกาย รวมทั้งได้รับใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ ในปริมาณน้อย

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย ซึ่งติดตามศึกษาอาสาสมัคร 2,184 คนในช่วงเวลา 20 ปี พบว่า การงดอาหารเช้าจะทำให้ลักษณะการสะสมไขมันของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป และคนเหล่านี้มักทานอาหารไม่ตรงเวลา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

อาหารเช้า ต้านโรค

อาหารมื้อเช้า ใช่ว่าจะเป็นเพียงอาหารมื้อแรกที่ให้พลังงานในการทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันเท่านั้น แต่ยังอาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะอ้วน โรคเบาหวาน รวมทั้งโรคหัวใจได้อีกด้วย

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Nottingham ในอังกฤษ สังเกตว่าคุณผู้หญิงส่วนใหญ่ที่งดกินอาหารมื้อเช้านั้น ปริมาณอาหารที่กินในแต่ละวันมักจะมากกว่าผู้หญิงที่กินอาหารเช้าเป็นประจำ ซึ่งอาจทำให้น้ำหนักตัวของผู้ที่งดอาหารเช้าเพิ่มขึ้นจนเกิดภาวะอ้วนได้ รวมทั้งเคยมีงานวิจัยที่พบว่า ผู้ที่กินอาหารเช้าทุกวัน จะมีโอกาสเกิดภาวะอ้วน และโรคเบาหวานน้อยกว่าผู้ที่งดอาหารเช้าถึง 35-50% ซึ่งผลดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition ที่เผยว่า การงดกินอาหารเช้านั้น นอกจากเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอ้วนและโรคเบาหวานแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดโรคหัวใจได้อีกด้วย

นักวิจัยได้ทำการศึกษาในสตรีอาสาสมัคร 10 คน โดยให้อาสาสมัครกลุ่มนี้กินอาหารเช้าประเภทเมล็ดธัญพืช (cereal) กับนม ในช่วง 7.00-8.00 น. และกินอาหารมื้อกลางวัน และมื้อเย็นตามปกติ รวมทั้งกินขนมหวานระหว่างมื้อ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้อาสาสมัครกลุ่มเดิม งดกินอาหารในช่วงเช้า โดยเลื่อนเวลาอาหารพวกเมล็ดธัญพืชกับนมมาเป็นมื้อกลางวันแทน จากนั้นให้กินอาหารอีก 2 มื้อ รวมทั้งขนมหวานระหว่างมื้อเหมือนเดิม พบว่า การกินอาหารเช้านั้น จะทำให้ปริมาณแคลอรีที่ได้รับในแต่ละวันนั้นน้อยกว่าการงดกินอาหารเช้า ประมาณ 100 แคลอรี และยังลดปริมาณของโคเลสเตอรอล และตัวพาโคเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL-C) ที่นำโคเลสเตอรอลไปสะสมตามเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย

ส่วนน้ำหนักตัวของอาสาสมัครในช่วงที่กินอาหารเช้า และงดอาหารเช้านั้นจะไม่แตกต่างกัน ซึ่งอาจเนื่องมาจากงานวิจัยนี้เป็นการทดลองในระยะสั้น เพียง 2 สัปดาห์เท่านั้นจึงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวอย่างชัดเจน แต่จากการวัดปริมาณแคลอรีที่ได้รับในแต่ละวัน และปริมาณโคเลสเตอรอลแล้ว ทำให้นักวิจัยเชื่อว่า การงดกินอาหารเช้าเป็นประจำ เป็นเวลานานนั้น น่าจะส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มจนอาจเกิดภาวะอ้วนได้ นอกจากนั้นยังอาจเพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวาน จากการที่ร่างกายลดการตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินอีกด้วย

ทีมนักวิจัยวิเคราะห์ว่า การกินอาหารเช้า สำคัญต่อการควบคุมความรู้สึกอยากอาหาร การตอบสนองของร่างกายต่อฮอร์โมนอินซูลิน และกระบวนการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย โดยอาหารเช้านั้นจะเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกายเพื่อนำไปใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวัน จึงลดความรู้สึกหิวที่เป็นอาการบ่งบอกว่าพลังงานในร่างกายเริ่มลดลง และต้องการพลังงานเสริม เมื่อความหิวลดลง ก็จะทำให้กินอาหารในมื้อถัดไป หรือของหวานในปริมาณลดลง รวมทั้งอาจส่งผลให้การหลั่งฮอร์โมนอินซูลินอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ปกติแล้วเมื่อร่างกายต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น หรือรู้สึกหิวก็จะกระตุ้นการสร้างและการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินเพิ่มขึ้น เพื่อนำน้ำตาลเข้าเซลล์ แล้วเปลี่ยนไปใช้เป็นพลังงาน ซึ่งถ้ามีปริมาณของฮอร์โมนอินซูลินมากเกิน เป็นเวลานาน อาจทำให้การตอบสนองของร่างกายต่อฮอร์โมนอินซูลินลดลง จนอาจเกิดโรคเบาหวานในที่สุด

ซึ่งทั้งปัจจัยจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ปริมาณโคเลสเตอรอลที่มากขึ้น และโรคเบาหวานนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงเป็นไปได้ว่า การงดกินอาหารเช้าเป็นประจำจึงน่าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วย

เห็นเช่นนี้แล้ว หลายคนที่ไม่นิยมกินอาหารเช้า ด้วยเหตุผลไม่มีเวลา หรือต้องการลดน้ำหนัก น่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมหันมากินอาหารเช้ากันดีกว่า เพราะอาจจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่ช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดี และห่างไกลจากโรคร้ายได้

เอกสารอ้างอิง
1.American Journal of Clinical Nutrition, February 2005; vol 81: 388-96
2.www.foxnews.com/story/0,2933,147140,00.html

ขอขอบคุณข้อมูลจากชมรมรักษ์สุขภาพ

อัพเดทล่าสุด