ระหว่างตั้งครรภ์นั้นคุณแม่อาจมีอาการไม่ปกติบ่อยครั้ง จนทำให้ลังเลว่าควรจะไปหาหมอดีหรือไม่ แล้วอาการแบบไหนถึงเรียกว่าอันตราย...
ระหว่างตั้งครรภ์นั้นคุณแม่อาจมีอาการไม่ปกติบ่อยครั้ง จนทำให้ลังเลว่าควรจะไปหาหมอดีหรือไม่ แล้วอาการแบบไหนถึงเรียกว่าอันตราย ลองเช็กดูได้จากสัญญาณอันตราย 7 อย่างในระหว่างตั้งครรภ์ที่เรารวบรวมมาให้ เพราะเป็นสัญญาณความไม่ปกติที่คุณแม่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
1. เลือดออก
ในไตรมาสแรกอาจเกิดจากแท้งคุกคาม (Threatened abortion) การตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ เช่น ตั้งครรภ์นอกมดลูก การตั้งครรภ์ที่มีแต่ถุงน้ำไม่มีตัวเด็ก (Blighted ovum) หรือการตั้งครรภ์มีตัวเด็กแต่เสียชีวิตไปแล้ว ปริมาณของเลือดที่ออกอาจเป็นได้ตั้งแต่ไม่มากติดชั้นใน หรือออกมากอาจมีหรือไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกายและทำอัลตร้าซาวนด์
ในไตรมาสที่ 2 เลือดที่ออกอาจเกิดจากรกเกาะต่ำ การอักเสบของปากมดลูก หรือการแท้งบุตรเกิดขึ้นได้
ในไตรมาสที่ 3 อาจเกิดจากการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ซึ่งจะมีอาการเจ็บท้องท้องแข็งร่วมด้วย อาจเกิดจากรกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งถ้าเป็นมากทารกอาจเสียชีวิตได้
สรุปว่าถ้าตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออก สิ่งที่ควรทำคือรีบไปพบแพทย์ทันทีไม่ควรรอช้า
2. ลูกในท้องดิ้นน้อยลง
โดยปกติคุณแม่จะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นประมาณอายุครรภ์ 16/20 สัปดาห์ ท้องแรกจะรู้สึกช้ากว่า จากนั้นจะเริ่มรู้สึกชัดและดิ้นแรงขึ้นเป็นลำดับ คุณแม่ควรสังเกตการดิ้นของลูก หากดิ้นน้อยผิดสังเกตควรรีบพบแพทย์ สำหรับในไตรมาสที่ 2-3 ลูกควรจะดิ้นอย่างน้อย 10-12 ชุดต่อวัน คือนับจากเริ่มดิ้นจนหยุดดิ้นเป็น 1 ชุด
เมื่อเข้าไตรมาสที่ 3 ปลายๆ แล้วการดิ้นของลูกอาจเปลี่ยนแปลงไปคุณแม่บางคนอาจรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง ทั้งนี้เป็นเพราะลูกตัวใหญ่คับในมดลูกมากขึ้นการขยับตัวจะเป็นไปในลักษณะการโก่งตัวหรือเหยียดแขนขา ซึ่งบางครั้งอาจทำให้รู้สึกเจ็บได้ อย่างไรก็ตามหากรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลงผิดสังเกตหรือไม่ดิ้นเลยควรรีบปรึกษาแพทย์
3. คลื่นไส้อาเจียน
ในไตรมาสแรกมักเกิดจากอาการแพ้ท้องซึ่งเป็นผลจากออร์โมนของการตั้งครรภ์ จะมีอาการน้อยลงหรือไม่มีอาการเลยในไตรมาสที่ 2 หากพอรับประทานอาหารดื่มน้ำได้ไม่ต้องพบแพทย์ แต่หากอาการเป็นมากรับประทานอะไรไม่ได้เลย มีหน้ามืดเป็นลมควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับสารน้ำเพื่อชดเชยสารอาหาร เกลือแร่ที่เสียไป นอกจากนั้นคุณแม่ที่มีอาการของโรคกระเพาะอาหารอาจมีอาการมากขึ้นได้ หากถ่ายเหลวร่วมด้วยมักเกิดจากอาหารเป็นพิษหรือลำไส้อักเสบ
ในไตรมาสที่ 3 หากคุณแม่มีอาหารคลื่นไส้อาเจียนอาจเกิดจากมดลูกที่โตมากมากดเบียดกระเพาะอาหาร เมื่อรับประทานอาหารมากๆ หรือกินเร็ว อาหารไม่ย่อยอาจเกิดเป็นแก๊สในกระเพาะอาหาร คลื่นไส้อาเจียนมากขึ้นได้ แต่ถ้าอาการคลื่นไส้เกิดร่วมกับความดันโลหิตสูง บวม ร่วมกับมีอาการจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ควรนึกถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอันตรายมากควรพบแพทย์ทันที
4. มดลูกบีบตัว
การบีบตัวของมดลูกมักเกิดในไตรมาสที่ 3 โดยที่จะรู้สึกตึงโดยไม่รู้สึกเจ็บ อาจตึงเป็นพักๆ ไม่สม่ำเสมอ อาการเช่นนี้เรียกว่า Braxton hicks contraction ซึ่งไม่มีอันตราย แต่ถ้าการบีบตัวของมดลูกเกิดแรงขึ้นถี่มากขึ้นเรื่อยๆ นอนพักไม่หาย มีมูกเลือดร่วมด้วยอาจเป็นอาการเตือนเมื่อเข้าสู่การคลอด หรือหากยังไม่ครบกำหนดอาจจะเป็นอาการของการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์ทันที
5. ถุงน้ำคร่ำแตก
ถุงน้ำคร่ำแตกรั่วเป็นการแสดงอย่างหนึ่งของการเข้าสู่การคลอด แต่ถ้าอายุครรภ์ยังไม่ถึงกำหนด การที่ถุงน้ำคร่ำแตกรั่วจะนำมาสู่การคลอดก่อนกำหนดและการติดเชื้อของทารกได้ ฉะนั้นควรรีบไปพบแพทย์ทันที บางรายอาจสามารถยับนั้งการคลอดได้และให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่บางรายอาจไม่สามารถทำได้ หากอายุครรภ์ก่อนกำหนดมากๆ ภาวะแทรกซ้อนในทารกจะสูงอาจเสียชีวิตหรือเป็นโรคปอดเรื้อรังได้
6. ปวดศีรษะ เจ็บท้องน้อย บวม
หากเกิดในไตรมาสที่ 3 มักเป็นอาการแสดงของครรภ์เป็นพิษ ซึ่งหากตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงและตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะร่วมด้วย หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากเป็นครรภ์เป็นพิษ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นคือ ชัก ทารกเสียชีวิตในครรภ์ คลอดก่อนกำหนด เลือดออกในสมอง หรือมีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
อย่างไรก็ตามหากมีอาการบวมเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วยมักไม่มีอันตรายให้นอนยกขาสูง ออกกำลังกาย
7. เป็นหวัดไม่หาย
คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนอาจเป็นไข้หวัดได้ และในขณะตั้งครรภ์ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเปลี่ยนไป หากพักผ่อนไม่เพียงพอ เครียดกังวล จะทำให้ติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคหวัดได้ อาการทั่วไปคือมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ มีเสมหะร่วมด้วย หากเป็นจากเชื้อไวรัสชนิดไม่รุนแรง พักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำ กินยาลดไข้จะหายเองได้ แต่ถ้าเป็นจากเชื้อไวรัสที่รุนแรง หรือแบคทีเรียบางชนิดอาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะร่วมด้วย หากมีไข้และอาการต่างๆ มากกว่า 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดตรวจร่างกายเพิ่มเติม
คงจะพอไขข้อข้องใจให้คุณแม่ๆ ได้บ้างไม่มากก็น้อย ในขณะตั้งครรภ์คุณควรได้รับการดูแลมากกว่าปกติ แต่ไม่ควรวิตกกังวลจนมากเกินไป เพื่อลูกน้อยจะได้แข็งแรงและปลอดภัยทั้งแม่ลูกค่ะ
ที่มา: https://www.momypedia.com/