กระทรวงสาธารณสุข เร่งออกมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยผู้ใช้บริการอ่างน้ำอุ่น บ่อน้ำร้อน บ่อน้ำพุร้อน กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สนับสนุนข้อมูลวิชาการแก่ผู้ดูแล...
กระทรวงสาธารณสุข เร่งออกมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยผู้ใช้บริการอ่างน้ำอุ่น บ่อน้ำร้อน บ่อน้ำพุร้อน กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สนับสนุนข้อมูลวิชาการแก่ผู้ดูแล ผู้ประกอบการสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรมที่ให้บริการออกคำแนะนำวิธีการลงแช่ตัว เตือนประชาชน 3 กลุ่มที่ไม่ควรลงแช่น้ำร้อน คือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และผู้เป็นโรคผิวหนัง
จากกรณีที่มี ข่าวนักท่องเที่ยวรายหนึ่ง เกิดปัญหา ฮีทสโตรก ช็อคหมดสติ หลังลงไป แช่น้ำร้อน ที่จังหวัดกระบี่ ขณะนี้รักษาที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตนั้น
นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้ทีมแพทย์พยาบาลโรงพยาบาลวิชระภูเก็ตดูแลอย่างเต็มที่ กรณีที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้เกิดบ่อยก็ตาม แต่เมื่อเป็นแล้ว มีอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากการลงไปแช่น้ำร้อน ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าร่างกาย คือสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส หากร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จะกระทบต่อการทำงานของอวัยวะภายใน ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยว และมีบริการแช่น้ำอุ่น น้ำบ่อน้ำพุร้อน น้ำแร่ รวมทั้งโรงแรมที่มีอ่างอาบน้ำที่มีก๊อกน้ำร้อนน้ำเย็นให้ผู้ใช้บริการผสมเอง สนับสนุนข้อมูลวิธีการใช้บริการที่ถูกต้องแก่ผู้ดูแล ผู้ประกอบการ ในการติดป้ายคำแนะนำวิธีการที่ถูกต้อง จัดทำเอกสารแนะนำ ผู้ใช้บริการ เพื่อความปลอดภัยในการแช่น้ำอุ่น น้ำพุร้อน หรือน้ำแร่
นายแพทย์สุรเชษฐ์กล่าวว่า การแช่น้ำอุ่น น้ำพุร้อน น้ำแร่ มีประโยชน์ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย ผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และลดความเครียดได้ แต่ขั้นตอนการลงแช่ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ร่างกายปรับตัว
บุคคลที่ไม่ควรลงแช่ในน้ำประเภทนี้ มี 3 กลุ่มใหญ่ คือ
1.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่มีผลต่อหลอดเลือดและหัวใจอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะมีความเสี่ยงเกิดบาดแผลพุพองที่ผิวหนังที่เท้าอาจพบการติดเชื้อตามมาได้
2.หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำจะทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย รวมทั้งที่มดลูกจะขยายตัว อาจเป็นอันตรายแก่เด็กในครรภ์และตนเองได้
3.ผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อหรือมีบาดแผล อาจทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น
นายแพทย์สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ในกรณีของการ แช่น้ำร้อน ประชาชนควรอ่านป้ายคำแนะนำและปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง สังเกตอุณหภูมิของน้ำที่ระบุไว้ ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 40 องศาเซลเซียส และไม่ควรแช่อยู่ในน้ำติดต่อกันเป็นเวลานาน วิธีที่ถูกต้องคือก่อนลงแช่น้ำให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย 20 นาที และจุ่มมือทดสอบความร้อนของน้ำ จากนั้นค่อยๆ หย่อนตัวลงแช่ในน้ำร้อนอย่างช้าๆ เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพเข้ากับน้ำร้อน และแช่ประมาณ 10 นาที
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Health Mthai