ตาและการมองเห็น อาการผิดปกติ เหล่านี้ เตือนให้รีบไปหาหมอโดยด่วน!


2,825 ผู้ชม

อาการผิดปกติ ที่เกิดขึ้นเป็นการแสดงว่าเกิดภาวะผิดปกติของอวัยวะนั้นๆ เป็นการเตือนให้เราไปรับการตรวจจากแพทย์ สำหรับอาการผิดปกติของดวงตา ที่เราควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติแบบเร่งด่วน มีดังนี้...


ตาและการมองเห็น อาการผิดปกติ เหล่านี้ เตือนให้รีบไปหาหมอโดยด่วน!

ตา คือ อวัยวะที่ทำหน้าที่รับแสง โดยสัตว์แต่ละชนิดจะมีอวัยวะรับแสงที่แตกต่างกัน ตาที่เรียบง่ายที่สุดจะไม่สามารถทำอะไรได้เลยเว้นแต่ การรับรู้ว่าสิ่งแวดล้อมนั้นมืดหรือสว่าง เพื่อให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ เช่น กลางวันหรือกลางคืน เป็นต้น แต่จะไม่สามารถรับรู้ออกมาเป็นภาพได้ ตาที่ซับซ้อนกว่าจะมีรูปทรงและสีที่เป็นเอกลักษณ์ ในระบบตาที่ซับซ้อน ตาแต่ละดวงจะสามารถรับภาพที่มีบริเวณที่ซ้อนทับกันได้ เพื่อให้สมองสามารถรับรู้ถึงความลึก หรือ ความเป็นสามมิติของภาพ เช่น ระบบตาของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ตาของสัตว์บางชนิด เช่น กระต่ายและกิ้งก่า ได้ถูกออกแบบมาให้มีส่วนของภาพที่ซ้อนทับกันน้อยที่สุด

อาการผิดปกติ ที่เกิดขึ้นเป็นการแสดงว่าเกิดภาวะผิดปกติของอวัยวะนั้นๆ เป็นการเตือนให้เราไปรับการตรวจจากแพทย์ สำหรับอาการผิดปกติของดวงตา ที่เราควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติแบบเร่งด่วน มีดังนี้

ความผิดปกติของการมองเห็น

– ตามัวลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะเคยมองเห็นได้ดีกว่านี้ หรือมองเห็นได้น้อยกว่าผู้อื่นในวัยเดียวกัน เช่น เด็กนักเรียนยืนอยู่หลังชั้น เพื่อนๆ เห็นตัวหนังสือบนกระดานดำ แต่เราไม่เห็น หรือเคยมองเห็นป้ายบอกทางในระยะนี้ แต่บัดนี้มองไม่ชัด เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปต้องคอยทดลองตาทั้ง 2 ข้าง ด้วยการปิดตาเพื่อเทียบการมองเห็นจากตา 2 ข้าง เพราะมีอยู่บ่อยมากที่ผู้ป่วยไม่ทราบว่า มองเห็นข้างเดียวมานาน เพราะตาที่เป็นโรคมัวลงอย่างช้าๆ จนเจ้าตัวไม่ได้สังเกต

– เห็นภาพบิดเบี้ยว อาจจะเห็นเส้นตรงเป็นโค้งหรือหงิกๆ งอๆ มักเป็นตาเดียว ซึ่งอาจทดสอบด้วยตัวเองโดยเทียบกับตาข้างดี อาการอย่างนี้จะบ่งถึงว่ามีความผิดปกติของจอประสาทตาส่วนกลาง (macula)

– เห็นภาพขาดหายไป เช่น มองหน้าคนไม่เห็นลูกตา หรือมองภาพคล้ายๆ ใครเอาผ้าม่านมาปิดบางส่วน หรือเห็นภาพดำๆ ตรงกลาง อาการแบบนี้เป็นความผิดปกติของลานสายตา บางคนอาจมาด้วยลานสายตาซีกขวาไม่เห็น หรือมาด้วยอาการมักจะเดินชนวัตถุที่มาทางด้านขวา เป็นต้น ภาวะดังกล่าวอาจเกิดจากความผิดปกติของจอประสาทตา ประสาทตา ตลอดจนสมอง

– มองเห็นวัตถุข้างหน้าเป็น 2 อัน หรือหลายอัน เช่น คนสูงอายุเห็นดวงจันทร์สองดวง หรือหลายดวง อันเนื่องมาจากโรคต้อกระจก หรือผู้ป่วยมีเนื้องอกในโพรงจมูก เกิดอาการมึนงง เพราะเห็นคนเดียวข้างหน้าเป็น 2 คน จากกล้ามเนื้อตาผิดปกติ เป็นต้น

– เห็นจุดดำๆ หรือตัวแมลง หรือเป็นเส้นๆ ลอยไปมา แสดงถึงมีพยาธิสภาพของน้ำวุ้นตา ตลอดจนเห็นแสงคล้ายๆ แฟลชเป็นบางครั้ง บ่งถึงอาจมีความผิดปกติของจอประสาทตา ฯลฯ

ตาแดง เป็นอาการที่สำคัญอันหนึ่งอาจพบในโรคเยื่อบุตาอักเสบ ต้อลม ต้อเนื้อ ซึ่งไม่อันตราย รักษาได้ง่ายหรืออาจหายเองได้ ตลอดจนตาแดงจากโรคที่รุนแรง เช่น ต้อหินเฉียบพลัน ม่านตาอักเสบ การอักเสบภายในลูกตา ฯลฯ ซึ่งหากรักษาช้าหรือไม่รับการรักษา จะทำให้ตาบอดได้ ผู้มีอาการตาแดงจึงควรปรึกษาแพทย์

ปวดตา เจ็บตา ร่วมกับมีหรือไม่มีขี้ตา บ่งถึงมีความผิดปกติภายในหรือรอบๆ บริเวณเบ้าตา

ปวดศีรษะบ่อยๆ ในบางรายอาจเป็นอาการแสดงของสายตาผิดปกติ หรือมีการอักเสบของเบ้าตา
ตลอดจนการใช้สายตาผิดๆ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์วันละหลายๆ ชั่วโมง เป็นต้น

รูปลักษณ์ดวงตาผิดปกติต้องระวัง
นอกจากอาการผิดปกติแล้ว การที่ดวงตามีรูปลักษณ์ผิดปกติก็เป็นที่ต้องใส่ใจด้วย โดยเฉพาะอาการต่อไปนี้

» ตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง โปนกว่าปกติ ซึ่งบ่งถึงว่าอาจมีโรคของต่อมไทรอยด์ หรือความ
ผิดปกติของเบ้าตา

» หนังตาข้างใดข้างหนึ่งหรือ 2 ข้างตกลงมาปิดตาดำมากกว่าปกติ เนื่องจากอาจมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อยกหนังตาจากโรคทางสมอง เป็นต้น

» ตาเข อาจเป็นความผิดปกติที่ไม่รู้สาเหตุ หรือจากการมีสายตาผิดปกติ ซึ่งหากไม่รับการแก้ไขแต่เนิ่นๆ จะก่อให้เกิดภาวะตาขี้เกียจ (amblyopia) ได้ หรือบางรายตาเขอาจเกิดจากความผิดปกติของสมองด้วย

» คลำบริเวณเบ้าตาพบก้อนเนื้อผิดปกติ โดยอาจจะอยู่ที่เปลือกตาหรือเบ้าตา

» หนังตากระตุก จากการทำงานของกล้ามเนื้อและปลายประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อทำงานไม่สมดุล
หากมีอาการเหล่านี้ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจตา

การเตรียมตัวเพื่อรับการตรวจตา

– ไม่ควรทาขอบตา ไม่ว่าจะเป็นมาสคารา อายแชโดว์ ตลอดจนเครื่องสำอางต่างๆ มากมายบริเวณตาใน
วันที่มาตรวจ

– นำยาที่ใช้อยู่มาด้วย เพราะผู้ป่วยบางรายมีการทดลองใช้ยาบางตัวมาก่อน แพทย์จะได้พิจารณาว่ายาที่มีอยู่สามารถใช้ต่อได้หรือไม่ เพราะยารักษาโรคบางตัวอาจเป็นต้นเหตุของโรคตาได้

– นำแว่นสายตาที่ใช้อยู่มาด้วย เพื่อให้แพทย์ตรวจเช็คว่า แว่นที่ใช้อยู่นั้นเหมาะกับสายตาเราหรือไม่

– ควรหยุดใช้คอนแทคเลนส์ 1-2 สัปดาห์ล่วงหน้า รวมถึงงดใส่คอนแทคเลนส์ในวันมาตรวจตาด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การวัดสายตาหาค่าความผิดปกติครั้งใหม่ทำได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากการถอดคอนแทคเลนส์ใหม่ๆ (หากมีการใช้คอนแทคเลนส์ทุกวัน) แล้วตรวจตาเลย จะได้ค่าสายตาที่ไม่ถูกต้อง เพราะตัวคอนแทคเลนส์อาจเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาชั่วคราว ทำให้ค่าสายตาผิดพลาด

– แจ้งให้หมอทราบ ถึงประวัติแพ้ยา โรคทางกาย ยาที่รักษาโรคทางกาย ตลอดจนโรคตาที่รักษาอยู่ เช่น บางท่านอาจเป็นโรคต้อหิน แล้วใช้ยารักษาประจำอยู่

– ไม่ควรขับรถหรือต้องมีญาติมาเป็นเพื่อน หากมีโรคเกี่ยวกับน้ำวุ้นตา จอประสาทตา ประสาทตา แพทย์อาจจะต้องมีการหยอดยาขยายม่านตาเพื่อจะได้ตรวจดูอย่างละเอียดถึงอวัยวะดังกล่าว ซึ่งการหยอดยาขยายม่านตาจะทำให้ตาพร่ากลัวแสง มองใกล้ไม่ชัดเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงหลังหยอด ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่ควรขับรถเอง แต่ควรหาคนมาขับรถแทนให้ ส่วนผู้สูงอายุอาจต้องมีญาติมาเป็นเพื่อน

อยากย้ำว่า การดูแลดวงตาให้ห่างไกลโรคจะช่วยให้เรามีสายตาที่ดีได้นานๆ ฉะนั้นอย่าผัดวันประกันพรุ่งที่จะไปพบจักษุแพทย์หากพบว่าดวงตาของเรามีอาการผิดปกติ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.healthtoday.net

อัพเดทล่าสุด