ไขปริศนา ทุเรียนเทศ แก้มะเร็ง..ไตพัง!!


12,147 ผู้ชม

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กระแสฮิตกินทุเรียนเทศ ช่วยแก้โรคมะเร็งได้นั้น เป็นความเชื่อที่ยังไม่ถูกต้อง เพราะยังไม่ปลอดภัยเต็มร้อย เนื่องจากมีผลข้างเคียงอย่างอื่นตามมาได้...


 ไขปริศนา ทุเรียนเทศ แก้มะเร็ง..ไตพัง!!

ทุเรียนเทศ หรือ ทุเรียนน้ำ ชื่อเรียกอื่น ๆ คือ ทุเรียนแขก (ภาคกลาง) หมากเขียบหลดหรือหมากพิลด (ภาคอีสาน) ทุเรียนน้ำ (ภาคใต้) และ มะทุเรียน (ภาคเหนือ) เป็นพืชในวงศ์เดียวกับน้อยหน่าและกระดังงา ใบเดี่ยว กลีบดอกแข็ง มีกลิ่นหอมตอนเช้า ผลมีรูปร่างคล้ายทุเรียน มีหนาม เปลือกสีเขียว เนื้อสีขาว ฉ่ำน้ำ รสหวานอมเปรี้ยว เมล็ดแก่สีดำ ปลูกมากในแถบอเมริกากลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพืชที่ชอบที่ที่มีความชื้นสูง

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กระแสฮิตกินทุเรียนเทศ ช่วยแก้โรคมะเร็งได้นั้น เป็นความเชื่อที่ยังไม่ถูกต้อง เพราะยังไม่ปลอดภัยเต็มร้อย เนื่องจากมีผลข้างเคียงอย่างอื่นตามมาได้

จากกรณีเกิดกระแสในโลกสังคมออนไลน์ว่า ใบทุเรียนเทศสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ จนมีการนำใบทุเรียนเทศมาเสนอขายกันทางออนไลน์ในราคาสูงถึง กก.ละ 600-800 บาท และประชาชนได้สอบถามข้อมูลในเรื่องนี้จากสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อย่างต่อเนื่อง นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยว่า จากกรณีที่มีประชาชนสอบถามข้อมูลเรื่องสมุนไพร ทุเรียนเทศ เข้ามาที่สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กันอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการเผยแพร่สรรพคุณของ ใบทุเรียนเทศว่าสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีกว่ายาเคมีบำบัดทางโลกออนไลน์ และมีผลิตภัณฑ์จากใบทุเรียนเทศจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ เช่น แคปซูล ชาชง

สถาบันวิจัยสมุนไพรได้ค้นคว้ารายงานวิจัยของต่างประเทศพบว่า แม้สารสกัดจากใบทุเรียนเทศมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สามารถเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งเต้านม ปอด ตับ ตับอ่อน และผิวหนังได้ก็ตาม

แต่ขณะเดียว กันใบทุเรียนมีสารที่เป็นพิษต่อเซลล์ประสาทของมนุษย์ด้วยเช่นกัน และผลการศึกษาในต่างประเทศ ยังพบด้วยว่าหนูทดลองที่ได้รับสารสกัดใบทุเรียนเทศในปริมาณสูงมีผลต่อการทำงานของไตอีกด้วย

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกอีกว่า ฉะนั้นในขั้นนี้จึงยังไม่ควรที่จะนำใบทุเรียนเทศมาบริโภคเพื่อรักษามะเร็ง ต้องรอการศึกษาหาวิธีสกัดสารต้านมะเร็งแยกออกจากสารทำลายเซลล์ประสาทและไตให้ได้เสียก่อน ถึงจะบริโภคได้ปลอดภัย ซึ่งขณะนี้สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีแผนศึกษาวิจัยในเรื่องนี้แล้ว.

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

อัพเดทล่าสุด