ใครจะเชื่อว่า กว่าที่น้ำแข็งจะมาถึงปากของเรา และให้เราเคี้ยวกันได้อย่างเพลิดเพลินนี้ อาจมีสิ่งสกปรกและเชื้อโรคปนเปื้อนหลากชนิดที่เราคาดไม่ถึง...
อึ้ง!! ถ้าคิดว่า “น้ำชักโครก”สกปรกแล้ว “น้ำแข็ง” ที่คุณกินอาจสกปรกมากกว่า
"น้ำแข็ง" สามารถทำเครื่องดื่มให้เย็น สดชื่น และเพิ่มรสชาติความอร่อยได้มากยิ่งขึ้น แต่นอกเหนือจากประโยชน์ที่ว่ามานี้ กลับมีข้อเสียแสนน่ากลัวที่แอบแฝงอยู่ภายใน อะไรคือความน่ากลัวที่พูดถึงนี้ ตามมาดูกันเลยค่ะใครจะเชื่อว่า กว่าที่น้ำแข็งจะมาถึงปากของเรา และให้เราเคี้ยวกันได้อย่างเพลิดเพลินนี้ อาจมีสิ่งสกปรกและเชื้อโรคปนเปื้อนหลากชนิดที่เราคาดไม่ถึง
ข้อมูลจากการประปานครหลวง (กปน.) ระบุว่า น้ำแข็งที่เราบริโภคกันอยู่นั้น แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ "น้ำแข็งซอง" หรือน้ำแข็งก้อนใหญ่ที่นำมาทุบให้เล็กลง ใส่เครื่องบดให้เป็นน้ำแข็งเกล็ด น้ำแข็งป่น เพื่อไปจำหน่ายต่อ เหมาะกับการแช่ของสด แช่น้ำขวด นำไปใส่แก้วให้ลูกค้า ทำน้ำแข็งใสใส่ขนมหวาน ส่วนอีกชนิดคือ "น้ำแข็งหลอดสำเร็จรูป" เป็นก้อนเล็กๆบรรจุใส่ถุงพลาสติกวางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ต
สิ่งที่น่าวิตกกังวลอยู่ตรงขั้นตอนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน จากโรงงานที่ไม่น่าเชื่อถือ รวมถึงการขนส่งที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลเรื่องความสะอาดเท่าที่ควร "ตั้งแต่โรงงานผลิตน้ำแข็งที่ไม่น่าเชื่อถือ อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนในแหล่งน้ำที่ใช้ผลิตน้ำแข็ง เครื่องตัดก้อนน้ำแข็งก็ใช้ใบมีดเป็นสนิม พวกโรงน้ำแข็งขนาดเล็กหลายแห่งมักมีคนงานยก ตัก โกย บรรจุลงถุง โดยไม่สวมเครื่องแบบมิดชิด บางคนไม่ใส่เสื้อ ใส่กางเกงขาสั้น สวมแค่รองเท้าบูทยางเท่านั้น ถุงก็เป็นกระสอบขาวๆด่างๆไม่ต่างกับถุงปุ๋ย ถุงใหม่หรือถุงเก่าเคยใส่ข้าวสาร หรือสารเคมีมารึเปล่าก็ไม่รู้ ขั้นตอนจัดส่งยิ่งน่ากลัว ส่วนมากใส่รถบรรทุกคลุมด้วยผ้าใบ มีลูกจ้างนั่งทับมา บางคนขึ้นเหยียบไม่สนใจ พอถึงร้านก็ใส่ถุงมือเก่าๆแบกน้ำแข็งไปส่ง ลากกระสอบไปตามพื้น ยังไม่นับถังบรรจุน้ำแข็งของร้านค้าว่าสะอาดหรือเปล่า โดยเฉพาะหากเป็นน้ำแข็งป่นหรือน้ำแข็งเกล็ดด้วยแล้ว ถือว่าเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆมากที่สุด " สุพจน์ อดีตเจ้าของโรงน้ำแข็งย่านนนทบุรี เปิดเผยความจริงอันน่าตกใจให้ฟัง
จากการสุ่มตรวจการปนเปื้อนในอาหารของสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ระหว่างปี 2555-2557 พบว่า มีน้ำแข็งบริโภคปนเปื้อนจุลินทรีย์มากกว่า 64.5 % สอดคล้องกับการสำรวจของสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ระบุว่า ทั้งน้ำแข็งซองและน้ำแข็งหลอด มักมีการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ เช่น โคลีฟอร์ม อีโคไล ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนมาจากสิ่งปฏิกูล ส่วนใหญ่ปนเปื้อนจากผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสกับน้ำแข็งโดยตรง และจากการขนส่ง
สิ่งที่ผู้บริโภคพอจะทำได้ ก็คือ การสังเกต หากเป็นน้ำแข็งหลอดบรรจุถุง ควรสังเกตรายละเอียดบนฉลากให้ครบถ้วน ต้องมีข้อความว่า ‘น้ำแข็งใช้รับประทานได้' ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน ต้องซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงรายละเอียดครบถ้วน ชัดเจน เช่น ชื่ออาหาร และชื่อที่ตั้ง สถานที่ผลิต เครื่องหมาย อย. พร้อมเลขสารบบอาหาร 13 หลัก วันเดือนปีผลิตหรือวันหมดอายุ ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ส่วนน้ำแข็งหลอด ที่ให้บริการภายในร้านค้าและร้านอาหารทั่วไป ควรสังเกตสถานที่เก็บและภาชนะบรรจุน้ำแข็ง ต้องถูกสุขลักษณะ ไม่มีการใส่น้ำแข็งปนกับอาหารประเภทอื่น ก้อนน้ำแข็งเมื่อสังเกตด้วยตาเปล่าต้องมีความใสสะอาด ปราศจากเศษฝุ่นละอองปะปน ในขณะที่ น้ำแข็งซองหรือน้ำแข็งก้อน ควรซื้อมาบริโภคทั้งก้อน นำมาล้างน้ำก่อนทุบหรือบดแล้วนำใส่ในภาชนะบรรจุที่สะอาด
อย่างไรก็ตาม หาก อย. ตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะดำเนินการตาม กฎหมาย เพราะจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และอาหารไม่บริสุทธิ์ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้บริโภคคนใดที่พบว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่สะอาด ไม่ได้มาตรฐาน สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด
ดังนั้น หากต้องการดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ แต่ปลอดภัยจากเชื้อจุลินทรีย์มากกว่า ลองหันไปรับประทานเป็นเครื่องดื่มแช่เย็นที่ไม่สัมผัสกับน้ำแข็งโดยตรงจะดีกว่า หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องหัดสังเกตน้ำแข็งก่อนกินให้ดี และหลีกเลี่ยงการเคี้ยวน้ำแข็ง เพราะนั่นแหละคือจุดอันตรายมากที่สุดที่คุณมักมองข้ามไปอยู่เสมอ
ที่มา: thaijobsgov