เตือนระวัง! กินก้อยปลาพาให้เป็นมะเร็งตับ


2,828 ผู้ชม

ก้อยปลาซึ่งเป็นอาหารที่นิยมของชาวอีสาน ยังคงเป็นอาหารอันตรายที่ทำให้เกิดพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งนำไปสู่การเป็นมะเร็งตับหรือมะเร็งท่อน้ำดีในที่สุด...


ก้อยปลา

เตือนระวัง! กินก้อยปลาพาให้เป็นมะเร็งตับ  

ก้อย เป็นอาหารท้องถิ่นทางภาคอีสาน คล้ายกับลาบ และ ส้มตำ นิยมปรุงจากเนื้อสัตว์ดิบรวมถึงไข่และตัวอ่อนของแมลงทีกินได้ เช่น เนื้อวัว เนื้อกวาง เนื้อเก้ง เนื้อหมูป่า เนื้อปลา (ตะเพียน หรือ ปลาขาว) กุ้งฝอย หอยเชอรี่ กิ้งก่า (กะปอม) ไข่มดแดง ไข่แมงมัน ตัวอ่อนตัวต่อเป็นต้น ไม่นิยมปรุงจากเนื้อสัตว์ปีก เช่น นก เป็ด ไก่ เพราะจะมีกลิ่นคาว และเหม็นสาบ รุนแรง

ก้อยปลาซึ่งเป็นอาหารที่นิยมของชาวอีสาน ยังคงเป็นอาหารอันตรายที่ทำให้เกิดพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งนำไปสู่การเป็นมะเร็งตับหรือมะเร็งท่อน้ำดีในที่สุด ซึ่งสถิติการเกิดโรคนี้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีมากผิดปกติ ทั้งเป็นมะเร็งชนิดที่พบในชายไทยเกินกว่าครึ่งของกรณีมะเร็งอื่นๆ ซึ่งถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับที่พบได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดทั่วโลก

รศ. ดร. บรรจบ ศรีภา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นระบุว่า จากการติดตามศึกษากลไกการเกิดโรคมะเร็งตับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 30 ปี พบว่า พยาธิใบไม้ในตับ ที่ตัวอ่อนเข้าสู่ร่างกายจากการกินอาหารดิบ เช่น ก้อยปลานั้น สามารถสร้างสารเคมีที่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้าน และเกิดเป็นอาการตับอักเสบได้ ซึ่งนานวันเข้า การอักเสบเรื้อรังจะทำให้เกิดมะเร็งตับได้

 ไข่พยาธิใบไม้ 

จากการศึกษาพบว่า บางชุมชนมีพยาธิใบไม้ในตับกว่าร้อยละ 80 แต่ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการของมะเร็ง จนกว่าผู้ป่วยจะมีอายุเกินกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่เมื่อแสดงอาการก็มักจะถึงระยะที่สายต่อการรักษาเสียแล้ว โดยในแต่ละปี โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยขอนแก่นรับผู้ป่วยมะเร็งตับจากสาเหตุนี้ถึงกว่า 2,000 ราย แต่รักษาได้เพียง 200 รายด้วยการผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อมะเร็งออก แต่ส่วนใหญ่ แพทย์ทำได้เพียงช่วยบรรเทาอาการ ด้วยการถ่ายเอาน้ำดีออกจนกว่าคนไข้จะเสียชีวิตไป

ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พยายามดำเนินโครงการลงพื้นที่รณรงค์ให้ความรู้เรื่องการป้องกันพยาธิใบไม้ตับต่อชุมชนในพื้นที่แหล่งน้ำของภาคอีสานหลายแห่ง เช่นที่แก่งละว้า อ. บ้านไผ่ จ. ขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบโรคดังกล่าวในอัตราที่มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวบ้านบางกลุ่มราว 10 เปอร์เซ็นต์ที่บริโภคอาหารดิบเป็นนิสัย และไม่สามารถเลิกกินก้อยปลาได้ ซึ่งทางโครงการได้พยายามใช้เทคนิคการป้องกันอื่นๆ เช่นการสร้างส้วมถูกสุขอนามัย เพื่อลดการแพร่กระจายของไข่พยาธิในแหล่งน้ำ

ที่มา: BBC Thai

อัพเดทล่าสุด