เมล็ดแมงลัก สรรพคุณเพอร์เฟค รู้ 10 เรื่องนี้หรือยัง?


13,485 ผู้ชม

แมงลัก (ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum × citriodourum) เป็นพืชล้มลุกในสกุลกะเพรา-โหระพา แมงลักมีใบเล็ก สีอ่อน บอบบาง...




แมงลัก (ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum × citriodourum) เป็นพืชล้มลุกในสกุลกะเพรา-โหระพา แมงลักมีใบเล็ก สีอ่อน บอบบาง ช้ำง่ายและเหี่ยวง่ายกว่า ชื่อสามัญเดิมเรียกกันว่า hoary basil (hoary แปลว่าผมหงอก) โดยนำมาจากลักษณะที่มีขนอ่อนสีขาวๆ บริเวณก้านใบและยอดอ่อน ต่อมาก็เปลี่ยนมาเรียกว่า lemon basil ตามลักษณะกลิ่นที่คล้ายส้ม-มะนาว ส่วนแมงลักศรแดงของไทยเรียกว่า thai lemon basil 

แมงลัก สรรพคุณไม่ธรรมดาจริง ๆ ไม่ใช่แค่ช่วยลดน้ำหนักได้ แต่ยังมีประโยชน์อีกมากมายแฝงอยู่ในพืชชนิดนี้ ทั้งส่วนใบและส่วนเมล็ด ก่อนจะทานตามกระแสที่ใคร ๆ เขาบอกว่าดี มารู้จักเม็ดแมงลักให้มากขึ้นเสียก่อน จะได้รู้ว่าสมุนไพรชนิดนี้เหมาะกับเราหรือเปล่า

1. แมงลักเป็นพืชตระกูลกะเพรา
บางคนรู้จักแต่เม็ดแมงลัก แต่ไม่เคยเห็นต้นและใบ เลยไม่รู้ว่านี่ก็เป็นหนึ่งในพืชตระกูลกะเพรา-โหระพา (Basil) เหมือนกัน โดยมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Hoary Basil หรือ Hairy Basil ลักษณะต้นคล้ายกับต้นกะเพรา แต่กลิ่นไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ต้นและใบกะเพรากับโหระพายังมีสีแดงปนอยู่บ้าง แต่แมงลักจะไม่มีสีแดงเลย 


2. ใบแมงลักให้พลังงานน้อย แต่สารอาหารเพียบ
ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลสารอาหารไทย โดยสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยพายัพ และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ระบุว่า ใบแมงลักหนึ่งหน่วยบริโภค ให้พลังงานเพียง 32 กิโลแคอลรี และยังให้แร่ธาตุวิตามินมากมาย คือ

  • วิตามินบี 1 0.12 มิลลิกรัม          
  • วิตามินบี 2 0.28 มิลลิกรัม         
  • วิตามินซี 12 มิลลิกรัม    
  • แคลเซียม 194 มิลลิกรัม          
  • ฟอสฟอรัส 42 มิลลิกรัม          
  • เหล็ก 3.8 มิลลิกรัม          
  • คาร์โบไฮเดรต 2.2 กรัม           
  • โปรตีน 4.1 กรัม       
  • ไขมัน 0.8 กรัม          
  • น้ำ 89.3 กรัม  
  • ไฟเบอร์ 1.6 กรัม

3. รักษาโรคหวัดได้ด้วย
คนชอบเป็นหวัดคัดจมูกต้องผูกมิตรกับใบแมงลักไว้สักหน่อยค่ะ เพราะแมงลักเป็นยารสร้อนเล็กน้อย ใบสดของแมงลักมีสรรพคุณเป็นยาแก้หวัด ลดอาการหลอดลมอักเสบ ขับเหงื่อได้ แนะนำใส่ในแกงเลียงที่มีสมุนไพรหลายชนิด แล้วอาการหวัดจะดีขึ้น

4. เรียกน้ำนมให้คุณแม่มือใหม่
จะบอกให้รู้ว่า "ใบแมงลัก" เป็นสมุนไพรที่ช่วยเรียกน้ำนมได้ดีทีเดียว เหมาะสำหรับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรใหม่ ๆ การทานแมงลักจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนม เพิ่มปริมาณสารอาหารในน้ำนมของมารดาส่งต่อให้ลูกน้อย อีกทั้งยังช่วยแก้อาการน้ำนมคัดได้อีกนะ 

5. ช่วยขับคอเลสเตอรอลไม่ดีออกจากร่างกาย
ในอาหารที่เราทานเข้าไปมีทั้งคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) แต่เม็ดแมงลักมีส่วนช่วยขับคอเลสเตอรอลตัวร้ายออกจากร่างกายได้ เพราะเส้นใยของแมงลักสามารถดูดซับไขมันไว้ได้ เมื่อร่างกายไม่สามารถย่อยกากใยพวกนี้ได้ ไขมันไม่ดีก็จะถูกขับออกมาพร้อมกับเส้นใยของแมงลัก แต่ไม่มีผลใด ๆ ต่อไขมันดี

และในเมื่อเม็ดแมงลักสามารถกำจัดคอเลสเตอรอลตัวร้ายให้พ้นจากร่างกายไปได้ เพราะฉะนั้นหัวใจดวงน้อย ๆ เลยได้อานิสงส์ไปเต็ม ๆ ถ้ารับประทานเม็ดแมงลักเป็นประจำก็ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้เลย

6. นี่ละตัวช่วยควบคุมน้ำหนักชั้นเลิศ
เคล็ดลับลดน้ำหนักหลายสำนักมักแนะนำให้ทานเม็ดแมงลักก่อนทานอาหาร ซึ่งก็ได้ผลจริง ๆ ค่ะ เพราะเม็ดแมงลักไม่ก่อให้เกิดพลังงาน แถมยังสามารถพองตัวได้ถึง 45 เท่า หากนำไปแช่น้ำสักพักจนพองตัว แล้วนำมาทานก่อนทานอาหารก็จะช่วยให้เรารู้สึกอิ่มท้อง หลังจากนี้ก็จะทานอาหารได้น้อยลง เป็นการควบคุมปริมาณอาหารที่รับประทานได้เป็นอย่างดี เลยควบคุมน้ำหนักได้ด้วย

แต่ขอเตือนว่าไม่ใช่หวังจะลดน้ำหนัก เลยทานแต่เม็ดแมงลักทุกมื้อ ถ้าเป็นแบบนี้รับรองได้ป่วยเพราะขาดสารอาหารแน่นอน ควรรับประทานแค่บางมื้อ หรือพอให้กระเพาะอาหารรู้สึกอิ่มเท่านั้นดีกว่าค่ะ

7. ท้องผูก ไม่ถ่าย เป็นยาระบายชั้นดี
ด้วยความที่เปลือกด้านนอกสามารถพองตัวได้ถึง 45 เท่า โดยไม่ถูกย่อย เม็ดแมงลักก็เลยช่วยเพิ่มกากใยและช่วยหล่อลื่น ทำให้อุจจาระไม่เกาะลำไส้ ขับถ่ายสะดวกขึ้นเยอะ เพราะเม็ดแมงลักจะไปกระตุ้นประสาทที่อยู่รอบ ๆ ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทำให้เกิดปวดท้องหนัก คนท้องผูกบ่อย ๆ ต้องสรรหาเม็ดแมงลักมาทานดูว่าเห็นผลแค่ไหน วิธีใช้คือรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา แช่น้ำให้พอง แล้วดื่มก่อนนอน

8. ป่วยเบาหวานก็ทานเม็ดแมงลักได้
การที่เม็ดแมงลักพองตัวมากขนาดนั้น เลยทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ช้าลง จึงเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลลดลงด้วย

9. ก่อนทานต้องแช่น้ำให้พองตัวเต็มที่
นี่เป็นข้อควรระวังขีดเส้นใต้หนา ๆ ไว้เลยนะคะ เพราะถ้ารับประทานเม็ดแมงลักที่ยังพองตัวไม่เต็มที่ เมื่อเม็ดแมงลักลงไปอยู่ในท้องก็จะดูดน้ำภายในช่องทางเดินอาหาร ทำให้เม็ดแมงลักจับตัวเป็นก้อนแข็ง และอุดตันลำไส้ จนทำให้เกิดการท้องผูก และท้องอืดมากขึ้น แย่เลย

10. อย่าทานยาพร้อมเม็ดแมงลัก
การรับประทานแมงลักพร้อมกับยาตัวอื่น ๆ จะมีผลทำให้ร่างกายดูดซึมยาเหล่านั้นได้น้อยลง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยากับเม็ดแมงลักพร้อม ๆ กัน โดยให้เลือกรับประทานยาก่อนสัก 15 นาที ค่อยตามด้วยการรับประทานเม็ดแมงลัก


ทานใบแมงลักและเม็ดแมงลักให้ถูกวิธีก็ช่วยดูแลสุขภาพได้ แต่ถ้าใครไม่ชอบทานเม็ดแมงลักผสมน้ำเปล่า ๆ อาจทานกับน้ำแดง หรือผสมลงในผลไม้ โยเกิร์ต แล้วจะช่วยให้ทานได้ง่ายขึ้น อร่อยพร้อมสุขภาพดีแบบคูณสอง

ที่มา: kapook

อัพเดทล่าสุด