ออกกำลังกายให้สนุก ในช่วงฤดูร้อน


1,183 ผู้ชม


การออกกำลังกายรู้กันดีอยู่ว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้สุขภาพ ดี แข็งแรง ลดการเกิดโรค แถมยังช่วยลดน้ำหนักได้ดีอีกด้วย
ข้อดีของการออกกำลังกายในฤดูร้อนคือ ทำให้ร่างกายตื่นตัว เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ยืดขยายเร็วกว่าในฤดูอื่น ๆ ซึ่งช่วยลดอาการบาดเจ็บได้
ฤดูร้อนมาพร้อมกับความร้อนและแสงแดด ประเภทของการออกกำลังกายหรือชนิดกีฬาที่ต้องระวัง คือจำพวกที่อยู่กลางแจ้ง เช่น เทนนิส กอล์ฟ ฟุตบอล วิ่งมาราธอน เป็นต้น หรือการออกกำลังกายที่ต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เช่น วอลเลย์บอล บาสเกตบอล แบดมินตัน ตะกร้อ เป็นต้น เพราะการออกกำลังกายด้วยวิธีเหล่านี้เสี่ยงเกิดอันตรายจากการที่ความร้อนในร่างกายสูงขึ้น
เนื่องจากสภาพอากาศในฤดูร้อนมีความร้อนชื้นสูง ทำให้ร่างกายถ่ายเทความร้อนออกสู่ภายนอกไม่ทันอุณหภูมิร่างกายจึงสูงขึ้น อาจส่งผลให้มาอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมา ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ควรระวังให้มาก
หลายคนคิดว่าตัวเองแข็งแรง ไม่มีความเสี่ยงแถมไม่เคยตรวจสุขภาพประจำปีเลย จึงไม่ได้สังเกตร่างกายตัวเองเวลาออกกำลังกาย 
จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่อยู่ในแวดวงการออกกำลังกายพบว่า คนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่อาจหักโหมมากเกินไปหรือไม่ฟังเสียงร่างกายตนเอง ถูกหามตัวส่งเข้าโรงพยาบาลมานักต่อนักแล้ว
การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรทำควบคู่ไปกับการรู้จักประเมินร่างกายตัวเองด้วย ซึ่งโรคที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการออกกำลังกายที่หนักเกินไปในฤดูร้อนมีดังนี้

1. ภาวะขาดน้ำ

 ในฤดูร้อนร่างกายต้องเสียเหงื่อมากกว่าปกติ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะนี้คือผู้ที่ออกกำลังกายหนักมาก เช่น วิ่งมาราธอน ขี่จักรยาน ไตรกีฬา หรือการออกกำลังกายชนิดที่ต้องทำต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เพราะยิ่งออกกำลังกายนาน ร่างกายจะมีโอกาสขาดน้ำได้ง่าย
อาการ คือ ปวดศีรษะ กระหายน้ำ ปากแห้ง ความดันโลหิตต่ำ มีรอยคล้ำใต้ดวงตา เป็นตะคริว
คำแนะนำ ควรจิบน้ำบ่อย ๆ หรือดื่มน้ำหวาน เพื่อให้ร่างกายสดชื่นขึ้น
2. ความดันโลหิตสูง
หากมีความดันโลหิตสูงมากอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย เนื่องจากหัวใจต้องทำงานหนักขึ้น หรือหลอดเลือดสมองแตก ทำให้เสียชีวิตได้
อาการ คือ คลื่นไส้ อาเจียน แขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง พูดไม่ชัดหรือพูดไมได้ หมดสติ โดยอาการจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน
คำแนะนำ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกลางแจ้งในเวลากลางวัน หรือใส่อุปกรณ์ซึ่งสามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจเพื่อช่วยเตือนหากออกกำลังกายหนักเกินจากอัตราการเต้นของหัวใจที่เราตั้งค่าไว้ ซึ่งปัจจุบันอุปกรณ์ดังกล่าวมีหลากหลายรูปแบบและใช้งานง่าย
3. โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke)
หรือลมแดด ชนิดไม่มีเหงื่อออก เป็นโรคที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญ นอกจากนี้แล้วยังมีหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่อดนอน ดื่มเหล้าจัด และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
อาการ คือ ตัวร้อนขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน แต่เหงื่อไม่ออก ส่วนอาการอื่น ๆ คือ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ และอาจรุนแรงถึงขั้นเพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว ไตวาย เซลล์ตับตาย จนเสียชีวิตได้
การออกกำลังกายในฤดูร้อนมีข้อควรปฏิบัติโดยทั่วไปดังนี้
      1. ไม่ควรอดนอน ดื่มแอลกอฮอล์ ชา หรือ กาแฟ ก่อนออกกำลังกาย
      2. ควรเช็กความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจก่อนออกกำลังกาย
      3. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักติดต่อกันเป็นเวลานานในช่วงที่อากาศร้อนจัด
      4. กินอาหารที่ให้พลังงาน เช่น แป้งและอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตก่อนออกกำลังกายหนักอย่างน้อย
      5. ดื่มน้ำเล็กน้อยก่อนออกกำลังกาย หากรู้สึกกระหายขณะออกกำลังกายให้จิบน้ำ ถึงแม้ไม่รู้สึกกระหายก็ควรจิบเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ไม่ควรฝืนร่างกาย
      6. สวมเสื้อผ้าสีอ่อนที่ใส่สบาย โดยเลือกเนื้อผ้าที่มีการระบายอากาศและซึมซับเหงื่อได้ดี และสวมหมวก หากอออกกำลังกายกลางแจ้ง
      7. ชนิดของกีฬาที่แนะนำ คือ ว่ายน้ำ หรือการออกกำลังกายในห้องปรับอากาศ เช่น ปิงปอง วิ่งบนสายพาน ปั่นจักรยานบนเครื่องปั่น ฟิตเนส โยคะ พิลาทีส เป็นต้น
การออกกำลังกายมีประโยชน์มหาศาล หากเราศึกษาและเลือกประเภทกีฬาให้เหมาะสมกับตัวเรา และควรรู้จักฟังเสียงร่างกายตัวเอง (อาการต่าง ๆ ที่นำไปสู่ความสุข หรืออาการที่นำไปสู่การบาดเจ็บ) หากร่างกายส่งสัญญาณที่เป็นลบควรหยุดทันที

ที่มา: ipuying

อัพเดทล่าสุด