มือชา-นิ้วล็อค โรคฮิตของคนทำงาน


2,076 ผู้ชม

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีผู้เข้ามาปรึกษาแพทย์ทางกระดูกและข้อ เกี่ยวกับความผิดปกติที่เกิดกับมือ และต้องเข้ารับการฟื้นฟู


เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีผู้เข้ามาปรึกษาแพทย์ทางกระดูกและข้อ เกี่ยวกับความผิดปกติที่เกิดกับมือ และต้องเข้ารับการฟื้นฟู ทำกายภาพบำบัดจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหญิงและชาย ที่พบเป็นประจำได้แก่ อาการมือชาจนอ่อนแรงหยิบจับอะไรแทบไม่ได้ และอาการของนิ้วล็อค คือนิ้วบางนิ้วแข็งเกร็งขยับแทบไม่ได้ เมื่องอ หรือเหยียดนิ้วออกแล้วจะเจ็บปวดมาก


เมื่อสอบถามประวัติแต่ละคนก็ได้คำตอบคล้ายๆ กันคือ ส่วนใหญ่เป็นคนที่ต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นประจำ บางคนมีอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์ นักออกแบบ พนักงานบัญชี นอกเหนือไปจากนั้นก็ได้แก่ หนุ่มๆ นักกอล์ฟ กลุ่มสาวๆ พนักงานนวด (แผนไทย) คนทำงานตามโรงงาน ที่ต้องใช้มือหยิบจับสิ่งของต่างๆ ซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ พ่อครัวที่ต้องสับเนื้อหั่นผักตลอดเวลา แม้กระทั่งแม่บ้านที่ทำงานซักผ้า ถูบ้านต้องออกแรงบิดผ้าเสมอๆ


   
เรามาดูกันดีกว่าครับว่าอาการผิดปกติเหล่านี้ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร หากใครที่กำลังเริ่มเป็นจะได้ไหวตัวทัน และไปรับการรักษาก่อนอาการจะเป็นมากขึ้นนะครับ 



โรคมือชาจากเส้นประสาทถูกกดทับ 


โรคมือชานี้ เกิดจากการที่เส้นประสาทที่พาดผ่านบริเวณข้อมือถูกกดทับ ซึ่งเส้นประสาทนี้จะผ่านจากแขนไปยังข้อมือ เพื่อไปรับความรู้สึกที่บริเวณมือ โดยทอดผ่านบริเวณข้อมือ และลอดผ่านเอ็นที่ยึดบริเวณข้อมือ อาจมีสาเหตุบางประการ ที่ทำให้เส้นประสาทนี้ถูกกดทับได้ จึงทำให้มือชา ร่วมกับมีอาการปวดชา ร้าวไปยังท่อนแขนหรือต้นแขนได้ และบางคนพบว่ามือข้างที่เป็นอ่อนแรง หยิบจับสิ่งของไม่ถนัด ถ้าทิ้งไว้จะพบว่ากล้ามเนื้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มืออาจจะแฟบลง เมื่อเทียบกับมืออีกข้างหนึ่ง พบในเพศหญิงมากกว่าชาย ระหว่างวัย 30-60 ปี


อะไรบ้างที่เป็นสาเหตุ...
สิ่งใดก็ตามที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการบวม และการระคายเคืองของเยื่อบุข้อที่อยู่รอบๆ เส้นเอ็น ทำให้เส้นประสาทถูกกด เช่น เกิดการกระแทกที่บริเวณข้อมืออยู่เป็นประจำ เช่นใช้เครื่องตัดหญ้า เครื่องเจาะสกรู กำไม้เทนนิส ไม้กอล์ฟ กระดูกข้อมือหัก หรือการหลุดเคลื่อนของข้อ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (ไขข้ออักเสบ) คนที่เป็นเบาหวาน ในผู้หญิงตั้งครรภ์ และคนที่มีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนจากการหมดประจำเดือน 


ถ้ามีอาการเบื้องต้นต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 
มีอาการชา และรู้สึกซ่าในบริเวณมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการมักจะเกิดในตอนกลางคืน ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับท่าทางในการนอน และหลังจากการใช้มือข้างนั้นๆ
 
การรับความรู้สึกที่บริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และบางส่วนของนิ้วนางลดลง ทำให้หยิบจับของไม่ถนัด
 
มีอาการรู้สึกแปล๊บๆ หรือคล้ายกับไฟฟ้าช็อต เมื่อทำการเคาะลงตรงข้อมือ ในบริเวณที่มีเส้นประสาททอดผ่าน อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้น ในคนที่งอมือเข้าหาท้องแขนเป็นเวลา 1 นาที ถ้าเส้นประสาทนี้ถูกกดทับเป็นเวลานาน จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณฝ่ามือด้านนิ้วหัวแม่มือแฟบลง

การรักษา 
ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อย อาจจะใช้วิธีการรักษาโดยวิธีดังต่อไปนี้

 
ใส่เครื่องพยุงข้อมือในช่วงเวลากลางคืน เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ข้อมืองอเวลานอน และช่วยให้เยื่อบุข้อมือ และเส้นเอ็นที่อักเสบยุบจากอาการบวม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เส้นประสาทถูกกดทับ
 
รับประทานยาลดการอักเสบ
 
ถ้าอาการเป็นมากขึ้น แพทย์อาจจะแนะนำให้ฉีดยาสเตียรอยด์ เข้าไปในบริเวณที่เส้นประสาททอดผ่าน ซึ่งยานี้จะแพร่กระจายไปยังบริเวณเยื่อบุผิวข้อ และเส้นเอ็นที่มีการอักเสบ และบวม ทำให้อาการบวมยุบลง การกดเส้นประสาทก็น้อยลง ปริมาณของยาที่ใช้ฉีดไม่มากนักและไม่มีอันตรายที่รุนแรง การรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้จะได้ผลดี ในกรณีที่เส้นประสาทไม่ถูกกดทับมากนัก ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นก็อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยตัดเอาส่วนของพังผืด เส้นเอ็นในส่วนที่กดทับเส้นประสาทออก หลังผ่าตัดอาการก็จะดีขึ้น อาการปวดลดลง อาการชาลดลง แต่อาจไม่ถึงกับหายสนิทยังจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

อัพเดทล่าสุด