โรคภูมิแพ้ (Allergy) ชนิดของโรคภูมิแพ้ 5 ประเภท


4,173 ผู้ชม

โรคภูมิแพ้ (Allergy) เป็นโรคที่พบบ่อยทั่วโลกและในประเทศไทย จากการสำรวจในประ เทศไทยพบว่า มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้น 3-4 เท่าภายในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้ประเทศไทยมีอุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้โดยเฉลี่ยดังนี้



ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :
จมูก  หลอดลม  ระบบทางเดินหายใจ
อาการที่เกี่ยวข้อง :
จาม  มีน้ำมูก  ไอ
 
โรคภูมิแพ้ (Allergy) เป็นโรคที่พบบ่อยทั่วโลกและในประเทศไทย จากการสำรวจในประ เทศไทยพบว่า มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้น 3-4 เท่าภายในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้ประเทศไทยมีอุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้โดยเฉลี่ยดังนี้ คือ
    โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้/โรคภูมิแพ้ทางจมูกประมาณ 23-30%
    โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคหืดประมาณ10-15%
    โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ประมาณ 15%
    และโรคแพ้สารสิ่งอื่นๆ เช่น อาหาร ประมาณ 5%
โดยอุบัติการณ์ในเด็กจะสูงกว่าในผู้ใหญ่คือพบเด็กที่มีภาวะโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ประมาณ 40% โรคภูมิแพ้นั้นถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่กว่าคนปกติ เช่น การเกิดอาการคัดจมูกในเวลากลางคืนทำให้นอนอ้าปากหายใจ จึงตื่นมาด้วยอาการปากแห้ง รู้สึกเหมือนนอนหลับไม่สนิท และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก หูชั้นกลางอักเสบ และ/หรือนอนกรน
โรคภูมิแพ้คืออะไร?
โรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้คือ โรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสารกระตุ้นที่ในภาวะปกติแล้วจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรพืช แต่ในโรคภูมิแพ้ ร่างกายจะเกิดการตอบสนองอย่างมากผิดปกติต่อสารเหล่านั้น จึงทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) นั้น เช่น
ถ้าเป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูกเมื่อเราหายใจเข้าไปทางจมูก สารก่อภูมิแพ้ จะไปสัมผัสกับเยื่อบุโพรงจมูกแล้วทำให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูก เกิดอาการคัดจมูก จาม มีน้ำมูกใสๆ และคันจมูก
ถ้าเป็นโรคหืด เมื่อหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าไปถึงหลอดลมก็จะทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลม แล้วหลอดลมก็จะตอบสนองด้วยการหดเกร็ง เกิดอาการของหลอดลมตีบขึ้น
ทั้งนี้ อาจใช้เวลาก่อนเกิดอาการเป็นนาที หรือเป็นชั่วโมงก็ได้หลังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้
ในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ยังมักมีแนวโน้มที่จะเกิดการตอบสนองไวกว่าปกติต่อสิ่งกระตุ้นที่ไม่ ใช่สารก่อภูมิแพ้ได้ เช่น ความเย็น ความร้อน ความกดอากาศต่ำ ฝน และ/หรือความชื้น ซึ่งภาวะนี้อาจอยู่นานเป็นวัน หรือเป็นเดือนก็ได้ และสามารถเกิดอาการได้โดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้มีสาเหตุเกิดจากอะไร?
โรคภูมิแพ้ เกิดจากพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม โดยพบว่าถ้าบิดาหรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ จะทำให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณ 30-50% แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาเป็นโรคภูมิแพ้จะมีผลให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึงประมาณ 50-70% ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลยมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพียงประมาณ 10% เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่สา มารถแก้ไขปัจจัยทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นการกำจัดและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ ไรฝุ่น ในผู้ป่วยและครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้ (ซึ่งมีความเสี่ยงสูง) จะสามารถลดอาการของโรค หรือป้องกันไม่ให้เกิดโรคภูมิแพ้ขึ้นได้้
โรคภูมิแพ้มีกี่ชนิด?
ชนิดของโรคภูมิแพ้ อาจแบ่งตามระบบของร่างกาย ออกได้เป็น 5 กลุ่มคือ
    โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคหืด (Asthma)
    โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศ (Allergic rhinitis)
    โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergic skin disease)
    โรคภูมิแพ้ทางตา (Eye allergy)
    โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรงที่มีอาการหลายระบบ (Anaphylaxis)
    โรคหืด (Asthma)
    อาการของผู้ป่วยขณะที่จับหืดคือ มีอาการแน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย หายใจดังหวีด มักมีอาการเป็นๆหายๆ หรือในกรณีที่มีอาการมากอาจมีอาการทุกคืน อาการอาจบรรเทาได้ด้วยยาขยายหลอดลม แต่ก็มักควบคุมอาการได้เฉพาะช่วงแรกๆ ต่อมามักต้องใช้ยาบ่อยขึ้นและมากขึ้น บางครั้งโรคหืดอาจแสดงอาการเพียงแต่อาการไอกลางคืน หรือไอเรื้อรังโดยไม่มีเสียงหวีด หรืออาการแน่นหน้าอกก็ได้ ทำให้การวินิจฉัยยากขึ้น บางครั้งก็มีอาการแน่นหน้าอกเฉพาะช่วงออกกำลังกาย แต่ที่มักถูกมองข้ามเกือบเสมอๆคือไม่ได้นึกถึงโรคภูมิแพ้ทางจมูก ซึ่งสา มารถพบร่วมกันได้มากกว่า 70-80% ซึ่งการให้การรักษาอาการของโรคหืดอย่างเดียวโดยไม่รักษาโรคภูมิแพ้ทางจมูกด้วยจะทำให้ควบคุมอาการไม่ดีเท่าที่ควร
    การวินิจฉัยที่แน่นอนคือ การตรวจวัดสมรรถภาพปอด ซึ่งนอกจากจะช่วยในการวินิจฉัยโรคแล้ว ยังช่วยประเมินความรุนแรงของโรคอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามการตรวจโดยวิธีนี้ทำได้ค่อนข้างยากในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 7 ปี กรณีที่ไม่มีเครื่องทดสอบสมรรถภาพปอด ชนิด Spirometer อาจใช้เครื่องมือชนิดที่เรียกว่า Peak flow meter ซึ่งมีราคาถูกกว่าและมีประโยชน์ในการประเมินอาการของโรคกรณีที่ไม่สามารถตรวจด้วย Spirometer ได้
    โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศ (Allergic rhinitis)
    อาการของโรคภูมิแพ้ทางจมูกอาจแบ่งได้เป็น 4 ชนิดคือ
        ชนิดแรกเป็นชนิดที่มีอาการเด่นทางน้ำมูก คือจะมีน้ำมูกใสไหล จาม คันจมูก
        ชนิดที่สองมีอาการเด่นทางอาการคัดจมูกเป็นหลัก มักไม่มีน้ำมูก หรืออาการจาม
        ชนิดที่สามจะมีอาการของ 2 ชนิดแรกรวมกัน คือมีทั้งน้ำมูกใส และอาการคัดจมูก
        ส่วนชนิดสุดท้ายจะมีอาการที่วินิจฉัยยากถ้าผู้ตรวจไม่มีความชำนาญ อาจวินิจฉัยผิดได้ กลุ่มนี้อาจมีอาการ ไอเรื้อรังหรือกระแอม ซึ่งเกิดจากเสมหะไหลหรือซึมลงคอ อาจรู้สึกมีเสมหะติดคอเวลาเช้าได้ บางคนมีอาการปวดหัว/ปวดศีรษะเรื้อรัง นอนกรน หรือถอนหายใจบ่อยๆ ปากแห้ง บางคนมีอาการคันหัวตา โดยไม่มีอาการตาแดง อธิบายว่าเกิดจากการที่มีเยื่อจมูกบวมมากทำให้ท่อน้ำตาที่อยู่ติดๆกันอักเสบ เกิดอาการคันที่หัวตาอย่างมาก
    การวินิจฉัยโรคนี้สามารถทำได้จากการซักประวัติทางการแพทย์อย่างละเอียด โดยเฉพาะประวัติโรค หรือมีอาการภูมิแพ้ภายในครอบครัว การสังเกตตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ รวมทั้งสภาพลักษณะการทำงาน สภาพแวดล้อมภายในบ้าน ที่ทำงาน การตรวจร่างกายบางอย่างถ้าพบก็จะมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค เช่น การมีขอบตาล่างบวมคล้ำการตรวจภายในโพรงจมูกจะช่วยบอกถึงความรุนแรงของการอักเสบ และอาจบอกถึงโรคในโพรงจมูกที่มีผลต่อการรักษาโรคภูมิแพ้ได้ เช่น อาจพบการซีด หรือมีสีแดงจัดจากการอักเสบ
    โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergic skin disease)
    ที่พบบ่อยได้แก่ ลมพิษ และผื่นผิว หนังอักเสบจากภูมิแพ้
    โดยผู้ป่วยที่เป็นลมพิษจะเริ่มด้วยอาการคัน หลังจากนั้นจะมีอาการบวม เป็นได้ทั้งตัวโดยเฉพาะที่ถูกเกาหรือกดรัด มักเป็นๆหายๆ อาการบวมอาจจะเป็นแบบตุ่มนูนที่มีขนาดแตกต่างกัน ส่วนใหญ่อาจดูคล้ายตุ่มยุงกัด แต่บางแห่งจะดูคล้ายแผนที่ โดยตรงกลางผื่นสีจะจางและไม่นูน ผื่นลมพิษนี้ อาจมีลักษณะแตกต่างไป ในบางครั้งจะรวมกันเป็นปื้นหนา หรือ อาจมีจุดขาวซีดๆ ตรงกลาง ขณะที่ขอบโดยรอบจะหนานูนแดง ผื่นลมพิษจะเห่อเร็วและผื่นนั้นมักจะหายภายใน 4-6 ชั่วโมงโดยไม่มีร่องรอยหลงเหลือ แล้วก็จะย้ายไปขึ้นบริเวณอื่นได้อีก โดยมากผื่นจะหายไปใน 24 ชั่วโมง ถ้าเป็นนานเกิน 24 ชั่วโมงให้นึกว่าอาจจะเป็นโรคอื่น ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการบวมของหนังตา ริมฝีปาก อวัยวะเพศ และทางเดินหายใจ ร่วมด้วย
    ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ มักเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุขวบปีแรก โดยประ มาณ 80-90% ของเด็กที่เป็นโรคนี้ มักมีอาการก่อนอายุ 7 ปี โดยผู้ป่วยจะมีอาการผื่นคันตามลำ ตัวและหน้า เป็นๆหายๆ ผิวแห้ง อักเสบ และมีอาการกำเริบเป็นระยะๆเมื่อได้รับสารกระตุ้น ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ จะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหืดเมื่อเด็กโตขึ้น
    สาเหตุที่สำคัญของโรคภูมิแพ้ทางผิวหนังในเด็ก ได้แก่ แพ้อาหาร โดยอาหารที่พบว่าแพ้ได้บ่อยในเด็กไทยคือ ไข่ นมวัว อาหารทะเล และแป้งสาลี
    โรคภูมิแพ้ทางดวงตา (Eye allergy)
    เป็นการอักเสบที่เยื่อตาขาว และใต้หนังตา ผู้ ป่วยจะมีอาการ คันตา ตาแดง น้ำตาไหล แสบตาและมีขี้ตา โดยมักมีอาการช่วงได้รับสารกระตุ้น เช่น ฝุ่น ละอองเกสรหญ้า หรือขนสัตว์ ผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้ทางดวงตามักพบร่วมกับอาการโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
    โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรงที่มีอาการหลายระบบ (Anaphylaxis)
    เป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาการแพ้จะเกิดขึ้นรุนแรง รวดเร็วและมีอาการหลายระบบ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการคัน ลมพิษ บวมที่หน้า ปาก แน่นในลำคอ จาม น้ำมูกไหล หายใจลำบาก บางรายอาจมีอาการปวดท้อง อาเจียนท้องเสีย ความดันโลหิตลดต่ำลง หมดความรู้สึก และอาจถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ในรายที่เป็นโรคหืดอยู่เดิมอาจไปกระตุ้นให้โรคหืดกำเริบได้
    สาเหตุที่สำคัญของโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรงคือ ภาวะแพ้ อาหาร ยา แมลงต่อย (ผึ้ง ต่อ มด กัดต่อย: การปฐมพยาบาล การรักษาและการป้องกัน) ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้ชนิดนี้ควรหลีก เลี่ยงสารที่แพ้ และในรายที่เคยเกิดอาการแพ้ที่รุนแรง เช่นช็อก ผู้ป่วยควรมียาฉีด Adrenaline/ Epinephrine (ยารักษาโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง ที่ช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจ และช่วยเพิ่มความดันโลหิต) พกติดตัวไว้ด้วยเพื่อป้องกันการเสียชีวิตก่อนที่จะพบแพทย์
แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นโรคภูมิแพ้?
แพทย์วินิจฉัยโรคภูมิแพ้ โดยสังเกตจากอาการที่เข้ากันได้กับโรคนี้ ดังได้กล่าวแล้วในหัว ข้อ ชนิดของโรคภูมิแพ้ การมีอาการเรื้อรังเป็นๆหายๆ การมักมีประวัติครอบครัวร่วมด้วย และอาจทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือเจาะเลือดเพื่อหาสาเหตุของอาการที่แพ้ หรือกรณีที่เป็นโรคหืดก็ทำการทดสอบสมรรถภาพปอด เป็นต้น
รักษาโรคภูมิแพ้อย่างไร?
หลักการดูแลผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีหลักการทั่วไปคือ
    ควบคุมสิ่งแวดล้อมและสารก่อภูมิแพ้
    ให้การรักษาด้วยยา
การควบคุมสิ่งแวดล้อมและสารก่อภูมิแพ้ ได้มีการสำรวจผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทยพบว่า มักจะแพ้ไรฝุ่น ฝุ่นบ้าน เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาได้แก่ แมลงสาบ ละอองเกสรพืช และขนสัตว์ ถ้าทำได้ แนะนำให้ทำการทดสอบผิวหนังในผู้เป็นโรคภูมิแพ้ทุกคน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าแพ้อะไร จะได้หลีกเลี่ยงได้ถูกต้อง และยังใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาทำการรักษาด้วยการฉีดวัคซีนอีกด้วย ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ที่ไม่ได้รับการทดสอบผิว หนัง หรือไม่สามารถทำการทดสอบได้ก็ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งที่พบบ่อย คือ
    ไรฝุ่น
        จัดห้องนอนให้โล่ง ไม่ควรมี พรม ตุ๊กตา และผ้าม่าน
        ซัก ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
        คลุมที่นอน หมอน หมอนข้างด้วยผ้าใยสังเคราะห์ชนิดพิเศษซึ่งสามารถกันไม่ให้ตัวไรฝุ่นลอดผ่านขึ้นมาได้
    แมลงสาบ
        ขจัดแหล่งอาหารของแมลงสาบ โดยทิ้งขยะและเศษอาหารในถุงหรือถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
        ใช้ยาฆ่าแมลงสาบและกับดักแมลงสาบ
    สัตว์เลี้ยง
        ไม่ควรเลี้ยงสัตว์มีขน เช่น สุนัข แมว นก กระต่าย
        ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรให้สัตว์เลี้ยงอยู่นอกบ้าน และอาบน้ำให้ทุกสัปดาห์
        ใช้เครื่องดูดฝุ่น และเครื่องกรองอากาศ
    เกสรหญ้า
        ควรตัดหญ้าและวัชพืชบริเวณบ้านบ่อยๆ เพื่อลดจำนวนเกสร
        ไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สด หรือแห้ง ไว้ในบ้าน
        ในช่วงที่มีละอองเกสรมาก ควรปิดประตู หน้าต่าง และใช้เครื่องปรับอากาศ หรือเครื่องฟออากาศ
        ทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเช้า เพราะละอองเกสรจะปลิวมากช่วงตอนเย็น
นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสารระคายเคืองต่างๆ ที่อาจทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบ ได้แก่ ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย กลิ่นฉุน น้ำหอม ควันธูป และฝุ่นละอองจากแหล่งต่างๆ การออกกำลังกายสม่ำเสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็มีความสำคัญ โดยพบว่าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ มักมีอา การแย่ลงเมื่อมีภาวะเครียด และอดนอน ดังนั้นควรดูแลสุขภาพตัวเองไม่ให้เครียดมากและควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ในกรณีมีอาการโรคหืดกำเริบจากการออกกำลังกาย การพ่นยาขยายหลอดลมก่อนการออกกำลังกาย 15-30 นาทีจะช่วยป้องกันการหอบระหว่างออกกำลังกายได้
การให้การรักษาด้วยยา เราอาจแบ่งการรักษาโรคภูมิแพ้ออกได้เป็น 3 ระดับเพื่อความเข้าใจง่ายๆดังนี้
    ยาบรรเทาอาการต่างๆ เช่น ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) และยาขยายหลอดลม
    ยาต้านการอักเสบ เช่น ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก หรือสูดทางปาก
    การใช้วัคซีนภูมิแพ้ เป็นการรักษาโดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกายเริ่มจากปริมาณน้อยๆ และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆจนร่างกายเกิดความชินต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น ซึ่งผู้ป่วยที่ควรรับการรักษาโดยวิธีฉีดวัคซีนภูมิแพ้คือ ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีผลข้างเคียงจากยา โดยก่อนจะเลือกรักษาด้วยการฉีดวัคซีน จำเป็นต้องทราบก่อนว่าแพ้อะไร เพื่อจะได้นำสารที่แพ้มาฉีดเป็นวัคซีน ซึ่งการรักษาโดยวิธีนี้ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และผู้ป่วยต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์แนะนำอย่างน้อย 3-5 ปี
โรคภูมิแพ้รักษาหายไหม? รุนแรงไหม?
โอกาสรักษาโรคภูมิแพ้ได้หายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดไหน กรณีแพ้อาหาร เมื่อหยุดรับประทานอาหารที่แพ้ไปสักระยะ อาจหายขาดได้ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคโพรงจมูกอัก เสบจากภูมิแพ้และโรคหืด โอกาสหายขาดมีน้อย ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการรักษาควบคุมโรค และความรุนแรงของโรค
มีผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากโรคภูมิแพ้ไหม?
ผู้ป่วยที่เป็นโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือแพ้อากาศมีภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ นอนกรน ซึ่งรบกวนการนอนหลับ บางครั้งหยุดหายใจขณะนอนหลับได้ (โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ)
เมื่อเป็นโรคภูมิแพ้ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
สิ่งสำคัญในการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคภูมิแพ้ คือหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ การใช้ยาตามแพทย์แนะ นำสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายตามแพทย์แนะนำให้สม่ำเสมอ
ผู้ป่วย ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อมีอาการมากขึ้น หรือใช้ยาไม่ได้ผลดี ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุว่ามีอะไรแทรกซ้อนหรือไม่ และเพื่อปรับการรักษา
ป้องกันไม่ให้เป็นโรคภูมิแพ้ได้ไหม?
โรคนี้เกิดจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้น้อย ก็ป้องกันการเกิดโรคในกลุ่มเสี่ยง (ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้) ได้ นอกจากนี้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถป้องกันการเกิดการแพ้อาหารได้
ที่มา   https://haamor.com/th/โรคภูมิแพ้/

อัพเดทล่าสุด