8 โรคอันตรายที่มากับฤดูหนาว


1,171 ผู้ชม

เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว... นอกจากลมหนาวที่รอคอยแล้ว ยังมีสิ่งที่เราไม่ได้รอคอยแฝงมาด้วย สิ่งนั้นคือ "โรคอันตราย" ที่ต้องพึงระวัง ในช่วงที่อากาศเย็นเป็นเวลาที่เอื้อต่อการอยู่รอดและแพร่กระจายของไวรัส ทราบไหมว่าโรคอันตรายที่ว่า มีโรคอะไรกันบ้าง?


8 โรคอันตรายที่มากับฤดูหนาว

เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว... นอกจากลมหนาวที่รอคอยแล้ว ยังมีสิ่งที่เราไม่ได้รอคอยแฝงมาด้วย สิ่งนั้นคือ "โรคอันตราย" ที่ต้องพึงระวัง ในช่วงที่อากาศเย็นเป็นเวลาที่เอื้อต่อการอยู่รอดและแพร่กระจายของไวรัส ทราบไหมว่าโรคอันตรายที่ว่า มีโรคอะไรกันบ้าง? 
 
1. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
 

              ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน เชื้อต้นเหตุเป็นไวรัสที่ เรียกว่า อินฟลูเอ็นซาไวรัส (influenza virus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิดคือ influenza A และ B ส่วนไวรัส influenza อีกชนิดหนึ่งคือ influenza C มีความรุนแรงน้อยและไม่มีความสำคัญในการแพร่ระบาด จึงอาจไม่นับอยู่ในกลุ่มของโรคไข้หวัดใหญ่

              ความสำคัญของไข้หวัดใหญ่อยู่ที่การที่ไวรัสนี้มีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางได้บ่อย บางครั้งเป็นการแพร่ระบาดทั่วโลก (pandemic) การแพร่ระบาดมักเกิดในช่วงฤดูหนาว โดยทั่วไปทุกฤดูหนาวจะมีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นกว่าฤดูอื่นๆ ในแต่ละปีมีการประมาณว่า มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกสูงถึง 10-15% ของประชากรทั้งหมด
               การที่ไวรัสมีการแพร่ระบาดได้อย่างกว้างขวางนี้เนื่องจากลักษณะที่สำคัญของไวรัสชนิดนี้ที่มีการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมที่กระจายอยู่ในอาร์เอ็นเอระหว่างไวรัสด้วยกันที่เอื้อให้เกิดไวรัสลูกผสมที่มีความสามารถแตกต่างจากเดิม และเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะของโปรตีนสำคัญที่เป็นเป้าหมายในการโจมตีของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ง่าย เมื่อลักษณะของโปรตีนดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปก็ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ที่เคยติดเชื้อไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ ทำให้สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีก ดังนั้นเมื่อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงไปครั้งหนึ่งจึงมักมีการระบาดตามมาเพราะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่

              ปัจจุบัน มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยผู้ที่ควรรับวัคซีน ได้แก่ เด็กเล็ก คนชรา แพทย์ และพยาบาลโดยต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนทุกปี เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมทำให้มีไวรัสลูกผสมสายพันธุ์ใหม่และร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 


2. ไข้หวัด (Common cold)

              ไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการคล้ายๆ ไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ข้อแตกต่างก็คือไข้หวัดธรรมดามักมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม คันคอ เป็นอาการเด่น ไม่ค่อยมีอาการไข้ และปวดกล้ามเนื้อ

 ความสำคัญที่ต้องแยกไข้หวัดใหญ่ออกจากไข้หวัดธรรมดานั้น ไข้หวัดใหญ่มีภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยกว่า และโดยทั่วไปอาการรุนแรงและยาวนานกว่าไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดธรรมดามีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้น้อยมาก แต่ไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงชีวิตได้เช่นปอดบวม ดังนั้นหากแพทย์วินิจฉัยแแยกอาการไข้หวัดใหญ่ออกจากไข้หวัดธรรมดาได้ก็จะช่วยให้ดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้ดีขึ้น


              เชื้อหวัดเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ แบ่งเป็นกลุ่มไวรัสหลักๆ ประมาณ 9 ชนิด แต่ละชนิดยังแยกไปอีกนับสิบสายพันธุ์ รวมกันแล้วจึงมีเกิน 100 ชนิด เชื้อเหล่านี้ทำให้เกิดอาการของโรคต่างกันไป ขึ้นกับสายพันธ์และภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อ เช่น ไรโนไวรัส ( Rhinovirus)อาจทำให้เกิดหวัดธรรมดา คันจมูกน้ำมูกไหล ไอ จามในผู้ใหญ่ แต่เชื้อเดียวกันนี้อาจทำให้เป็นปอดอักเสบติดเชื้อ คือมีไข้ ไอหอบเหนื่อย และอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ในเด็กเล็กๆ เป็นต้น ไวรัสบางตัวก็ทำให้เป็นหวัดคัดจมูกธรรมดา อาจมีเจ็บคอ คออักเสบ หรืออาจมีหลอดลมอักเสบ ซึ่งจะมีอาการไอมากตลอดเวลา ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบด้วย ไวรัสบางชนิดเช่นเชื้อไข้หวัดใหญ่ อินฟลูเอนซ่าไวรัสบี (Influenza virus) อาจทำให้มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เพลียลุกไม่ไหว หรืออาจมีแค่เจ็บคอมีน้ำมูกเฉยๆ ก็ได้ แม้ว่าจะเป็นโรคที่หายเองใน 1 สัปดาห์ แต่เป็นโรคที่นำผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นไข้หวัด 6-12 ครั้งต่อปี ผู้ใหญ่จะเป็น 2-4 ครั้ง ผู้หญิงเป็นบ่อยกว่าผู้ชายเนื่องจากใกล้ชิดกับเด็ก สำหรับผู้สูงอายุอาจจะเป็นปีละครั้ง

              ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคหวัด เนื่องจากมีเชื้อไวรัสสาเหตุมีมากชนิด มีรายงานบางชิ้นระบุว่าวิตามินซีอาจช่วยป้องกันโรคหวัดได้ ในขณะที่ รายงานอีกหลายชิ้นระบุว่าวิตามินซีไม่สามารถป้องกันโรคหวัดได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สามารถทำได้คือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีคุณค่า เท่านี้ก็เพียงพอต่อการป้องกันไข้หวัด
 
3. โรคปอดบวม (Pneumonia)

โรคปอดบวมหมายถึงภาวะปอดซึ่งเกิดการอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ซึ่งในสภาวะที่ผิดปกติอาจเกิดจากเชื้อรา และพยาธิ เมื่อเป็นปอดบวม จะมีหนองและสารน้ำอย่างอื่นในถุงลม ทำให้ร่างกายไม่สามารถรับออกซิเจน ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน และอาจถึงแก่ชีวิตได้

              ปอดเป็นแหล่งที่ปราศจากเชื้อโรค อวัยวะที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจที่อยู่ต่ำกว่ากล่องเสียงจะเป็นที่ที่เราไม่พบเชื้อโรคอยู่เลย หากปอดบวมเกิดขึ้นได้ ก็แปลว่าเราอาจสูดหายใจเอาไวรัสผ่านเข้าไปจนกระทั่งถึงเนื้อปอด หรือแบคทีเรียที่อยู่ในลำคอร่วงหล่นลงไปทำให้เกิดอาการอักเสบในเนื้อปอด ส่วนปอดบวมที่เกิดจากการที่แบคทีเรียพลัดหลงเข้าไปในกระแสเลือด แล้วลอยไปติดอยู่ในเนื้อปอดแล้วทำให้เกิดอาการอักเสบก็พบได้บ้าง แต่น้อยมาก

              การที่บางคนไม่เป็นโรคปอดบวมก็เนื่องจากร่างกายของเราได้สร้างระบบป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ปอดไว้อย่างสลับซับซ้อน (ด่านกักและทำลายเชื้อโรค) ก่อนที่มันจะเข้าไปยังปอด เริ่มต้นด้วยประตูทางเข้าของทางเดินหายใจในจมูกมีขนเพื่อกรองเอาฝุ่นละออง เชื้อโรคไม่ให้พลัดหลงลงไปในทางเดินหายใจส่วนที่อยู่ลึกลงไป รอบ ๆ คอของเรามีต่อมน้ำเหลืองเรียงกันเป็นวง ทำหน้าที่เป็นป้อมยามคอยดักเอาเชื้อโรคไม่ให้รุกล้ำเข้าไป ต่อมกลุ่มนี้ที่เรารู้จักกันดีก็คือต่อมทอนซิล นอกจากนี้ เรายังมีลิ้นปิดเปิดกล่องเสียงอันเป็นทางผ่านของทางเดินหายใจโดยอัตโนมัติ หากว่าสิ่งแปลกปลอมยังหลงเข้าไปในหลอดลมได้อีก ร่างกายก็จะมีปฏิกิริยาไอ เพื่อขย้อนเอาสิ่งแปลกปลอมนั้นๆ ออกมานอกร่างกาย ทางเดินหายใจตั้งแต่ระดับใต้กล่องเสียงลงไปจนถึงหลอดลมขนาดเล็กยังบุด้วยเซลล์ที่มีขนกวัดไปตลอดระยะทาง เซลล์พิเศษนี้มีหน้าที่พัดเอาสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กออกมา

              นอกเหนือไปจากที่กล่าวมา เรายังมีทหารที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะคอยกำจัดเชื้อโรค ที่อาจจะพลัดหลงเข้าไปได้ สารจำพวกนี้เป็นโปรตีนในทางเดินหายใจส่วนบนเราจะพบ IgA อยู่หนาแน่นเป็นพิเศษ IgA มีหน้าที่ทำลายไวรัสที่จะพลัดหลงเข้าไป แล้วยังมี IgG ที่อยู่ในซีรั่มและอยู่ในทางเดินหายใจส่วนล่างทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่อาจจะเข้าไปในเนื้อปอด ทั้งนี้โดยอาศัยความช่วยเหลือจากเม็ดเลือดขาวบางตัว เมื่อพิจารณาจากระบบป้องกันของร่างกายทั้งหมดนี้แล้วจะเห็นได้ว่า โรคปอดบวมไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เลย ในคนที่ระบบป้องกันดังกล่าวสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง 
 
4. โรคหัด (Measles)

โรคนี้เป็นโรคของเด็กวัยก่อนเรียนและวัยเรียน ตั้งแต่อายุ 2 ถึง 12 ขวบ มักไม่พบในเด็กเล็กกว่า 8 เดือน เพราะมีภูมิคุ้มกันจากแม่ ติดต่อกันได้ง่ายมาก

จากการไอ จามรดกันโดยตรง หรือหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าไป โรคหัดมักเกิดระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวต่อกับฤดูร้อน หากชุมชนมีระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคหัด (herd immunity) สูงกว่าร้อยละ 94 ก็อาจป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้

 โรคหัด เป็นโรคติดต่อเกิดจากเชื้อไวรัสที่เรียกว่ารูบีโอราไวรัส (rubeola virus) เป็นอาร์เอ็นเอไวรัสที่พบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย อาการของโรคหัดคล้ายคลึงกับอาการของหวัดธรรมดา คือ มีไข้ก่อนน้ำมูกไหล มักจะไอแห้งๆ ตลอดเวลา ไม่มีทางทราบเลยว่าเด็กเป็นหัดแล้ว จนเมื่ออาการเพิ่มขึ้นมีไข้สูง ตาแดงก่ำและแฉะ เวลาโดนแสงจะแสบตา ระคายตา ทำตาหยี ไอและมีน้ำมูกมาก ปากและจมูกแดงไปหมด นอกจากที่กล่าวมาแล้ว เด็กอาจจะมีไข้สูงประมาณ 3 –4 วัน จึงเริ่มมีผื่นจากหลังหูลามไปยังหน้าและร่างกาย ผื่นจะมีขนาดโตขึ้นและสีจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าสังเกตจะพบว่าก่อนวันที่เด็กจะมีผื่นออกตามลำตัวจะมีตุ่มเล็กๆ ในปากตรงฟันกรามบน ซึ่งเป็นตุ่มเกิดขึ้นเฉพาะโรคหัดเท่านั้น พอผื่นออกได้ประมาณ 1-2 วัน เด็กก็จะมีอาการดีขึ้น

ปัจจุบัน โรคนี้มีวัคซีนป้องกัน เป็นวัคซีนรวม หัด หัดเยอรมัน และคางทูม ซึ่งเด็กทุกคนควรไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัด ตามช่วงอายุที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด


5. โรคหัดเยอรมัน (Rubella)
  

              แพทย์ชาวเยอรมันเป็นผู้อธิบายว่า โรคนี้เป็นโรคใหม่ที่ต่างจากหัดเป็นคนแรก จึงเรียกโรคนี้ว่า หัดเยอรมัน  ส่วนในบ้านเรามีชื่อเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เหือด โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง ถ้าเป็นกับเด็กหรือผู้ใหญ่ทั่วไปมักจะหายได้เอง โดยไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง

              โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า  รูเบลลาไวรัส (Rubella virus) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ติดต่อโดยการ ไอ จาม หรือ หายใจรดกัน เช่นเดียวกับไข้หวัด หรือหัด โดยมีระยะฟักตัวในร่างกาย 14-21 วัน


              หัดเยอรมันเป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีอาการไข้ และออกผื่นคล้ายหัด แต่มีความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนน้อยกว่าหัด ลักษณะสำคัญคือ "ผื่น" ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะ คือ เป็นเม็ดละเอียดสีแดง มองเห็นเป็นปื้นๆ หรือจุดๆ กระจัดกระจาย เริ่มต้นขึ้นที่ใบหน้าก่อน จากนั้นจะลุกลามแผ่กระจายลงมาตามหน้าอก ลำตัว แขนขา จนกระทั่งทั่วร่างกายอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น และจะหายไปภายใน 3 วัน ไร้ร่องรอยเหมือนไม่เคยมีมาก่อน ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งสังเกตพบได้ คือต่อมน้ำเหลืองบริเวณหลังหูโต ซึ่งมักเกิดขึ้นมาก่อนมีผื่นประมาณหนึ่งอาทิตย์ แต่จะคงอยู่ต่อไปอีก ภายหลังผื่นหายไปแล้วประมาณ 2 อาทิตย์

ในสตรี อาจมีอาการปวดตามข้อเล็กๆ ร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นหลายๆ ข้อพร้อมกันระยะเวลาที่ปวดอาจจะเป็นวันจนถึง 2 สัปดาห์ แต่มักไม่เกินหนึ่งเดือน

              อย่างไรก็ตาม หัดเยอรมันจัดเป็นโรคอันตรายต่อทารกในครรภ์มารดา หากไวรัสหัดเยอรมันเกิดขึ้นในมารดาขณะตั้งครรภ์ต่ำกว่า 3 เดือนแล้ว ทารกน้อยมีโอกาสพิการสูง และความพิการที่เกิดขึ้นรุนแรง ทารกที่เกิดมาจะตาบอด, หูหนวก, หัวใจพิการ และที่สำคัญคือ สมองพิการ ปัญญาอ่อน ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ หาก เด็กเหล่านี้คลอดออกมาแล้วไม่ตาย แต่ยังมีชีวิตอยู่ จะเป็นภาระสำหรับบิดา-มารดา เป็นเวลานานนับสิบปี-ยี่สิบปี จากนั้นจึงจะเสียชีวิตไป

การป้องกันโรคนี้ ถือว่าทำได้ง่ายเพียงแต่ฉีดวัคซีนให้กับทุกคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันหัดเยอรมันเท่านั้น และหากบังเอิญสตรีคนใดไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ในขณะตั้งครรภ์ ก็ไม่ต้องวิตกกังวลเพราะเท่าที่มีรายงานในโลกนี้ ไม่มีทารกรายใดเลยที่พิการด้วยวัคซีนนี้
 
 6. โรคไข้สุกใส (Chickenpox/Varicella)

โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลาไวรัส (Varicella virus) หรือ Human herpesvirus type 3 เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด ติดต่อโดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือสัมผัสถูกของใช้ (เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน) ที่เปื้อนตุ่มน้ำของคนที่เป็นสุกใสหรืองูสวัด หรือสูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำ ผ่านเข้าทางเยื่อเมือก ระยะฟักตัวในร่างกาย 10-20 วัน

โรคสุกใสเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน ในผู้ใหญ่อาจพบได้บ้าง ซึ่งมักเป็นคนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน แล้วมักมีอาการและภาวะแทรกซ้อนมากกว่าที่พบในเด็ก พบระบาดในตอนปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน (มกราคมถึงเมษายน) เช่นเดียวกับหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี

              อาการของโรคมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหารเล็กน้อย ในผู้ใหญ่มักมีไข้สูง และปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน ผู้ป่วยจะมีผื่นซึ่งจะขึ้นพร้อม ๆ กันกับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วัน หลังจากมีไข้ เริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใส ๆ อยู่ข้างใน และมีอาการคัน ต่อมาจะกลายเป็นหนอง หลังจากนั้น 2-4 วัน ก็จะตกสะเก็ด ผื่นและตุ่มจะขึ้นตามไรผมก่อน แล้วลามไปตามหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง ทยอยขึ้นเต็มที่ภายใน 4 วัน บางคนมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย เจ็บคอ บางคนอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้นทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเริมได้ เนื่องจากผื่นตุ่มของโรคนี้จะค่อย ๆ ออกทีละระลอก (ชุด) ขึ้นไม่พร้อมกันทั่วร่างกาย ดังนั้นจึงพบว่า บางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางที่เป็นตุ่มใส บางที่เป็นตุ่มกลัดหนอง และบางที่เริ่มตกสะเก็ด ด้วยลักษณะนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า อีสุกอีใส (มีทั้งตุ่มสุกตุ่มใส) และเปลี่ยนเป็นโรคสุกใสในปัจจุบัน

ปัจจุบันมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคสุกใสมีใช้แล้ว แต่ราคาค่อนข้างแพง ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคนี้สูง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ดูแลเด็กในสถานเลี้ยงเด็ก ครูอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษา เป็นต้น อาจรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้ได้
 
7. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Gastroenteritis) 
               
โรคนี้ เป็นโรคที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญและยืนยันถึงภัยอันตราย เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตของเด็กยังมีอัตราที่สูง โดยคร่าชีวิตเด็กทั่วโลกปีละสามหมื่นถึงห้าหมื่นคน เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน คือโรตาไวรัส (Rota virus)

              มักพบในเด็ก เชื้อโรคนี้ทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรง และมักมีอาการไข้ และอาเจียน บางรายที่เสียน้ำมากอาจช็อค และเสียชีวิต เป็นเชื้อต้นเหตุของลำไส้อักเสบรุนแรงในเด็กอ่อน และเด็กที่มีอายุ 1–3 ขวบ ช่วงที่โรตาไวรัสระบาดมากที่สุดคือช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนตุลาคม–กุมภาพันธ์ ของทุกปี เชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายทางปาก และลงไปที่กระเพาะอาหาร และแบ่งตัวที่ลำไส้ เด็กที่ติดเชื้อ นอกจากสูญเสียน้ำ แล้วยังสูญเสียสารสำคัญที่ช่วยลำไส้ดูดซึมอาหาร

              ปัจจุบัน ยังไม่มียาหรือวิธีการใดที่สามารถกำจัดการติดเชื้อหรือการติดต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ การล้างมือด้วยสบู่ หรือน้ำยาทำความสะอาด ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีระบบสุขอนามัยที่ดี มีระบบน้ำประปาที่สะอาด ก็ยังไม่สามารถลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคตัวนี้ได้

              ดร.รูธ บิชอป ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ และยังเป็นผู้ค้นพบโรตาไวรัสเป็นครั้งแรกของโรค กล่าวว่า “โรตาไวรัส เป็นเชื้อที่เต็มไปด้วยปริศนา และยังไม่ทราบว่าทำไมบางคนได้รับเชื้อตัวนี้ แต่มีอาการไม่รุนแรง แต่บางคนมีอาการรุนแรง บางทีพันธุกรรมของมนุษย์ก็มีส่วน"

              เมื่อเป็นโรค แพทย์จะรักษาแบบประคับประคอง คือให้ยาตามอาการ เช่นให้ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้ไข้ และน้ำเกลือแร่ทดแทนการสูญเสียเกลือแร่จากการถ่ายและอาเจียน หากร่างกายมีภาวะเครียด แพทย์จะรักษาให้ความดันลดลง

ในปีพ.ศ.2541 ผู้ผลิตยารายหนึ่งผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อโรตาไวรัสสำเร็จ หลังจากผ่านการทดสอบแล้วว่ามีผลป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาจึงอนุมัติให้จำหน่ายในท้องตลาดได้ แต่วัคซีนดังกล่าวต้องถูกถอนออกจากตลาด หลังจากพบว่า ส่งผลให้เกิดอาการลำไส้กลืนกัน แม้ว่าอัตราส่วนของเด็กที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวจะมีน้อยมากก็ตาม
 
8. โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza)

              เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (Influenza A) สายพันธุ์ H5N1 เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีกที่มักมีการเรียกขานว่า ไข้หวัดนก สัตว์ปีกทุกชนิดรับเชื้อนี้ได้ ไก่มักป่วยรุนแรงและตาย ส่วนนกน้ำ นกชายทะเล นกป่า และเป็ดมักไม่ป่วย แต่เป็นพาหะ คือมีเชื้อออกมากับมูล ทำให้โรคแพร่มายังไก่ที่เลี้ยงในฟาร์มและตามบ้านเรือน รวมทั้งนกในธรรมชาติ


              โดยปกติ ไวรัสไข้หวัดที่ระบาดในนกไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เพราะไม่สามารถแทรกผ่านและเติบโตในเซลล์ของมนุษย์ได้ ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าไวรัสในสัตว์จะผสมกับไวรัสไข้หวัดในนกได้เมื่อไวรัสทั้งสองอยู่ในสัตว์ตัวเดียวกัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เห็นว่าหมูเป็นแหล่งเพาะเชื้อที่เป็นไปได้มากที่สุด เพราะเซลล์ของหมูมีโมเลกุลผิวที่เปิดรับไวรัสได้ทั้งสองประเภท สมมติว่าหมูได้รับไวรัสจากเกษตรกรและจากเป็ดในฟาร์มเดียวกัน ไวรัสทั้งสองอาจ “แลกเปลี่ยนข้อมูล” และผลิตไวรัสลูกผสมที่มียีนไวรัสไข้หวัดนกและมีคุณสมบัติในการแพร่เข้าสู่เซลล์มนุษย์ ซึ่งเป็นไวรัสหน้าใหม่ที่ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ไม่รู้จัก และอันตรายกว่าปกติ

              เมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 เด็กชายวัย 3 ขวบ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในฮ่องกง ด้วยอาการไอและมีไข้ ผู้ป่วยอาการทรุดหนักอย่างรวดเร็ว และมีปัญหาในการหายใจ แม้จะได้รับยาปฏิชีวนะจำนวนมาก และใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่เด็กชายกลับเสียชีวิตลงภายใน 6 วัน ผู้เชี่ยวชาญโรคหวัดต่างประหลาดใจ เมื่อตรวจพบเชื้อไวรัส H5N1 ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่ระบาดในไก่อยู่ในเมือกที่หลอดลมของเด็กชาย นับเป็นกรณีแรกที่มีรายงานว่าคนติดเชื้อจากสัตว์ปีกได้ จนกระทั่งปลายปีเดียวกัน คนไข้ 17 คน เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของฮ่องกง ด้วยอาการใกล้เคียงกับเด็กชายที่เสียชีวิตเมื่อต้นปี เมื่อสืบสาวเรื่องราวการระบาดของโรค หลายฝ่ายต่างมุ่งไปที่เป็ด ห่าน และไก่หลายร้อยล้านตัวที่นำกองทัพไวรัสจากสาธารณประชาชนจีนเข้ามายังฮ่องกง ก่อนจะแพร่ระบาดไปยังประเทศอื่นๆ ร่วมครึ่งทวีปเอเชีย และมีผลให้มีการฆ่าสัตว์ปีกจำนวนมหาศาลในปีพ.ศ.2546 และเชื้อไวรัสชนิดนี้เริ่มจู่โจมมนุษย์อีกครั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2548 รายงาน ณ เดือนสิงหาคมระบุว่า มียอดผู้เสียชีวิตในเวียดนาม 40 ราย ไทย 12 ราย กัมพูชา 4 ราย

              นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่า ไวรัสชนิดนี้อาจพัฒนาความสามารถในการแพร่กระจายได้เองโดยการกลายพันธุ์ หรือการแลกเปลี่ยนยีนกับไวรัสไข้หวัดในคน ซึ่งเป็นกระบวนการที่อาจเกิดขึ้นในร่างกายของผู้ป่วยที่ได้รับทั้งเชื้อไข้หวัดนกและไข้หวัดธรรมดาพร้อมๆ กัน แต่ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดเกี่ยวกับกระบวนการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมดังกล่าว

              เชื้อไวรัส H5N1 เป็นไวรัสที่น่าสะพรึงกลัว เพราะนักวิทยาศาสตร์มีข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ไม่มาก เริ่มจากกระบวนการสังหาร หากไก่ติดเชื้อ ไวรัสจะแพร่ทั้งตัว ทั้งตับไตไส้พุง ปอด สมอง และกล้ามเนื้อ แต่หากเป็นคน พบว่าส่วนใหญ่ ไวรัสจะโจมตีปอดเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตาม ในเวียดนามตรวจพบเด็กชายติดเชื้อ H5N1 ที่มีอาการหนักจากสมองอักเสบและเสียชีวิตในที่สุด แต่ปอดกลับอยู่ในสภาพปกติดี

ในประเทศไทยมีกรณีที่ที่เชื้อไวรัส H5N1 จากเด็กหญิงที่ป่วยด้วยไข้หวัดนกอาจแพร่ไปสู่แม่และป้าที่เฝ้าพยาบาล แต่ดูเหมือนไวรัสชนิดนี้จะทำได้แค่การแพร่เชื้อจากผู้ป่วยโดยตรงเท่านั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่รายงานการแพร่เชื้อแบบต่อเนื่อง หรือการแพร่ระบาดแบบปฏิกิริยาลูกโซ่อย่างที่พบในไวรัสไข้หวัด

              ยาต้านไวรัสที่ใช้ได้ผลดีกับการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ในคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้ภายใน 48 ชั่วโมงคือยาที่มีชื่อทางการค้าว่า ทามิฟลู (Tamiflu)” ของบริษัทโรช แห่งสวิตเซอร์แลนด์ องค์การเภสัชกรรมของไทยได้ซื้อวัตถุดิบสารตั้งต้นเพื่อผลิตยานี้จากอินเดีย โดยเป็นวัตถุดิบชนิดเดียวกับที่บริษัทโรชใช้ผลิตยาทามิฟลู และบริษัทผู้ขายได้ทดลองผลิตยาในห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันคุณภาพของวัตถุดิบให้องค์การเภสัชกรรมตรวจแล้ว พบว่ามีการละลายและกระจายตัวดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้ดี ทางอินเดียจะส่งวัตถุดิบเพื่อให้องค์การเภสัชกรรมผลิตเป็นยาในระดับห้องทดลองจำนวน 5 กิโลกรัม และจะส่งมาให้อีก 100 กิโลกรัม ในเดือนธันวาคมนี้ คาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 องค์การเภสัชกรรมจะสามารถผลิตได้ 1 ล้านแคปซูล

              ในประเทศไทยจากมติของคณะกรรมการยาล่าสุด กำหนดชัดเจนให้ยาทามิฟลูเป็นยาควบคุมพิเศษ ไม่อนุญาตให้วางขายตามร้านขายยาทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันกรณีที่มีผู้หาซื้อยามากินเองด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าป้องกันโรคไข้หวัดนกได้ ซึ่งตามความจริงแล้วยาทามิฟลูจะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อแพทย์ได้พิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยรายนั้นๆ สงสัยติดเชื้อไข้หวัดนกเท่านั้น นอกจากนี้อีกเหตุผลหนึ่งที่ทางการกำหนดให้ยาทามิฟลูเป็นยาควบคุมพิเศษ เพื่อเป็นการป้องปรามการพัฒนาของผู้ขายที่อาจนำไปสู่การผลิตยาปลอมได้

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศว่าวัคซีนต้านไวรัส H5N1 ที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนยีนที่อยู่ระหว่างทดสอบในมนุษย์ ให้ผลเบื้องต้นที่ส่อเค้าถึงความสำเร็จ ซึ่งหลายฝ่ายต่างเฝ้ารอคอยว่าวัคซีนจะผ่านกระบวนการทดสอบจนครบถ้วนกระบวนการ และพร้อมใช้ก่อนที่จะเกิดการระบาดจริง 
                                          
                   คำกล่าวที่ว่า “ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” นั้นเป็นความจริงที่สุด ทุกคนไม่มีใครอยากเจ็บป่วย  เพราะว่าเมื่อเจ็บป่วยแล้วจะอยู่ในภาวะที่ไม่สบายกายไม่สบายใจ ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยเท่านั้น  พ่อแม่พี่น้อง ก็พลอยทุกข์ทรมานด้วย และยังทำให้เสียเงินทอง  เสียเวลาในการรักษาการเจ็บป่วยนั้น  ให้กลับคืนสภาพปกติและมีสุขภาพดีให้เร็วที่สุด
เมื่อการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ รวมทั้ง 8 โรคอันตรายในฤดูหนาวนี้เป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา เราจึงควรหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยโดยการป้องกันโรค รวมทั้งป้องกันไม่ให้การเจ็บป่วยนั้นรุนแรงมากขึ้นในกรณีที่เป็นโรคแล้ว ทั้งยังควรป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำในกรณีที่หายจากโรคแล้ว

ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/37283

อัพเดทล่าสุด