โคเลสเตอรอลก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ มีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงอยู่นานอย่างไรก็ตามประโยชน์ของโคเลสเตอรอลนอก จากเป็นสารที่ให้พลังงานแล้วร่างกายยังนำมาใช้ในการสังเคราะห์ฮอร์โมน บางอย่างด้วย
โคเลสเตอรอล เป็นสารไขมันชนิดหนึ่งคล้ายขี้ผึ้ง ปรากฏอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกาย ทำหน้าที่สำคัญหลายชนิดภายในร่างกาย
โคเลสเตอรอลก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงอยู่นานอย่างไรก็ตามประโยชน์ของโคเลสเตอรอลนอกจากเป็นสารที่ให้พลังงานแล้วร่างกายยังนำมาใช้ในการสังเคราะห์ฮอร์โมนบางอย่างด้วย
หน้าที่ของโคเลสเตอรอล โคเลสเตอรอลมีหน้าที่สำคัญต่อร่างกาย 3 ประการคือ
- เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์
- เป็นต้นกำเนิดของกรดน้ำดี
- เป็นต้นกำเนิดของฮอร์โมนสเตียรอยด์
โคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ จากการศึกษาพบว่าโคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบมากถึง 20-25% และเป็นลักษณะเฉพาะของเยื่อหุ้มเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในเซลล์พืชพบโคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์น้อยมาก และไม่พบโคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเลยแม้แต่น้อย นักชีวเคมีอธิบายว่าทั้งนี้เนื่องมาจากโครงสร้างที่เป็นวงแหวนชนิดม้วนวนของโคเลสเตอรอล ซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนย้ายของสารเหลวที่ผ่านเข้าและออกจากเซลล์ ในร่างกายของมนุษย์ พบโคเลสเตอรอลมากที่สุดในอวัยวะ 3 ชนิด คือ สมอง ไขสันหลัง และตับ
โคเลสเตอรอลเป็นต้นกำเนิดของกรดน้ำดี (bile acids) ซึ่งจำเป็นต่อการดูดซึมของไขมันและวิตามินที่ละลายในไขมันจากลำไส้เล็ก ร่างกายขับโคเลสเตอรอลออกจากร่างกายในรูปของกรดน้ำดี ตับเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่สร้างกรดน้ำดี บางครั้งเกิดการตกผลึกเป็นตะกอนภายในถุงน้ำดี เกิดเป็นก้อนนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิ่วโคเลสเตอรอล แตกต่างจากนิ่วในใตและระบบทางเดินปัสสาวะ
โคเลสเตอรอลถือเป็นต้นกำเนิดของฮอร์โมนสเตียรอยด์ (steroid hormone) หลายชนิด เช่น คอร์ติซอล คอร์ติโซน อัลโดสเตอโรน จากต่อมหมวกไต ฮอร์โมนเพศทั้งหลายอันได้แก่โปรเจสเตอโรน เอสโตรเจน และแอนโดรเจน นอกจากนี้ยังเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์วิตามินดีชนิด D3
แหล่งให้โคเลสเตอรอลของร่างกายมนุษย์ โคเลสเตอรอลภายในร่างกายได้มาจาก 2 ทาง คือจากอาหารและโคเลสเตอรอลที่ร่างกายสร้างขึ้น หลักสำคัญคือเฉพาะอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้นถึงให้โคเลสเตอรอลโดยมีปริมาณมากน้อยแตกต่างกัน ส่วนอาหารที่มาจากพืชไม่มีโคเลสเตอรอล
อาหารที่มาจากพืชทุกชนิดจะไม่มีโคเลสเตอรอล โคเลสเตอรอลมาจากสัตว์เท่านั้น บางคนเข้าใจผิดว่าทุเรียน ขนุน มะพร้าว เป็นพืชที่มีโคเลสเตอรอลสูง ทุเรียน ขนุน มะพร้าว เป็นพืชจึงไม่มีโคเลสเตอรอล แต่อย่างไรก็ตาม ทุเรียน และขนุน เป็นผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ถ้ารับประทานมากๆ จะทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง ส่วนกะทิที่ได้จากมะพร้าว แม้ว่าไม่มีโคเลสเตอรอล แต่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงซึ่งควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน
น้ำมันถั่วเหลืองเป็นน้ำมันที่สกัดมาจากถั่วเหลืองซึ่งเป็นพืช จึงไม่มีโคเลสเตอรอลเลย และน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ ก็ไม่มีโคเลสเตอรอลเช่นเดียวกัน แต่จะมีปริมาณและชนิดของกรดไขมันแตกต่างกัน ส่วนอาหารเจเป็นอาหารที่ทำมาจากพืชเท่านั้น จึงไม่มีโคเลสเตอรอล ช่วยลดโคเลสเตอรอลได้ แต่ถ้าเป็นอาหารเจที่มันจัด และมีแป้งมาก อาจทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้นได้ ดังนั้นอาหารเจที่ดีควรใช้ไขมันไม่อิ่มตัวปรุง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว และพลังงานจากไขมันที่ได้รับจากอาหารทั้งวัน ไม่ควรเกินร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมด อาหารชนิดเดียวกัน ไม่ว่าจะทำให้สุกหรือเป็นอาหารดิบจะให้ปริมาณโคเลสเตอรอลเท่ากัน โดยทั่วไปอาหารดิบ 100 กรัม เมื่อทำให้สุกน้ำหนักมักลดลงไป เนื่องจากสูญเสียน้ำไปบางส่วน ทำให้น้ำหนักเหลือไม่ถึง 100 กรัม แต่ปริมาณโคเลสเตอรอลยังคงเท่าเดิม
ประมาณสี่ในห้าหรือ 80% ของโคเลสเตอรอลทั้งหมดถูกสร้างขึ้นเองภายในร่างกาย ร่างกายสามารถสังเคราะห์โคเลสเตอรอลได้จากกรดอะซิติก (acetic acid) และอะซิติลโคเอ็นซัยม์เอ (acteyl coenzyme A) ซึ่งได้จากการเผาผลาญสารอาหารคาร์โบไฮเดรต ไขมัน หรือโปรตีน ภายในร่างกาย การสังเคราะห์โคเลสเตอรอลจากอะซิติลโคเอ็นซัยม์เอต้องผ่านปฎิกิริยาที่สำคัญ 7 ขั้นตอน อวัยวะที่ทำหน้าที่สร้างโคเลสเตอรอลมากคือ ตับ ลำไส้เล็ก ต่อมหมวกไต และอวัยวะสืบพันธุ์ คือ รังไข่ อัณฑะ และรก
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=845&sub_id=13&ref_main_id=3