รักษาอาการผมร่วงจากโรคเอสแอลอี


7,204 ผู้ชม


รักษาอาการผมร่วงจากโรคเอสแอลอี ผมร่วงกับโรคเอสแอลอี การบำบัดรักษาโรคเอสแอลอี

เอสแอลอี - โรคภูมิแพ้ต่อตัวเอง


ข้อน่ารู้

1. เอสแอลอี ชื่อโรคประหลาดนี้เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษจากคำว่า SLE ซึ่งย่อมาจาก “Systemic lupuserythematosus” (ซิสเตมิก-ลูปัส-อีริทีมาโตซัส) เนื่องจากชื่อเต็มนี้ยาวและเรียกยาก ฝรั่งจึงนิยมเรียกว่า SLE แทน ไทยเรายังหาคำที่เหมาะๆไม่ได้ จึงเรียกทับศัพท์ว่า เอสแอลอี ซึ่งเป็นคำที่คุ้นกันในหมู่หมอของเรามานานแล้วแต่อาจยังไม่คุ้นสำหรับชาว บ้านทั่วไป

2. โรคเอสแอลอี เป็นโรคที่มีการอักเสบของอวัยวะหลายระบบภายในร่างกายพร้อมกัน เช่น ผิวหนัง ข้อต่อกระดูก ไต ปอด หัวใจ เลือด สมอง เป็นต้น การอักเสบที่ว่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับการติดเอาเชื้อโรคอะไรเข้าไป กล่าวคือ ไม่ได้เป็นโรคติดเชื้อ จึงไม่ติดต่อหรือแพร่ระบาดให้คนอื่น แต่เกิดจากร่างกายสร้างภูมิต้านทานหรืออิมมูน (immune) ขึ้นมาต่อต้านเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายของตัวเอง โดยปกติทั่วไป ภูมิต้านทานหรืออิมมูนนี้ จะสร้างต่อเมื่อมีสิ่งแปลกปลอม (เช่น เชื้อโรค สารเคมี) เข้าไปในร่างกาย เพื่อต่อต้านมิให้มันทำอันตรายต่อร่างกาย เปรียบเหมือนยามรักษาความปลอดภัยมิให้ผู้ร้ายบุกรุกเข้ามาในบ้าน ภูมิต้านทานจึงเป็นสิ่งที่คุ้มกันภัยให้ร่างกายคนเรา 

แต่คนบางคน มีการสร้างภูมิต้านทานที่ผิดปกติขึ้นต่อต้านเนื้อเยื่อของตัวเอง เปรียบเหมือนยามรักษาการณ์ที่จำคนในบ้านไม่ได้ ทึกทักหาว่าเป็นผู้ร้าย จึงเข้าทำร้าย ภูมิต้านทานที่ผิดปกตินี้จะทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ เกิดการอักเสบ เกิดอาการไม่สบายต่างๆ พร้อมกันหลายอย่างการสร้างภูมิต้านทานต่อตัวเองแบบนี้ ภาษาหมอเรียกว่า “โรคภูมิแพ้ต่อตัวเอง” หรือออโตอิมมูน (autoimmune)

3. สาเหตุที่ทำให้คนพวกนี้มีการสร้างภูมิต้านทานต่อตัวเองยังไม่เป็นที่ทราบกัน แน่ชัด จึงกล่าวได้ว่า เอสแอลอีเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ ปริศนานี้ทำให้เราไม่อาจพยากรณ์ว่าใครบ้างที่จะเป็นเหยื่อของโรคนี้ หรือจะหาทางป้องกันตัวเราเองไม่ให้เป็นโรคนี้ได้อย่างไร แต่สำหรับคนที่เป็นโรคเอสแอลอีอยู่แล้ว พบว่า อาจมีสาเหตุกระตุ้นให้อาการกำเริบ เช่น ยาบางชนิด การถูกแดด การตั้งครรภ์ การกระทบกระเทือนทางจิตใจ (ความเครียด) การเป็นโรคติดเชื้อนำมาก่อน เป็นต้น

4. โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะเป็นเรื้อรัง ต้องคอยรักษาเป็น 5-10 ปี หรือตลอดชีวิต อาจมีความรุนแรงแตกต่างกันไป บางคนเป็นไม่มาก ก็อาจหายขาดได้ แต่บางคนอาจเป็นมาก เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ไตอักเสบ ปอดอักเสบ หัวใจอักเสบ สมองอักเสบ ไตวาย หัวใจวาย ซึ่งอาจทำให้พิการหรืออายุสั้นได้

5. โรคนี้พบได้ประปรายในหมู่คนไทย ก็อาจเป็นในเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ได้ พบมากในช่วงอายุ 20-45 ปี และจะเป็นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 10 เท่า (เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มโรคออโตอิมมูน เช่น โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์ , โรคคอพอกเป็นพิษ มักจะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเสมอ)


รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

เนื่อง จากเอสแอลอีจะมีการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ จึงมักมีอาการได้ต่างๆนานา ที่พบบ่อยคือ เป็นไข้ (ตัวร้อน) , ปวดตามข้อนิ้วมือนิ้วเท้าทั้ง 2 ข้าง (ทุกข้อ) , ผมร่วง อาการเหล่านี้มักจะเป็นติดต่อกันเป็นแรมเดือน นอกจากนี้คนไข้ยังมักจะมีผื่นหรือฝ้าแดงๆ ขึ้นที่โหนกแก้มทั้ง 2 ข้าง ทำให้มีลักษณะเหมือนปีกผีเสื้อ เรียกว่า ผื่นปีกผีเสื้อ (butterfly rash) จะเห็นชัดเมื่อถูกแดด

นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีจุดแดง (เท่าปลายเข็มหมุด) ขึ้นตามผิวหนัง เมื่อเป็นลมพิษเรื้อรัง ซีดเหลือง ชาปลายมือปลายเท้า เป็นต้น ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการบวมทั้งตัว (จากไตอักเสบ) , หายใจหอบ (จากปอดอักเสบ หรือหัวใจวาย) ชีพจรเต้นเร็วหรือไม่สม่ำเสมอ (จากหัวใจอักเสบ) หรือมีอาการทางสมอง (จากสมองอักเสบ) เช่น เสียสติ เพ้อ ซึม ประสาทหลอน แขนขาอ่อนแรง ตาเหล่ ชัก หมดสติ เป็นต้น อาการอันหลากหลายเหล่านี้ ทำให้ยากแก่การแยกแยะจากโรคอื่นๆมากมาย อาทิเช่น อาการตัวร้อนนานเป็นเดือน อาจเกิดสาเหตุอื่น เช่น วัณโรค ไข้มาลาเรีย มะเร็ง โรคติดเชื้อร้ายแรง เป็นต้น อาการปวดข้อนิ้วมือนิ้วเท้า อาจมีสาเหตุจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) ก็ได้ อาการบวม อาจมีสาเหตุจากโรคไตโดยตรงก็ได้ อาการจุดแดงขึ้นตามผิวหนัง อาจเกิดจากโรคเลือดก็ได้ เหล่านี้เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอาการเจ็บป่วยเหล่านี้จะเกิดจากโรคเอสแอลอีหรือโรคอื่นๆ ก็ล้วนแต่จะต้องหาหมอทั้งสิ้น

เมื่อไรควรไปหาหมอ

เมื่อ มีอาการไม่สบายที่ชวนให้สงสัยว่าเป็นโรคเอสแอลอี เช่น ไข้เรื้อรัง ปวดข้อนิ้วมือนิ้วเท้าเรื้อรัง ผมร่วงผิดสังเกต มีจุดแดงขึ้นตามผิวหนัง ควรไปหาหมอโดยเร็ว

แพทย์จะทำอะไรให้

นอก จากการซักถามอาการและตรวจร่างกายอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วแพทย์จะทำการตรวจ เลือด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสิ่งที่เรียกว่า “เซลล์แอลอี” จะช่วยยืนยันว่าเป็นโรคนี้) ตรวจปัสสาวะ (ดูว่ามีไตอักเสบร่วมด้วยหรือไม่) และอาจตรวจเอกซเรย์ ตรวจคลื่นหัวใจ หรือตรวจพิเศษอื่นๆ การรักษา ถ้าเป็นรุนแรงจะต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล ในรายที่เป็นไม่รุนแรง แพทย์จะให้กินยาลดการอักเสบ ได้แก่ ยาสตีรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน) ทุกวัน เริ่มแรกอาจให้กินขนาดสูงแล้วค่อยๆลดลงจนเหลือวันละ 1-2 เม็ด ซึ่งอาจต้องกินติดต่อกันไปเป็นแรมปี จนกว่าจะแน่ใจว่าโรคทุเลาลงแล้ว

ยา นี้อาจทำให้หน้าอูม บวมฉุ สิวขึ้นขนอ่อนขึ้น หรือทำให้เป็นโรคกระเพาะ (อาจต้องกินยาลดกรดควบด้วย เพื่อป้องกันโรคนี้) ยานี้ถือว่าช่วยควบคุมโรคนี้ได้ดี และใช้ภายใต้การกำกับของแพทย์ ก็นับว่าใช้ได้ปลอดภัย หลังจากใช้ยา แพทย์จะต้องนัดคนไข้มาตรวจเป็นช่วงๆ เพื่อประเมินผลการรักษาและปรับขนาดของยา ผลการรักษาไม่แน่นอน ขึ้นกับความรุนแรงของโรค บางคนอาจมีโรคแทรกซ้อนร้ายแรง บางคนอาจมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว ถ้าคนไข้สามารถมีชีวิตรอดพ้นจากโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้เกิน 5 ปี โรคก็จะไม่กำเริบรุนแรง และจะค่อยๆ สงบไปได้ นานๆ ครั้งอาจมีอาการกำเริบ แต่มักจะไม่รุนแรง และคนไข้สามารถมีชีวิตเยี่ยงคนปกติได้

โดยสรุป เอสแอลอีเป็นโรคที่มีการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ เนื่องจากร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อของตัวเอง โดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน มีอาการได้ต่างๆ นานา ซึ่งมักเป็นเรื้อรังในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีโรคแทรกซ้อนร้ายแรงได้ คนไข้จะต้องกินยาและตรวจกับแพทย์ตามนัด และต้องหมั่นรักษาสุขภาพกายและจิตใจให้ดี

การดูแลรักษาตนเอง

หาก มีอาการเป็นไข้ ปวดข้อและผมร่วง (พร้อมกันทั้ง 3 อย่าง) หรือมีจุดแดงขึ้นตามผิวหนัง หรือบวมทั่วตัว หรือเหนื่อยหอบ หรือน้ำหนักลด หรืออ่อนเพลียผิดสังเกต หรือเป็นลมพิษเรื้อรัง ควรปรึกษาหมอโดยเร็ว

สำหรับคนที่แพทย์ตรวจพบว่า เป็นโรคเอสแอลอี ควรปฏิบัติตัวดังนี้

1. กินยา และตรวจรักษากับแพทย์เป็นประจำ อย่าได้ขาด อย่าเปลี่ยนหมอเปลี่ยนยา (ยาสมุนไพรยังไม่มีการพิสูจน์ว่าใช้ได้ผลต่อโรคนี้โดยตรง นอกจากผลทางด้านจิตใจ หากต้องซื้อหาด้วยราคาแพง ก็ไม่แนะนำให้ซื้อมาใช้)

2. อย่าตรากตรำทำงานหนัก

3. ทำจิตใจให้สบาย อย่าท้อแท้สิ้นหวัง หรือวิตกกังวล ด้วยการออกกำลังพอประมาณ ทำสมาธิ หรือสวดมนต์ภาวนา ยอมรับและเผชิญกับโรคอย่างรู้เท่าทัน

4. หลีกเลี่ยงการออกกลางแดด ถ้าจำเป็นต้องออกกลางแดด ควรกางร่ม สวมหมวก ใส่เสื้อแขนยาว

5. หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ เช่น อย่าเข้าไปในที่ๆมีคนแออัด หรือเข้าใกล้คนที่ไม่สบาย เพราะการติดเชื้ออาจทำให้โรคกำเริบได้

มารู้จัก โรค SLE กันเถอะ
โรค เอส แอล อี ที่แท้จริง คืออะไร ?
เอส แอล อี (SLE) ย่อมาจากคำว่า Systemic lupus erythematosusบางคนอาจรู้จักในคำว่า โรคลูปัส เป็นโรคในกลุ่ม ออโตอิมมูน (autoimmune disease) โรคหนึ่ง
โรคออโตอิมมูน คือโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ที่โดยปกติทำหน้าที่ต่อต้านและทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย ผ่านกลไกของเม็ดเลือดขาว, แอนติบอดี, การอักเสบ เป็นต้นแต่ สิ่งที่ผิดปกติคือ ร่างกายกลับให้ระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านเนื้อเยื่อและเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายตนเองในระบบอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งต่างจากคำว่า "โรคภูมิแพ้" (Allergy, atopy)ซึ่งหมายถึง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม ไวเกินกว่าปกติเป็นผลให้เกิดการอักเสบขึ้น เช่น แพ้อากาศ, หอบหืด เป็นต้น แต่ไม่มีการต่อต้านเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของตนเอง


อาการหรืออาการแสดงอะไร ชวนสงสัยโรค เอส แอล อี
โรค เอส แอล อี มีอาการและอาการแสดงได้หลายระบบ เช่นมีผื่น, ผมร่วง, ปวดข้อ, แผลในปาก, ซีด, บวม เป็นต้นสำหรับการวินิจฉัยโรคนี้ อาศัยเกณฑ์ของสมาคมโรคข้อแห่งสหรัฐอเมริกา (American Rheumatic Association)ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น เอส แอล อี เมื่อมีอาการหรืออาการแสดง อย่างน้อย 4 ข้อ จาก 11 ข้อต่อไปนี้


* ผื่นแดงที่ใบหน้า บริเวณโหนกแก้ม และสันจมูก ลักษณะคล้ายผีเสื้อ (Malar rash)* ผื่น Discoid* ข้ออักเสบชนิดหลายข้อ และมักเป็นทั้ง 2 ข้างเหมือน ๆ กัน (symmetrical polyarthritis)* แผลในปาก* อาการแพ้แสง* การอักเสบของเยื่อบุชนิด serous เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ, เยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ* อาการแสดงในระบบเลือด (เช่น ซึดจากเม็ดเลือดแดงแตก, เม็ดเลือดขาวต่ำ, เกล็ดเลือดต่ำ)* อาการแสดงในระบบประสาท (เช่น ชัก, ซึม ซึ่งอธิบายจากสาเหตุอื่นมิได้)* อาการแสดงในระบบไต (เช่น มีความผิดปกติของปัสสาวะ, มีโปรตีนในปัสสาวะ)* การตรวจเลือดหา Antinuclear antibody ให้ผลบวก* การตรวจเลือดหา Anti-DNA, LE cell, Anti-Sm ได้ผลบวกหรือได้ผลบวกลวงของ VDRL อย่างใดอย่างหนึ่ง


เห็น ได้ว่า การวินิจฉัยโรค เอส แอล อี นั้นไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไปนัก และเป็นข้อตระหนักให้ได้ทราบว่า โรคนี้มีการแสดงออกได้ในหลายระบบแต่ละระบบ อาจมีความรุนแรงน้อยมาก ไม่มีอาการ จนถึงความรุนแรงมากถึงชีวิตได้ทำอย่างไร ถ้าเราเป็น เอส แอล อี


แม้ ว่าในปัจจุบัน จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ของโรค เอส แอล อี แต่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วย เอส แอล อี สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ เช่นเดียวกับคนทั่วไปโดยมีสุขภาพร่างกาย แข็งแรงเหมือนปกติ ยาที่นำมาใช้ในการรักษา เอส แอล อี ที่สำคัญมี 2 ชนิดได้แก่


ยา สเตอรอยด์ เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มิให้ทำการต่อต้านเนื้อเยื่อต่าง ๆ และลดการอักเสบอันเป็นผลจากระบบภูมิคุ้มกันได้ยานี้สามารถทำให้โรค เอส แอล อี สงบได้อย่างรวดเร็ว และได้ผลดี แต่ข้อเสียคือ ผลข้างเคียงมหาศาล ได้แก่ อ้วนขึ้น, หน้ากลม, ผิวหนังบางและแตกง่าย, กระดูกผุ,กระเพาะอาหารอักเสบและแผลในกระเพาะอาหาร, เบาหวาน, เสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย ยานี้จึงใช้ในระยะสั้น ๆเพื่อควบคุมโรคให้เข้าสู่ภาวะสงบและลดขนาดยาให้เหลือน้อยที่สุด เท่าที่จำเป็นเท่านั้น


ยา อีกประเภทหนึ่ง ได้แก่ ยาที่ออกฤทธิ์ช้า แต่มีฤทธิ์ควบคุมและเปลี่ยนแปลงการดำเนินโรคได้ (Disease Modifying Antirheumatic Drugs - DMARD)มีคุณสมบัติทำให้โรคเข้าสู่ภาวะสงบได้ ยาออกฤทธิ์ช้า แต่ออกฤทธิ์ได้นาน ยามีผลข้างเคียงน้อยกว่า และไม่รุนแรงเท่า สามารถใช้ยาได้เป็นเวลานานโดยเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่น้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับ สเตอรอยด์ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ คลอโรควิน, ฮัยดรอกซี่คลอโรควิน, อนุพันธ์ของทอง, ยา methotrexate เป็นต้น


ส่วน สำคัญอีกอย่างที่ไม่แพ้การใช้ยา ได้แก่ การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ซึ่งมีความจำเป็น เพราะโรคนี้เป็นเรื้อรัง และยังไม่มียาที่ใช้รักษาได้หายขาดจริง ๆการรักษาต่อเนื่อง และติดตามการรักษาสม่ำเสมอ จึงมีความสำคัญยิ่งยวด ต่อผลการรักษาและการดำเนินโรคคำแนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย เอส แอล อี


เอส แอล อี เป็นโรคที่จำเป็นต้องรักษาต่อเนื่อง และต้องการการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง ดังนี้
* รับประทานยาสม่ำเสมอ ตามแพทย์สั่ง เนื่องจากสาเหตุสำคัญของภาวะกำเริบของโรคอย่างหนึ่ง ได้แก่ การขาดยา
* ระวังอาการไม่สบาย หรือการติดเชื้อในร่างกาย ทั้งนี้เพราะการติดเชื้อในร่างกาย ไม่ว่าระบบใด ทำให้โรคกำเริบขึ้นได้นอกจากนี้ ยาสเตอรอยด์ยังมีผลทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ถ้าไม่รีบรักษา จะทำให้ความ

รุนแรงของการติดเชื้อมากกว่าคนธรรมดามาก
* หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอื่น ที่อาจทำให้โรคกำเริบ เช่น ยาบางชนิด, ความเครียด, การถูกแดด จึงไม่ควรตากแดดนาน, ไม่ซื้อยากินเอง, ทำจิตใจให้แจ่มใส
* ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบร่างกายต่าง ๆ จำเป็นต้องได้รับการรักษาโรคในระบบนั้น ๆ อย่างดี เช่น ไตอักเสบ, เม็ดเลือดแดงแตก, เกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น
* ผู้ป่วย SLE พบในผู้หญิงมากกว่าชาย ซึ่งจะมีปัญหาได้เมื่อตั้งครรภ์ จึงควรปรึกษาแพทย์ และอยู่ภายใต้การดูแลของสูติแพทย์ ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์

โรคไตในผู้ป่วยเอส แอล อี
 ความรู้โรคไตสำหรับประชาชน เรื่อง
โรคไตในผู้ป่วยเอส แอล อี( SLE : Systemic Lupus Erythematosus )


บทนำ
            โรคเอส แอล อี เป็นโรคที่พบบ่อยโรคหนึ่ง และมีความรุนแรงมากในบางระยะของโรค  พบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย  โดยร้อยละ 65 ของผู้ป่วยมีอายุในช่วง 16-55 ปี   ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคเอส แอล อี  แต่พบว่ามีภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติทำให้เกิดการอักเสบในเนื้อเยื่อระบบต่างๆของร่างกาย  ขบวนการอักเสบนี้ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ไข้ ปวดข้อ ผื่นผิวหนัง และทำให้อวัยวะต่างๆทำงานผิดปกติ   หากเป็นรุนแรงอาจทำให้การทำงานของอวัยวะล้มเหลว เช่น ไตวาย  หัวใจวาย เป็นต้น   ผู้ป่วยเอส แอล อี อาจมีความรุนแรงของโรคไม่มาก เช่นมีแค่อาการปวดข้อและผื่นที่หน้า  หรือมีอาการรุนแรงมากในระบบอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เช่น เกิดภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก  เลือดออกง่ายจากเกล็ดเลือดต่ำ  เหนื่อยหอบ-แน่นหน้าอกจากเนื้อเยื่อหัวใจอักเสบ  ชักจากสมองอักเสบหรือหลอดเลือดในสมองอุดตัน  และอาจเกิดอาการบวม ความดันโลหิตสูงจากการอักเสบที่ไต


            ไต เป็นอวัยวะสำคัญระบบหนึ่งที่เกิดความผิดปกติได้บ่อย  โดยประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยมีอาการของโรคไตหรือถูกตรวจพบว่ามีโรคไตร่วมด้วยตั้งแต่เริ่มวินิจฉัยได้ว่าเป็นเอส แอล อี  และพบอุบัติการของโรคไตเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 25 เมื่อติดตามผู้ป่วยต่อไป   สาเหตุของโรคไตอาจเกิดจากการอักเสบของเอส แอล อี  โรคแทรกซ้อนหรือผลของการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องของผู้ป่วย   โรคไตในระยะแรกมักไม่มีอาการ  แพทย์ต้องวินิจฉัยจากการตรวจปัสสาวะหรือเลือดของผู้ป่วย  ในบางกรณีต้องใช้การเจาะไต (kidney biopsy) และตรวจเนื้อเยื่อไต  เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง  การพิจารณาเลือกให้การรักษาที่เหมาะสมตามระยะและความรุนแรงของโรค  การรักษาในระยะแรกจะได้ผลดีกว่าเมื่อเป็นมากแล้ว  ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรร่วมมือในขบวนการตรวจวินิจฉัยต่างๆที่จำเป็นตามคำแนะนำของแพทย์


            การรักษาโรคเอส แอล อี และโรคไตต้องทำควบคู่กันไป  แพทย์จะปรับยาและวิธีการรักษาต่างๆ ตามสภาวะของผู้ป่วยแต่ละรายและผลการตอบสนองต่อการรักษานั้นๆ   ผู้ป่วยต้องรับประทานยาและปฎิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด  เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดและหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงต่างๆที่อาจเกิดขึ้น


ระหว่างการรักษา   แม้อาการของโรคสงบลง ผู้ป่วยยังต้องติดตามการรักษา-ดูแลจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพราะอาจมีการกำเริบของโรคได้   ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆที่อาจกระตุ้นการกำเริบของโรค เช่น แสงแดด  ยาคุมกำเนิด-ฮอร์โมนบางชนิด  ความตึงเครียด เป็นต้น   ผู้ป่วยที่เป็นหญิงจำเป็นต้องปรึกษาวางแผนครอบครัว-การคุมกำเนิดและช่วงเวลาการตั้งครรภ์ที่เหมาะสมกับแพทย์  เพราะการตั้งครรภ์ในขณะที่โรคเอส แอล อียังไม่สงบจะเกิดอันตรายรุนแรงต่อทั้งแม่และลูก   การป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่เหมาะสมนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง


            เมื่อการทำงานของไตบกพร่องจะเกิดภาวะไตวาย ซี่งมี 2 แบบคือ ไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง  ภาวะไตวายเฉียบพลันที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องในระยะแรก มักมีการทำงานของไตกลับคืนมาได้ดี  ผู้ป่วยที่มีไตวายเรื้อรัง  ควรได้รับการรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของไตด้วย เช่น การควบคุมระดับความดันโลหิตให้เหมาะสม  รับ-ประทานอาหารโปรตีนและฟอสเฟตต่ำ  บริโภคเกลือ สารโพแทสเซียมและน้ำในปริมาณที่เหมาะสม  การควบคุมอาหารของผู้ป่วยโรคไตควรอยู่ภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากโรคไตแต่ละชนิด และภาวะไตวายแต่ละระยะต้องการการควบคุมอาหารต่างกัน  หากปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องอาจเกิดอันตรายต่อร่างกาย เกิดความบกพร่องในการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ และอาจทำให้การทำงานของไตกลับเสื่อมลงเร็วกว่าเดิมก็ได้


            เมื่อไตวายถึงระยะสุดท้าย  ผู้ป่วยที่เหมาะสมสามารถรับการบำบัดทดแทนการทำงานของไต เช่น การล้างไตทางช่องท้อง  การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม  และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต   การปลูกถ่ายไตเป็นการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่มีไตวายระยะสุดท้าย ซึ่งได้ผลไม่ต่างจากการปลูกถ่ายไตในผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นเอส แอล อี


            กล่าวโดยสรุป  ผู้ป่วยโรคเอส แอล อี มีโรคไตร่วมด้วยบ่อย การวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะแรกของโรคและการรักษาที่ถูกต้อง การควบคุมอาหารและน้ำให้เหมาะสมตามสภาวะการทำงานของไต ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงผลแทรกซ้อนที่อันตราย และผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นได้เป็นอย่างมาก  ผู้ป่วยจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ  กำลังใจที่เข้มแข็งและความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อผลของการรักษา  ในผู้ป่วยเพศหญิงที่ต้องการมีบุตร ควรปรึกษาวางแผนครอบครัวให้ตั้งครรภ์ในช่วงที่เหมาะสม ผู้ป่วยที่มีไตวายระยะสุดท้าย อาจสามารถรับการบำบัดทดแทนกาทำงานของไต ได้แก่ การล้างไตทางช่องท้อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

Link  
https://www.doctor.or.th
https://www.nanovechshop.com
https://www.ra.mahidol.ac.th

อัพเดทล่าสุด