เจ็บหัวนม อาการเจ็บหัวนมเกิดจากอะไร สาเหตุการเจ็บหัวนม


145,728 ผู้ชม

อาการเจ็บเต้านม (Breast pain หรือ Breast tenderness หรือ Mastalgia หรือ Mastodynia) เป็นอาการพบบ่อยอาการหนึ่งของผู้หญิง ประมาณว่า 70% ของผู้หญิงอย่างน้อยในชีวิตต้องมีอาการนี้...


จ็บหัวนม อาการเจ็บหัวนมเกิดจากอะไร สาเหตุการเจ็บหัวนม

 


เจ็บเต้านม (Breast pain)

อาการเจ็บเต้านม (Breast pain หรือ Breast tenderness หรือ Mastalgia หรือ Mastodynia) เป็นอาการพบบ่อยอาการหนึ่งของผู้หญิง ประมาณว่า 70% ของผู้หญิงอย่างน้อยในชีวิตต้องมีอาการนี้ ทั้งนี้ อาการเจ็บเต้านมในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการเจ็บเต้านมในช่วงให้นมบุตรซึ่งเกิดจากการคั่งของน้ำนมที่เรียกว่า ภาวะนมคัด (Breast engorgement)

อาการเจ็บเต้านมมักพบในผู้หญิง แต่ในผู้ชายอาจมีอาการเจ็บเต้านมได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่าในผู้หญิงมากและมักไม่ก่อปัญหาให้ต้องมาพบแพทย์ โดยมักเกิดในช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีการเจริญเติบโตของเต้านม

ในบทความนี้ จะกล่าวถึงอาการเจ็บเต้านมเฉพาะในผู้หญิงเท่านั้น

อาการเจ็บเต้านมมีกี่ชนิด? แต่ละชนิดมีสาเหตุจากอะไร?

อาการเจ็บเต้านมแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อาการสัมพันธ์กับประจำเดือน (Cyclical breast pain) และกลุ่มที่อาการไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน (Non-cyclical breast pain)

  • กลุ่มอาการสัมพันธ์กับประจำเดือน (Cyclical breast pain) เกิดจากการเปลี่ยน แปลงสมดุลของฮอร์โมนเพศ เช่น ในช่วงตกไข่ (ช่วงกลางของรอบประจำเดือน) หรือ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน ซึ่งอาการเจ็บเต้านมจะหายไปเมื่อประจำเดือนมาแล้ว

    ทั้งนี้ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ จะเป็นผู้ป่วยอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ หรือ วัยยังมีประจำเดือน และมักเป็นต่อเนื่องตลอดระยะช่วงยังมีประจำเดือน เพียงแต่บางเดือนอาการมาก บางเดือนอาการน้อย โดยอาการจะเกิดกับเต้านมทั้งสองข้างพร้อมๆกัน แต่อาการเจ็บมากน้อยอาจต่างกันในแต่ละข้าง และมักเป็นการเจ็บทั่วทั้งเต้านม โดยอาจร้าวมายังรักแร้ได้ ยกเว้นบางคนอาจเจ็บเพียงจุดใดจุดหนึ่งของเต้านมได้

  • กลุ่มอาการไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน (Non-cyclical breast pain) เป็นอาการเจ็บเต้านมที่ไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน มักพบในวัยหมดประจำเดือน/วัยทอง โดยทั่วไปมักเกิดกับเต้านมเพียงข้างเดียว และมักเกิดเฉพาะจุดในเต้านม แต่ก็พบเกิดทั้งเต้านมได้ ทั้งนี้อาการเจ็บเต้านมซึ่งไม่สัมพันธ์กับประจำเดือนนี้ เกิดได้จากสาเหตุใหญ่ๆ 2 สาเหตุ คือ จากโรคของเต้านมเอง และจากโรคของผนังหน้าอก
    • จากโรคของเต้านมเอง เช่น
      • จากก้อนเนื้อเต้านมที่ไม่ใช่มะเร็ง
      • จากถุงน้ำในเต้านม
      • จากเต้านมอักเสบติดเชื้อ
      • จากเต้านมได้รับอุบัติเหตุ เช่น ถูกกระแทก
      • จากกินยาบางชนิด เช่น ยาฮอร์โมน หรือ ยาทางจิตเวชบางชนิด
      • โรคตับเรื้อรัง/โรคตับแข็ง
      • และการดื่มสุราเรื้อรังเพราะก่อให้เกิดสารบางชนิดที่ทำให้เกิดการเจ็บเต้านมได้
    • จากโรคของผนังหน้าอก เช่น จากปัญหาของกระดูก หรือ กล้ามเนื้อ หรือประ สาทผนังหน้าอก หรือ โรคติดเชื้อผิวหนัง ซึ่งก่ออาการเจ็บผนังหน้าอก แต่ผู้ป่วยคิดว่าเป็นการเจ็บเต้านม เช่น โรคของกระดูกคอ หรือ ข้อไหล่แล้วเจ็บร้าวลงผนังหน้าอก หรือ โรคงูสวัด

      อนึ่ง บางครั้งแพทย์หาสาเหตุของอาการเจ็บเต้านมไม่ได้ ซึ่งอาการเจ็บเต้านมจากไม่ทราบสาเหตุนี้ อาการมักหายได้เอง

      นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการร่วมอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นกับเต้านม ซึ่งจะเป็นไปตามสาเหตุของโรค เช่น มีไข้ และเต้านมบวม แดง ร้อน เมื่อเกิดจากเต้านมอักเสบติดเชื้อ มีน้ำเลือด หรือ น้ำเหลืองไหลจากเต้านม เมื่อเกิดจากมีก้อนเนื้อในท่อน้ำนม และ/หรือ การคลำได้ก้อนเนื้อผิด ปกติ เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุการเจ็บเต้านมได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุของการเจ็บเต้านมโดย อายุ เพราะเมื่อเกิดอาการในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 30 ปี แพทย์มักไม่นึกถึงโรคมะเร็ง ประวัติอาการ ประวัติอุบัติเหตุ ประวัติการเจ็บป่วย และการใช้ยาต่างๆ การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร การจดบันทึกอาการเจ็บเต้านมเพื่อดูความสัมพันธ์กับประจำเดือน การตรวจร่างกาย การตรวจคลำเต้านม และการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอายุ อาการของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพเต้านมด้วยเอกซเรย์แมมโมแกรม (mammogram) และ/หรือ อัลตราซาวด์เต้านม บางครั้งอาจเป็นการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา หรือ การเจาะ ดูดเซลล์เพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา เมื่อพบมีก้อนเนื้อ หรือ มีถุงน้ำในเต้านม

รักษาอาการเจ็บเต้านมอย่างไร?

แนวทางการรักษาอาการเจ็บเต้านม คือ

  • การอธิบายให้เข้าใจ เมื่ออาการสัมพันธ์กับประจำเดือน
  • การรักษาสาเหตุ เช่น ปรับเปลี่ยนยาเมื่ออาการเกิดจากยา การกินยาปรับสมดุลฮอร์โมน เมื่ออาการเกิดจากความผิดปกติในสมดุลของฮอร์โมน การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อเกิดจากการอัก เสบติดเชื้อแบคทีเรีย และ การผ่าตัดเมื่ออาการเกิดจากมีก้อนเนื้อ
  • การรักษาตามอาการ เช่น กินยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นต้น

อาการเจ็บเต้านมรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ความรุนแรงของอาการเจ็บเต้านม ขึ้นกับสาเหตุ แต่โดยทั่วไป ไม่รุนแรง และมักหายได้เอง โดยอาจกินยาแก้ปวดเพียงครั้งคราว

อาการเจ็บเต้านมเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมไหม?

อาการเจ็บเต้านม ไม่ใช่อาการสำคัญของโรคมะเร็งเต้านม อาการสำคัญของโรคมะเร็งเต้านม คือ การคลำพบก้อนเนื้อในเต้านมซึ่งบางครั้งอาจร่วมกับอาการเจ็บเต้านมได้ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษารายงานว่า มีผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มาพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บเต้านมเพียงอาการเดียวโดยตรวจคลำไม่พบก้อนเนื้อ เพียงประมาณ 5% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อมีอาการเจ็บเต้านม ได้แก่

  • แยกให้ได้ว่าเป็นการเจ็บเต้านมที่สัมพันธ์กับประจำเดือนหรือไม่ โดยการจดบันทึกอาการและการมีประจำเดือน
  • กินยาแก้ปวดพาราเซตามอล (Paracetamol)
  • สวมใส่ยกทรงที่พอเหมาะ สวมใส่ยกทรงเฉพาะใช้ในการเล่นกีฬาเมื่อออกกำลังกาย
  • ในบางคน การลดอาหารไขมัน ช็อกโกแลต หรือ กาแฟ หรือ กินวิตามิน อี เสริมอาหาร อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บเต้านมที่สัมพันธ์กับประจำเดือนได้
  • ควรพบแพทย์เมื่อ
    • อาการปวดไม่ดีขึ้นหลังกินยาแก้ปวด หรือหลังการดูแลตนเองด้วยวิธีต่างๆดังกล่าวแล้ว
    • มีอาการปวดต่อเนื่อง
    • อาการปวดเป็นๆหายๆ
    • เมื่อกังวลในอาการ
  • รีบพบแพทย์ภายใน 7 วัน เมื่อรีบพบแพทย์ภายใน 1-2 วันเมื่อ มีอาการของเต้านมติดเชื้อ ได้แก่ เต้านมบวม แดง ร้อน และ/หรือ ร่วมกับมีไข้
    • คลำก้อนเนื้อได้ในเต้านม
    • มีน้ำเลือด หรือ น้ำเหลือง หรือ สารคัดหลั่งผิดปกติจากหัวนม

ป้องกันการเจ็บเต้านมได้อย่างไร?

เมื่อดูจากสาเหตุแล้ว ยังไม่มีวิธีป้องกันอาการเจ็บเต้านม ยกเว้นการระมัดระวังอุบัติเหตุ และเมื่อเป็นคนมีเต้านมขนาดใหญ่ การใส่เสื้อยกทรงที่เหมาะสม โดยเฉพาะช่วงออกกำลังกาย อาจช่วยได้บ้าง

บรรณานุกรม

  1. Breast pain. https://www.sogc.org/health/health-breast_e.asp [2012, April 9].
  2. Marrow, M. (2000). The evaluation of common breast problems . Am Fam Physician. 61, 2371-2378.
  3. Mastodynia. https://en.wikipedia.org/wiki/Mastodynia [2012, April 9].
  4. Mastalgia. https://www.medscape.com/viewarticle/477670_2 [2012, April 9].
  5. Rosolowich, R. et al. (2006). Mastalgia. J Obstet Gynecol Can. 28, 49-71. [Abstract].
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์ พบ.
วว. รังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์

แหล่งที่มา : haamor.com

อัพเดทล่าสุด