ไขข้อข้องใจ คุณแม่ตั้งท้อง“ทำฟัน” ได้หรือไม่?


1,117 ผู้ชม


ไขข้อข้องใจ คุณแม่ตั้งครรภ์ “ทำฟัน” ได้หรือไม่?

ยังมีความสงสัย ความกังวลใจของคุณแม่ตั้งครรภ์ในเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากและการทำทันตกรรมในช่วงที่ตั้งครรภ์ช่วงที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงมีอาการต่างๆ มาเยือน ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง มาดูข้อมูลเรื่องนี้กันดีกว่า...

การทำฟัน ของคุณแม่ตั้งครรภ์

ช่วงตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนในร่างกายจะสูงขึ้นกว่าปกติส่งผลให้เกิดภาวะเหงือกอักเสบ บวมแดง เลือดออกง่าย เป็นที่สะสมของเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงควรได้รับการทำความสะอาดเหงือกและฟัน โดยการขูดหินปูนและขัดฟันจากทันตแพทย์เป็นระยะๆในระหว่างการตั้งครรภ์ เพื่อลดการเกิดเหงือกอักเสบและส่งเสริมให้มีสุขภาพของเหงือกและฟันที่ดี

ขณะเดียวกันหากหญิงตั้งครรภ์มีฟันผุซึ่งต้องได้รับการรักษาไม่ว่าจะเป็นการอุดฟัน รักษารากฟันหรือถอนฟันก็ควรได้รับการรักษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบดเคี้ยวอาหารและคุณภาพชีวิต

นอกจากการขูดหินปูนแล้ว ทำทันตกรรมอื่นๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ได้หรือไม่ ?

โดยปกติแล้วการทำฟันอื่นๆ เช่น อุดฟัน ถอนฟัน รักษารากฟันและทำฟันปลอมสามารถทำได้ ในช่วงที่เหมาะสมคือช่วงอายุครรภ์4-6 เดือน การรักษาทางทันตกรรมจะทำให้หญิงตั้งครรภ์สามารถบดเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพสร้างความมั่นใจทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

จะสูญเสียแคลเซียมจากการ ทำฟัน หรือไม่?

ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะแคลเซียมที่ร่างกายต้องการนั้นจะได้จากสารอาหารที่ได้รับเข้าไปไม่ใช่จากฟันถึงแม้ว่าร่างกายจะได้รับแคลเซียมจากสารอาหารไม่เพียงพอร่างกายจะนำแคลเซียมที่สะสมไว้ในกระดูกมาทดแทนดังนั้นการได้รับสารอาหารที่เพียงพอเหมาะสมจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ร่างกายรับแคลเซียมเพียงพอหรือคุณหมออาจพิจารณาให้แคลเซียมเสริมเพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายได้รับแคลเซียมเพียงพอเป็นรายๆ ไป

คำแนะนำ

1.แจ้งทันตแพทย์ให้ทราบว่าเรากำลังตั้งครรภ์อยู่

2.ควรกินอาหารให้ครบหลักโภชนาการ

3.แปรงฟันอย่างถูกวิธี ด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และควรใช้ไหมขัดฟันเพื่อความสะอาดซอกฟันร่วมด้วย

4.ควรเข้ารับการตรวจสอบสุขภาพช่องปากระหว่างตั้งครรภ์

5.การรักษาทันตกรรมอื่นๆ เช่น อุดฟัน รักษาเหงือก ถอนฟันรักษารากฟันใส่ฟัน จัดฟัน สามารถทำได้ในช่วงตั้งครรภ์ 4-6 เดือน เหมาะสมที่สุด

6.ควรผ่อนคลายในระหว่างการรักษาทางทันตกรรม

7.คุณแม่ที่มีสุขภาพช่องปากดี จะส่งผลต่อสุขภาพช่องปากของลูกด้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดย ทีมแพทย์ รพ.พระรามเก้า
จาก คอลัมน์ Ask an Expert –MOM นิตยสาร Mother&Care สำนักพิมพ์ TheGM Group

ที่มา: www.matichon.co.th/prachachat

อัพเดทล่าสุด