เริ่มระบาดแล้ว! โรคเฮอร์แปงไจน่า ตุ่มแผลในปากเด็ก


4,561 ผู้ชม


โรคเฮอร์แปงไจนา (Herpangina) เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กช่วง 3 – 10 ปี จัดเป็นโรคฮิตอีกโรคหนึ่งในช่วงฤดูร้อน ลักษณะจะคล้าย ๆ กับโรคมือ เท้า ปาก อาจจะสังเกตอาการของโรคนี้ลำบากสักหน่อยนะ


เริ่มระบาดแล้ว! โรค “เฮอร์แปงไจน่า” ตุ่มแผลในปากเด็ก

มีผู้ปกครองแจ้งว่า ช่วงนี้พบเด็กเป็นโรค เฮอร์แปงไจน่า หรือโรคตุ่มแผลในปากเด็กกันหลายคน ถึงขั้นอาจสั่งปิดโรงเรียนชั่วคราวก็มี เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายสู่เด็กคนอื่นๆ โรคนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร อาการเป็นอย่างไร วิธีรักษาและวิธีป้องกันอย่างไร Sanook! Health นำข้อมูลมาฝากให้ระวังบุตรหลานของท่านกันค่ะ

สาเหตุของ โรคเฮอร์แปงไจน่า ตุ่มแผลในปากเด็ก 

โรค “เฮอร์แปงไจน่า” (Herpangina) หรือโรคตุ่มแผลในปากเด็ก เป็นโรคในตระกูลเดียวกับโรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่กระจายสู่อากาศได้ ดังนั้นหากเด็กที่เป็นโรคเฮอร์แปงไจน่าไอ หรือจาม โดยไม่ปิดปาก เด็กๆ ที่อยู่รอบข้างก็อาจติดเชื้อได้ง่ายๆ เลยค่ะ

วัยเสี่ยงโรคเฮอร์แปงไจน่า

ส่วนใหญ่กลุ่มเด็กที่เสี่ยงโรคเฮอร์แปงไจน่า จะอยู่ราวๆ 3-10 ขวบ

อาการของโรคเฮอร์แปงไจน่า 

อาการคล้ายโรคมือ เท้า ปาก ดังนี้

- มีไข้สูงเฉียบพลัน

- เจ็บคอ คอแดง

- เริ่มมีแผลเหมือนร้อนใน หรือตุ่มแดงๆ ตุ่มน้ำเล็กๆ บริเวณเพดานปาก ลิ้นไก่ ด้านหลังของคอหอย หรืออาจลามมาที่บริเวณโคนลิ้น กระพุ้งแก้ม

- แต่โรคเฮอร์แปงไจน่าจะไม่พบผื่นที่อื่นนอกจากในปาก

วิธีรักษาผู้ป่วยโรคเฮอร์แปงไจน่า 

ถึงจะเป็นโรคที่ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็ยังไม่มียาที่สามารถกำจัดไวรัสชนิดนี้ได้โดยตรง วิธีรักษาจึงเป็นการดูแลผู้ป่วยตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ แก้ปวด หรือหยดยาชาภายปาก เพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในปาก เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยก็จะสามารถค่อยๆ ฟื้นตัวได้เอง

นอกจากนี้ควรทานอาหารอ่อนๆ เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย รสไม่จัด และดื่มน้ำสะอาดมากๆ เพื่อช่วยลดไข้ ลดอาการขาดน้ำ และย่อยอาหารได้ง่ายขึ้นค่ะ

วิธีป้องกันจากโรคเฮอร์แปงไจน่า

1. รักษาความสะอาดของลูกน้อย อย่าให้หยิบจับอาหารเข้าปาก หากยังไม่ได้ล้างมือให้สะอาด

2. ไม่ควรอยู่ใกล้ชิดเด็กๆ ที่กำลังป่วยเป็นโรคนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสติดเชื้อ

3. หากพบเด็กที่เป็นโรคนี้ ควรให้เขาพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน หรือให้เขาใช้ผ้าปิดปาก หรือสวมหน้ากากอนามัย เมื่อออกนอกบ้าน

4. รักษาสุขภาพของลูกน้อยให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อภูมิคุ้มกันในร่างกายจะได้ต่อสู้กับเจ้าเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เท่านี้ลูกน้อยของคุณก็รอดพ้นจากอันตรายของโรคเฮอร์แปงไจน่าได้แล้วล่ะค่ะ ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่หากมีอาการหนักมากกว่าปกติ อาจทำให้แพทย์รักษายากขึ้น ใช้เวลารักษาและฟื้นตัวยากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การเรียน และการใช้ชีวิตในสังคมของลูกน้อยในอนาคตได้

ขอบคุณเนื้อหาบางส่วนจาก momypedia.com, th.theasianparent.com

ภาพประกอบจาก diseasesforum.com และ istockphoto

อัพเดทล่าสุด