อุทาหรณ์! ปวดเอว อย่ามองข้ามความปลอดภัย
อาการปวดที่ “เอว” หรือ “บั้นเอว” ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ไม่อาจวางใจหรือนิ่งเฉยเลยผ่านปล่อยให้ผ่านไปให้หายเองได้ เนื่องเพราะส่งผลกระทบต่อการประกอบหน้าที่การงานโดยตรง จะเอี้ยวตัวไปทางซ้ายก็ร้องโอย จะเอี้ยวตัวไปทางขวาก็ลำบาก ต้องเดินตัวตรงๆ แข็งทื่อเหมือนหุ่นยนต์ เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนุกเลยใช่ไหมครับ
|
ในความเป็นจริงแล้ว ต้องบอกว่า กลุ่มที่มักประสบปัญหาปวดเอวไม่ใช่กลุ่มผู้สูงอายุ แต่มักพบในกลุ่มคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะใน “กลุ่มคนที่ใช้แรงกายในการทำงาน” ซึ่งถ้าปล่อยเอาไว้ไม่ดูแลให้ดีก็จะสร้างปัญหาและกลายเป็นโรคภัยไข้เจ็บติดตัวต่อไปในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งอาการปวดเอวก็เกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุได้เช่นกัน แต่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายเป็นประจำหรือไม่เคยทำงานหนัก แต่จับพลัดจับผลูไปใช้แรงจนเกิดอาการปวดเอวขึ้น ทั้งนี้ เมื่อเกิดปัญหาก็จะกระทบต่ออวัยวะต่างๆ ในหลายส่วน เช่น กล้ามเนื้อเอวเส้นเอ็น ข้อกระดูก เนื้อเยื่อต่างๆ และในที่สุดก็จะทำให้การเคลื่อนไหวของเอวเป็นไปด้วยความลำบาก ในทางการแพทย์จีน วินิจฉัยสมุฏฐานของอาการปวดเอวว่า เป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดปกติจนเกิดการบาดเจ็บ และนำไปสู่การทำให้ระบบเลือดลมมีปัญหาในที่สุด สำหรับอาการของโรคที่ปรากฏ จากประสบการณ์ในการรักษาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่า มีที่มาที่แตกต่างกันไป บางรายก็เกิดขึ้นโดยฉับพลันทันด่วนจนถึงขั้นยึดและกระดุกกระดิกไม่ได้ เกิดอาการเจ็บปวดรุนแรงมากที่เอวทั้งสองข้าง และอาการจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ จากที่เจ็บไม่มากในวันแรกๆ ก็จะเจ็บมากขึ้นในวันที่ 2 วันที่ 3 หรือวันถัดๆ ไป คนที่มีปัญหาเช่นนี้ ก็จะเกิดความลำบากในการดำรงชีวิตหลายอย่าง จะไอ จะพูดอะไรดังๆ ใช้เสียงดังๆ หรือใช้แรงที่ท้องก็จะทำให้ความเจ็บปวดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อด้านหลังเอว ขณะที่การนั่งการเดินก็ไม่เหมือนปกติ ไม่สามารถเดินได้อย่างอิสระ ต้องคอยประคองตัวเพื่อไม่ให้เกิดความเจ็บปวดมากขึ้น นอกจากนี้ บางรายอาจจะมีการบวม ซึ่งถ้าวิเคราะห์ลงลึกไปที่อวัยวะภายในก็จะพบว่า กระดูกเอวจะเกิดการบิดเบี้ยว ขณะเดียวกันก็จะมีผลทำให้กระดูกสันหลังผิดรูปไปบ้าง อย่างไรก็ตาม โชคยังดีที่อาการดังกล่าวโดยทั่วไปจะไม่ลามและเกิดผลกระทบต่อกล้ามเนื้อหรืออวัยวะที่อยู่ต่ำกว่าระดับล่างของบั้นเอว เช่นขา ฯลฯ แต่จะมีปัญหาเฉพาะจุดที่บั้นเอวเท่านั้น ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจและขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ การรักษาด้วยตัวเองเช่นรับประทานยาแก้ปวด หรือปล่อยทิ้งเอาไว้ ไม่สามารถรักษาอาการปวดให้หายได้เอง ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา สำหรับหลักใหญ่หรือหัวใจในการรักษาอาการปวดเอวด้วยศาสตร์ทุยหนาก็คือ การพยายามผ่อนคลายกล้ามเนื้อเพื่อให้เลือดลมไหลเวียนสะดวก และไม่ให้อวัยวะส่วนต่างๆ ยึดติดผิดธรรมชาติ ตั้งแต่ผิวหนังด้านนอกไปจนถึงกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกต่างๆ ที่อยู่ด้านใน หรือพูดง่ายๆ คือทำให้ทุกส่วนในร่างกายผ่อนคลาย รวมทั้งช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นนั่นเอง ส่วนวิธีการรักษามีทั้งหมด 8 ขั้นตอนด้วยกัน ซึ่งแต่ละขั้นตอนก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป โดยเริ่มตั้งแต่การนวดผ่อนคลายไล่เรื่อยไปจนถึงการรักษาความเจ็บปวดโดยตรง ขั้นตอนแรก ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำลง จากนั้นใช้สันมือกลิ้งไปมาบนจุดที่เจ็บปวดของผู้ป่วยคือกล้ามเนื้อเอวทั้งสองข้างเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและบรรเทาอาการเจ็บปวดเป็นเบื้องแรกโดยใช้เวลานวดประมาณ 5 นาที ขั้นตอนที่สอง ใช้มือทั้งสองข้างนวดลงบนจุดที่เจ็บปวด โดยเฉพาะจุดที่อยู่ด้านล่างของบั้นเอว โดยใช้เวลานวดประมาณ 8 นาที ขั้นตอนที่สาม ใช้หัวแม่มือทั้งสองข้างกดลงไปตรงบริเวณด้านล่างของบั้นเอว โดยกดลงตรงจุดที่เชื่อมระหว่างบั้นเอวและก้นกบ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2-3 จุด กดจุดละประมาณ 15-20 ครั้ง ขั้นตอนที่สี่ ใช้ฝ่ามือนวดตรงจุดด้านล่างของบั้นเอวที่ติดกับก้นกบในราว 3 นาที ขั้นตอนที่ห้า เปลี่ยนจากท่านอนคว่ำเป็นท่าคุกเข่าใช้นิ้วแม่มือกดลงไปบนจุดเฉินซาน ซึ่งอยู่บริเวณปลายกล้ามเนื้อน่องที่เชื่อมติดกับเอ็นร้อยหวาย ส่วนอีกมือหนึ่งก็ไปกดไว้ที่เอวของผู้ป่วย ทำสลับกันทั้งสองขา ขั้นตอนที่หก เป็นวิธีที่สำคัญมากเพราะจะช่วยในการรักษาได้เป็นอย่างดี โดยในขั้นตอนนี้ผู้ป่วยจะต้องนอนตะแคง เสร็จแล้วผู้ให้การรักษาจะใช้มือยกท่อนขาส่วนล่างขึ้นมา จากนั้นจะมีการบิดหรือดัดให้กล้ามเนื้อเอวกลับคืนสู่สภาพปกติ ขั้นตอนที่เจ็ด ใช้ฝ่ามือถูตรงเส้นลมปราณที่มีอยู่ 2 เส้น เส้นลมปราณเส้นแรกอยู่ตรงกลางกระดูกสันหลัง ส่วนเส้นที่สองมีอยู่ 2 จุดคือจุดที่อยู่ถัดตรงบริเวณร่องกระดูกสันหลังในจุดที่นูนขึ้นมาทั้งสองข้าง โดยก่อนจะถูจะมีการลงน้ำมันเพื่อป้องกันการเสียดสีที่เกิดขึ้นเพราะเป็นการถูที่ใช้แรงพอสมควร ขั้นตอนที่แปด ผู้ป่วยจะนั่งอยู่บนเตียงนวด เหยียดขาทั้งสองข้างตรงไปข้างหน้าแล้วใช้มือทั้งสองข้างไปแตะปลายขาเอาไว้ จากนั้นผู้ให้การรักษาก็จะกดตัวผู้ป่วยให้โน้มไปข้างหน้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เสร็จแล้วก็ปล่อยให้กลับมาที่เดิม ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ |