สายตาเอียง Astigmatism
สายตาเอียงเป็นภาวะความผิดปกติของสายตาอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุด สาเหตุเกิดจากการที่กระจกตา(ซึ่งโค้งเป็นรูปโดมด้านหน้าของตา)เปลี่ยนรูปทรงจากทรงกลมเช่นปกติไปเป็นรูปไข่คล้ายกับลูกรักบี้ ทำให้การหักเหของแสงไปสู่จอประสาทตาเบี่ยงเบนผิดไปจากปกติ การมองเห็นจึงพร่ามัว นอกจากสายตาเอียงแล้วคุณยังอาจมีปัญหาอื่นๆ ทางสายตาร่วมด้วย เช่น สายตาสั้นหรือสายตายาว
คนส่วนใหญ่จะมีภาวะสายตาเอียงไม่รุนแรงและมักจะไม่จำเป็นต้องรักษา แต่บางคนที่มีสายตาเอียงอย่างมากอาจมีอาการเหล่านี้
- มองเห็นภาพซ้อนหรือบิดเบี้ยว
- ปวดตึงลูกตา
- ปวดศีรษะ
สายตาเอียงมักจะเกิดจากความโค้งที่ผิดปกติเป็นรูปไข่ของกระจกตา บางครั้งก็เกิดจากความไม่สมดุลของแสงที่หักเหภายในเลนส์ตา นอกจากนี้ยังมีสาเหตุที่เป็นไปได้อื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- ไหมเย็บแผลจากการผ่าตัดตา อาจทำให้กระจกตาเกิดรอยย่นทำให้สายตาเอียง ซึ่งอาการนี้มักจะดีขึ้นเมื่อแผลหายและไหมเย็บแผลถูกกำจัดออกไป
- การทำศัลยกรรมตาอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นบนกระจกตา ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเดินแสงและการเปลี่ยนแปลงจุดรวมแสงที่จอประสาทตา
- กุ้งยิง (Chalazion) ซึ่งเป็นตุ่มที่เกิดจากต่อมที่ถูกปิดกั้นอยู่ด้านในของเปลือกตา สามารถสร้างแรงกดดันต่อกระจกตา จนมีการเปลี่ยนรูปทรงทำให้เกิดสายตาเอียงได้ ถ้ากุ้งยิงได้รับการรักษาหาย ภาวะสายตาเอียงก็จะดีขึ้นด้วย
- กระจกตาโป่ง (Keratoconus) คือ สภาวะที่โครงสร้างของกระจกตาเปลี่ยนแปลงจากรูปทรงปกติไปเป็นรูปกรวย
- การได้รับบาดเจ็บที่ตาอาจส่งผลต่อกระจกตา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของกระจกตา
การวินิจฉัยสายตาเอียงโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจวัดสายตา (Optometrist) จะมีการทดสอบดังต่อไปนี้
- การทดสอบความสามารถในการมองเห็น (Visual acuity test)
- การตรวจวัดความโค้งของกระจกตา (Keratometry)
- การตรวจวัดการหักเหของแสง (Refraction)
- การตรวจวิเคราะห์?สภาพผิวกระจกตา (Corneal topography) เพื่อให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับรูปทรงของกระจกตาซึ่งสามารถแสดงเป็นภาพสามมิติได้
แว่นตาและคอนแทคเลนส์
การสวมใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์สามารถแก้ไขสายตาเอียงของคุณได้
การใส่คอนแทคเลนส์แบบพิเศษเพื่อปรับเปลี่ยนความโค้งของกระจกตา (Orthokeratology) ซึ่งคุณต้องใส่เลนส์พิเศษนี้ในเวลากลางคืน เมื่อตื่นขึ้นมาในตอนเช้าและถอดเลนส์ออกแล้วกระจกตาจะปรับรูปทรงทำให้การมองเห็นดีขึ้น นั่นหมายความว่าคุณไม่จำเป็นต้องใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ในช่วงกลางวัน แต่เนื่องจากกระจกตามีความยืดหยุ่นดีมาก จึงมักจะกลับคืนรูปทรงตามธรรมชาติ ดังนั้นคุณจะต้องใส่เลนส์อย่างสม่ำเสมอทุกคืน
ศัลยกรรม
มีวิธีผ่าตัดที่สามารถรักษาสายตาเอียงได้หลายวิธี ส่วนใหญ่เป็นขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการปรับรูปทรงกระจกตาใหม่เพื่อให้การหักเหแสงที่จะไปรวมที่จอประสาทตามีความถูกต้อง ต่อไปนี้คือตัวอย่างของการผ่าตัด
- การผ่าตัดแก้ไขการหักเหของแสงด้วยแสงเลเซอร์ (Laser refractive surgery) เป็นการตัดขอบความโค้งของกระจกตา ทำให้กระจกตาเป็นทรงกลมแทนการเป็นรูปไข่
- การผ่าตัดกรีดกระจกตา (Radial keratotomy) ด้วยการกรีดกระจกตาเป็นรอยเล็กๆ หลายๆ รอย ทำให้กระจกตาแบนราบลง
- การปลูกถ่ายกระจกตา (Corneal transplantation) จากผู้บริจาคที่ยังมีกระจกตาดี
- การผ่าตัดแก้วตาเทียม (Toric intraocular lens implant) เพื่อปรับการหักเหแสงแทนเลนส์ธรรมชาติ
ที่มา: www.bupa.co.th