เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
นักวิจัยชาวสหรัฐฯ ชี้กล้ามเนื้อไม่ได้เกิดจากการออกกำลังทางร่างกายอย่างเดียวเท่านั้น แต่การทำงานของสมองก็ส่งผลต่อการสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงเช่นกัน
หนุ่ม ๆ หลายคนอาจคิดว่าการบริหารร่างกายและการกินอาหารให้เหมาะสม ก็สามารถสร้างกล้ามเนื้อได้แล้ว แต่คุณอาจยังไม่รู้ว่าการทำงานของสมองก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน เมื่อเว็บไซต์เมนส์ฟิตเนส เผยข้อมูลงานวิจัยของ Ohio University ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อไม่ได้เกิดจากการบริหารร่างกายเท่านั้น แต่รวมถึงการทำงานของสมองด้วย
โดยผลการวิจัยครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงใน Journal of Neurophysiology พบว่ามีกลุ่มตัวอย่าง 29 คน ถูกใส่เฝือกแขนข้างที่ไม่ถนัด ตั้งแต่ข้อศอกถึงนิ้วมือเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ซึ่งในระหว่างการทดลอง กลุ่มตัวอย่างครึ่งหนึ่งได้ออกกำลังกายทางจิตภาพ 5 วันต่อสัปดาห์ โดยให้พวกเขาจินตนาการว่าตัวเองสามารถขยับข้อมือที่ใส่เฝือกได้ ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งไม่ได้ทำเช่นนั้น ซึ่งผลการทดลองที่ได้คือ กลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่ม สูญเสียความแข็งแรงของแขนข้างที่เข้าเฝือกด้วยกันทั้งคู่ แต่กลุ่มคนที่ได้ออกกำลังกายทางจิตภาพจะอ่อนแอลงเพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้ออกกำลังในรูปแบบดังกล่าว ซึ่งมีมากถึง 45 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ทั้งนี้ปกติแล้ว คนส่วนใหญ่มักคิดว่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขึ้นอยู่กับขนาดเพียงอย่างเดียว แต่มันขึ้นอยู่กับความจำของกล้ามเนื้อด้วย ซึ่งศาสตราจารย์ ไบรอัน คลาร์ก กล่าวว่า ถ้าคุณหัดตีกอล์ฟครั้งแรก อาจตีไม่ถูก แต่เมื่อคุณทำซ้ำเป็นร้อยครั้ง คุณก็จะเรียนรู้วิธีตีลูกกอล์ฟที่ถูกต้องและแม่นยำขึ้น ทั้งนี้หากคุณไม่ได้ทำอะไรเป็นเวลานาน มันก็จะทำให้คุณลืมทักษะในนั้น ๆ ไปโดยปริยาย
เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ก็ลองใช้เวลาวันละไม่กี่นาทีกับการออกกำลังกายทางจิตภาพ ด้วยการนึกภาพตัวเองกำลังบริหารร่างกายและกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ทั้งแขน ขา หรือหน้าท้อง ไม่แน่ว่ากล้ามอาจจะขึ้นโดยที่คุณไม่รู้ตัวก็เป็นได้ครับ
แหล่งที่มา: men.kapook.com