ปัสสาวะบอกโรค


1,688 ผู้ชม



วันนี้เรามาสังเกตดูความสมบูรณ์ของสุขภาพกันดีกว่า  การรู้จักสังเกตดูสิ่งต่างๆที่เกี่ยวกับสุขภาพก็เพื่อจะช่วยตรวจสอบความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นกับร่างกายของเรา   หากเราพบความผิดปกติแต่เนิ่นๆก็จะช่วยให้เราทำการรักษาความผิดปกตินั้นๆได้ทันท่วงที  การสังเกตแบบง่ายๆก็คือการสังเกตความผิดปกติจากปัสสาวะของเราทั้งในเรื่องของสี กลิ่น ความขุ่น และจำนวน...

ปัสสาวะเป็นสิ่งที่ขับถ่ายออกมาจากร่างกาย โดยไตจะกรองเอาของเสียและสิ่งที่มากเกินพอออกจากเลือด และขับออกมาเป็นปัสสาวะ ถ้าไตไม่ทำงาน จะมีของเสียคั่งในเลือด ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน สะอึก หอบเหนื่อย บวม เป็นต้น....สรุปง่ายๆก็คือปัสสาวะคือของเสียที่จำเป็นต้องขับออกจากร่างกาย หากมันไม่ถูกขับออกมามันก็จะก่อให้เกิดพิษต่อร่างกาย กล่าวคือมันก็จะมีเชื้อโรคปะปนอยู่ในกระแสเลือดจนส่งผลเสียต่อร่างกาย...อาการที่สังเกตได้ง่ายๆคือตัวจะบวม เบื่ออาหารและมีอาการอ่อนเพลีย หลับได้ทั้งวันอย่างเห็นได้ชัด...
ปัสสาวะเป็นสิ่งที่ช่วยบ่งบอกโรคได้หลายชนิด เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคตับ โรคกระเพาะ ปัสสาวะอักเสบ โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
การสังเกตปัสสาวะของตนเอง โดยดูจาก จำนวน สี ความขุ่น และกลิ่นของปัสสาวะ ก็จะทำให้ทราบถึงความผิดปกติหลาย ๆ อย่างของร่างกายได้เช่น


จำนวนของปัสสาวะ
ผู้ใหญ่ที่แข็งแรงจำนวนครั้งของการปัสสาวะ ตอนกลางวันประมาณ ๔-๖ ครั้ง และอาจจะปัสสาวะกลางคืนหลังนอนหลับ ประมาณ ๐-๑ ครั้ง 
นอกจากจะดื่มน้ำมากหรือในเด็กเล็ก หรือคิดมาก นอนไม่หลับ อาจถ่ายปัสสาวะในเวลากลางคืนได้อีก

         อย่างไรก็ตาม ปริมาณปัสสาวะจำนวนครั้งของการปัสสาวะ ยังแปรเปลี่ยนตามจำนวนน้ำที่ดื่ม อุณหภูมิของอากาศภายนอก ปริมาณ เหงื่อที่ออก และอายุ

การถ่ายปัสสาวะบ่อยๆ อาจเป็นเพราะ ความวิตกกังวลซึ่งกระตุ้นให้อยากถ่ายปัสสาวะอยู่เรื่อย ๆ โดยไม่ได้เป็นโรคไต หรือโรคของทางเดินปัสสาวะก็ได้ 
ถ้าปัสสาวะบ่อยเป็นประจำกะปริบกะปรอย อาจเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเฉียบพลัน หรือเป็นโรคไตพิการเรื้อรัง
ปกติเด็กอายุ 1 ถึง 6 ขวบ จะถ่ายปัสสาวะวันหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามส่วนของหนึ่งลิตร (ประมาณ 1 แก้วครึ่ง) และไม่ควรมากกว่าหนึ่งลิตร
เด็กอายุ 6 ถึง 12 ขวบ ควรถ่ายปัสสาวะวันหนึ่งไม่น้อยกว่าครึ่งลิตรและไม่ควรเกินสองลิตร
ผู้ใหญ่ควรถ่ายปัสสาวะวันละเกือบลิตร และไม่ควรเกินสองลิตร
ถ้าถ่ายปัสสาวะน้อยไปส่วนใหญ่เกิดจาการดื่มน้ำน้อย หรือเกิดจากการเสียน้ำทางอื่นเช่น เหงื่อออกมาก ท้องเดินท้องร่วง อาเจียนมาก เป็นต้น ส่วนน้อยเกิดจากโรคไต โรคหัวใจ และอื่น ๆ 
ถ้าถ่ายปัสสาวะมากไปส่วนใหญ่มักเกิดจากาการดื่มน้ำมาก หรือพบในโรคเบาหวาน เบาจืด โรคเกี่ยวกับระบบประสาท โรคไตพิการเรื้อรังบางระยะ การกินยาขับปัสสาวะ เป็นต้น
บางครั้งพบว่าไม่มีปัสสาวะเลยหรือทั้งวันถ่ายปัสสาวะได้น้อยกว่า 1 ใน 10 ส่วนของลิตร (น้อยกว่า 1 ถ้วยแก้ว) ซึ่งอาจเกิดจากการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ, โรคเป็นพิษเนื่องจากปรอท, โรคไตอักเสบอย่างรุนแรง, ภาวะช็อค (เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่พอ) เป็นต้น

สำหรับอาการผิดปกติในการขับปัสสาวะ เช่น ปวดท้องน้อยในขณะถ่ายปัสสาวะ แสบที่ช่องถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะแล้วรู้สึกไม่สุดอยากจะถ่ายอีกทั้ง ๆที่ไม่มีปัสสาวะ ปัสสาวะขัด อาจมีการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

สีของปัสสาวะ
ปัสสาวะปกติมีสีเหลืองอ่อนเหมือนฟางข้าว ถ้าดื่มน้ำน้อย ปัสสาวะก็น้อยทำให้สีเข้มขึ้นถึงสีเหลืองอำพัน ถ้าดื่มน้ำมากปัสสาวะก็มากทำให้สีอ่อนลง จนเหมือนไม่มีสีได้ 
ถ้าปัสสาวะมีสีผิดปกติไปจากนี้ เช่น สีเหลืองอำพันแดง อาจเกิดจากสีของยูโรบิลิน ซึ่งเกิดจากการที่เม็ดเลือดแดงในเส้นเลือดแตกมากกว่าปกติ
สีเหลืองน้ำตาลหรือเหลืองเขียว มีฟองสีเดียวกับน้ำปัสสาวะ อาจเป็นสีของน้ำดี จะพบในภาวะดีซ่านของโรคตับหรือท่อน้ำดี
สีแดงหรือสีน้ำล้างเนื้อ อาจเป็นสีของเลือดซึ่งออกมาจากบาดแผลส่วนใดส่วนหนึ่งของทางเดินปัสสาวะ อาจเกิดจากนิ่วหรือเกิดจากการอักเสบหรืออาจปนเปื้อนมาจากปากช่องคลอดซึ่งเป็นรอบเดือนของผู้หญิงก็ได้
สีคล้ายน้ำนมอาจเป็นสีของหนอง ซึ่งเกิดจากการอักเสบของทางเดินปัสสาวะหรืออาจเป็นสีของไขมัน ซึ่งเกิดจากการที่ท่อน้ำเหลืองอุดตัน เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเท้าช้าง
อาหารและยาบางอย่างทำให้สีปัสสาวะเปลี่ยนไป แบบนี้ไม่เรียกว่าเป็นสีที่เป็นโรค เช่นกินมะละกอสุกจำนวนมาก หรือยาขับปัสสาวะบางอย่างจะทำให้ปัสสาวะเป็นสีเหลืองส้ม ยาที่มีส่วนผสมเมทิลีนบลู จะทำให้ปัสสาวะเป็นสีน้ำเงิน เมื่อผสมกับสีเหลืองของปัสสาวะอาจเพี้ยนไปเป็นสีเขียวได้ ยาบางอย่างทำให้ปัสสาวะเป็นสีแดงแต่ไม่ขุ่น หรือกินอาหารที่ผสมสีเช่น ไส้กรอก ขนมใส่สีบางอย่าง ทำให้ถ่ายปัสสาวะมีสีต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน

ความขุ่นของปัสสาวะ
ปัสสาวะที่ถ่ายใหม่ ๆจะใส ถ้าตั้งทิ้งไว้จะขุ่นได้ เนื่องจากปัสสาวะเป็นอาหารที่ดีสำหรับแบคทีเรีย แบคทีเรียจึงเจริญเติบโตขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นมากมายอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัสสาวะขุ่นได้
สาเหตุความขุ่นอีกอย่างหนึ่งคือแบคทีเรียจะเปลี่ยนยูเรียในปัสสาวะให้เป็นแอมโมเนีย แอมโมเนียจะทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นด่าง ด่างก็จะช่วยตกตะกอนของสารบางอย่าง เช่น พวกฟอสเฟท ยูเรท ทำให้ปัสสาวะขุ่นได้ เช่นเดียวกัน ถ้าปัสสาวะที่ถ่ายใหม่ขุ่น เช่น ขุ่นและมีสีแดง ปัสสาวะอาจมีเลือดปนปัสสาวะขุ่นคล้ายนมอาจเกิดจากหนองหรือไขมัน
บางครั้งความขุ่นของปัสสาวะเกิดจากอาหารและยา ซึ่งเป็นสาเหตุของการตกตะกอนของสารบางชนิดได้เช่นเดียวกัน เช่น ยาซัลฟา กินแล้วไม่ได้ดื่มน้ำมาก ๆ อาจจะตกตะกอนเป็นผงหรือผลึก ทำให้ปัสสาวะขุ่น ถ้าอาการปวดท้อง ปวดดื้อ จนถึงปวดรุนแรงเป็นพัก ๆ จนบิด ปัสสาวะน้อยและขุ่น จำทำให้นึกถึงโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
กลิ่นของปัสสาวะ
ปกติปัสสาวะเมื่อถ่ายออกมาสด ๆ จะมีกลิ่นหอมกำยาน และถ้าตั้งทิ้งไว้ค้างคืน จะมีกลิ่นแอมโมเนีย อาหารและยาทำให้กลิ่นปัสสาวะเปลี่ยนแปลงได้ เช่น สะตอ สตือ ทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นฉุน
 
กลิ่นปัสสาวะใหม่ ๆสด ๆ บางกลิ่นสามารถเดาได้ว่าเป็นปัสสาวะของโรคอะไร เช่น  กลิ่นน้ำนมแมวมักจะพบในปัสสาวะของคนที่เป็นเบาหวานที่เป็นมากและไม่ได้รักษา
กลิ่นเหม็นเน่าเกิดจากการติดเชื้อมักจะพบปัสสาวะขุ่นเป็นหนองด้วย
กลิ่นแอมโมเนียของปัสสาวะใหม่สด แสดงถึงการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น 

 ความผิดปกติของปัสสาวะในความหมายของแพทย์แผนจีน

          แพทย์แผนปัจจุบัน ขอกความผิดปกติของปัสสาวะมักเน้นหนักไปที่การดูส่วนประกอบในรายละเอียดทางเคมี และการตรวจพบสิ่งตรวจพบจากกล้องจุลทรรศน์ เช่น บอกภาวะของความต่างจำเพาะ ภาวะเป็นกรดด่าง การมีปริมาณกลูโคส โปรตีน ยูเรีย เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว เป็นต้น
         แพทย์แผนจีนไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ อาศัยการดูสี ดูปริมาณ ถามความถี่บ่อยของการปัสสาวะ ความรู้สึกในการถ่าย ดมกลิ่นของปัสสาวะ เพื่อบอกความผิดปกติ ไม่สามารถบอกรายละเอียดที้ชัดเจน
ความผิดปกติพิจารณา 5 ด้าน คือ
         1.  ปริมาณ
         2.  ความถี่ หรือจำนวนครั้งของการปัสสาวะ
         3.  สีของปัสสาวะ
         4.  ความรู้สึกผิดปกติขณะปัสสาวะ
         5.  กลิ่นปัสสาวะ

ความผิดปกติของปริมาณปัสสาวะ

       ปริมาณปัสสาวะมากเกินไปบ่งบอกถึง พลังของไต หรือหยางของไตพร่อง ทำให้การดึงกลับของน้ำลดลง
• ถ้าปัสสาวะมากและใส ร่วมกับมือ-เท้าเย็นกลัวหนาว บ่อบอกว่า ไตหยางพร่อง
• ถ้ากระหายน้ำ คอแห้งถึงจุก ปัสสาวะมาก บ่งบอกถึงโรคเซียวเข่อ (เบาหวาน) ที่มีผลต่อการทำงานของไต (เซี่ยเจียว) เป็นภาวะไตยินพร่อง
ปริมาณปัสสาวะน้อยไป บ่งบอกถึง
• ภาวะของร่างกายมีความร้อนภายในมาก
• ภาวการณ์สูญเสียสารน้ำในร่างกาย เช่น ท้องเสีย อาเจียน เหงื่อออกมาก
• ภาวะของอวัยวะภายใน ปอด ม้าม ไต อ่อนแอ พลังหยางของอวัยวะภายในเหล่านี้ไม่สามารถทำให้เกิดปัสสาวะได้ (ภาวะช็อกเนื่องจากขาดเลือดที่มาหล่อเลี้ยงไต)

ความผิดปกติของความถี่ในการปัสสาวะ
• ปัสสาวะเข้ม (เหลืองน้ำตาล) ร่วมกับอาการปวดเบ่ง ปวดบ่อยๆ บ่งบอก ภาวะร้อนชื้นของกระเพาะปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ)
• ปัสสาวะใส ปัสสาวะถี่ บ่งบอก พลังไตไม่พอขาดแรงพยุงดึงรั้งปัสสาวะ
• ปัสสาวะตอนกลางคืน ปริมาณมาก ใส บ่อย บ่งบอก ภาวะไตวายระยะท้าย หรือคนสูงอายุ (พลังไตอ่อนแอ) ไตทำหน้าที่ในการดึงกลับสารน้ำไม่ได้
• ปัสสาวะบ่อย ปริมาณน้อย ติดขัด บ่งบอกภาวะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจเกิดจากความร้อนชื้น เลือดอุดกั้น หรือคนสูอายุ (ต่อมลูกหมากโต) เนื่องจากพลังหยางของไตอ่อนแอ
ถ้าปัสสาวะผิดปกติจะเก็บไปตรวจทำอย่างไร
1.ก่อนที่จะเก็บปัสสาวะ ควรจะต้องทราบเสียก่อนว่า จะเก็บเพื่อตรวจหาอะไร เช่น ต้องการดูสีควรงดอาหารและยาที่ทำให้เกิดสีก่อนสักวันสองวัน เป็นต้น
2.ก่อนถ่ายปัสสาวะเพื่อเก็บตรวจ ควรล้างปากช่องอวัยวะที่จะถ่ายให้สะอาด หรือจะใช้สำลีชุบน้ำเช็ค ถ้าเป็นหญิงต้องเช็ดจากหน้าไปหลังเพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากช่องคลอดหรือทวารหนัก
3.ควรเก็บปัสสาวะครั้งแรกที่ตื่นนอนเช้า ก่อนกินอาหารหรือน้ำใด ๆ เพราะมีความเข้มข้นมากที่สุด
4.ควรเก็บปัสสาวะระยะกลาง ๆ ของการถ่ายมาดู ระยะนี้ปัสสาวะออกมาจากกระเพาะปัสสาวะ ส่วนระยะเริ่มแรกถ่ายกับตอนสุดท้ายที่ขมิบ ควรจะใช้ภาชนะแยกอีกใบหนึ่งหรือสองใบรองไว้ สังเกตการขุ่น ซึ่งอาจจะปนเปื้อนมาจากช่องคลอด ไม่ได้เกิดจากความขุ่นของปัสสาวะก็ได้
5.ควรส่งตรวจทันทีเมื่อถ่ายใหม่ ๆ ภายใน 3 ชั่วโมง

 เรามาหนีห่างจากโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะกัน

1.อย่ากลั้นปัสสาวะเมื่อเวลาปวด ถ้ากลั้นบ่อย ๆ จะทำให้เกิดการอักเสบในกระเพาะปัสสาวะและถ้ากลั้นต่อไปอาจทำให้เกิดการอักเสบถึงกรวยไตและในที่สุดถึงไตได้

2.การกินยาที่อาจเป็นพิษต่อไต ต้องรู้วิธีแก้ไข เช่น ยาซัลฟา ถ้ากินยานี้แล้วดื่มน้ำน้อยไป จะทำให้ยานี้ตกตะกอนในไต หรือในส่วนต่าง ๆ ของทางเดินปัสสาวะได้ เมื่อจะกินยาเหล่านี้ ต้องดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อละลายยาไม่ให้ตกตะกอน แต่ถ้าผู้ป่วยโรคไตที่มีปัสสาวะน้อยและห้ามดื่มน้ำมาก ก็ไม่ควรใช้ยานี้

 

3.หญิงที่ใช้กระดาษเช็ดเมื่อปัสสาวะเสร็จ อย่าเช็ดช่องถ่ายปัสสาวะด้วยกระดาษที่ไม่สะอาด และต้องเช็ดจากหน้าไปหลัง มิฉะนั้นอาจจะติดเชื้อแบคทีเรียจากช่องคลอดหรือทวารหนักได้

4.อย่ากินอาหารเค็มจัดเสมอ ๆ

5.พยายามทำความสะอาดบริเวณขับถ่ายปัสสาวะอยู่เสมอ (โดยใช้น้ำสะอาดทั่วไป) ถ้าปล่อยให้สกปรกแล้ว อาจมีเชื้อโรคเข้าไปทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และอาจลุกลามไปถึงไตได้.

14 วิธีขับถ่ายปัสสาวะเพื่อสุขภาพที่ดี

ไม่น่าเชื่อว่า แม้คนเราจะขับถ่ายปัสสาวะกันมาตั้งแต่แรกเกิด แต่หลายคนไม่ทราบวิธีที่ดีที่ทำให้ระบบขับถ่ายปัสสาวะเป็นปกติ วันนี้จะขอนำเสนอ 14 อุปนิสัยที่ดีในการขับถ่ายปัสสาวะ 
1.  อย่ากลั้นปัสสาวะ เมื่อรู้สึกปวดต้องไปปัสสาวะ  
    2.  เวลาปัสสาวะไม่ควรรีบร้อนเบ่งมาก เพราะอาจทำให้หูรูดปัสสาวะชำรุดได้  
    3.  ควรถ่ายปัสสาวะให้เหลือน้อยที่สุดในหนึ่งครั้ง นั่นคือเมื่อรู้สึกถ่ายหมดแล้วให้เบ่งต่ออีกนิดหน่อย ปัสสาวะที่เหลือจะไหลออกมา  
    4.  ไม่ควรบังคับให้ตนเองถ่ายปัสสาวะบ่อย เพราะจะติดเป็นนิสัย เวลาที่เหมาะสมคือ 2-4 ชั่วโมงควรถ่ายปัสสาวะหนึ่งครั้ง  
    5.  ให้สังเกตการถ่ายปัสสาวะ และน้ำปัสสาวะของตนเองทุกครั้งว่า ต้องเบ่งมากผิดปกติหรือไม่ น้ำปัสสาวะพุ่งดีหรือไม่ ลำน้ำปัสสาวะมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมหรือไม่ น้ำปัสสาวะมีสีเหลืองใสหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นอาการผิดปกติที่สามารถบอกโรคได้  
    6.  หากจะล้างทำความสะอาดหลังปัสสาวะ  อย่าให้บริเวณนั้นเปียกชื้น เพราะอาจเกิดเชื้อราได้ ทางที่ดีหลังปัสสาวะทุกครั้ง ควรซับให้แห้ง  
    7.  เมื่อปัสสาวะไม่ออก ต้องหาสาเหตุโดยการไปพบแพทย์ อย่าซื้อยาขับปัสสาวะมารับประทานเพราะจะเกิดอันตรายได้  
    8.  เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน การบริหารอุ้งเชิงกรานโดยการขมิบ (ฝ่ายหญิงขมิบช่องคลอด ฝ่ายชายขมิบทวารหนัก) วันละ 100 ครั้ง จะช่วยป้องกันอาการปัสสาวะเล็ด  
    9.  ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 10 แก้ว หรือหนึ่งลิตร จะช่วยให้น้ำปัสสาวะใส มีจำนวนพอดีและป้องกันภาวะปัสสาวะอักเสบ  
    10.  ก่อนมีเพศสัมพันธ์ และหลังมีเพศสัมพันธ์ คุณผู้หญิงควรถ่ายปัสสาวะทิ้ง จะช่วยป้องกันการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ  
    11.  น้ำปัสสาวะจะต้องเป็นน้ำเท่านั้น ถ้ามีมูก หนอง น้ำเหลือง เลือดปนออกมา ถือว่าผิดปกติต้องไปพบแพทย์  
    12.  การขับถ่ายปัสสาวะ ต้องขับถ่ายคล่องไม่มีอาการเจ็บปวด ถ้าปัสสาวะแสบขัดลำบากนับว่าเป็นอาการผิดปกติ ต้องไปพบแพทย์อีกเช่นกัน  
    13.  คนเราทุกคนต้องปัสสาวะทุกวัน วันละ 4-6 ครั้ง ถ้าไม่ปัสสาวะเลย 1วันถือว่าตกอยู่ในภาวะอันตรายต้องไปพบแพทย์โดยด่วน 
    14.  ก่อนเดินทางไกล  ก่อนยกของหนัก  ควรปัสสาวะทิ้งก่อนทุกครั้ง

แหล่งที่มา:  www.oknation.net

อัพเดทล่าสุด